กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

อาหารขึ้นรากินได้ไหม แล้วจะกินอย่างไร ให้ปลอดภัย

เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 26 ม.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
อาหารขึ้นรากินได้ไหม แล้วจะกินอย่างไร ให้ปลอดภัย

หลายคนต้องเผชิญหน้ากับอาหารขึ้นราครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งๆที่เพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน หากจะทิ้งก็ทำให้เสียดายของ แต่ถ้าจะนำส่วนที่เหลือมาใช้ก็ไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัยหรือไม่ กระทรวงการเกษตรของประเทศสหรัฐอเมริกา (USDA) ตระหนักถึงความความปลอดภัยของผู้บริโภคในส่วนนี้และได้ทำการเผยแพร่คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกรับประทานอาหารกลุ่มต่างๆที่ขึ้นราไว้ดังนี้

อาหารประเภทเนื้อสัตว์ขึ้นรา

1. เนื้อสดและเนื้อสัตว์แปรรูปจำพวกเบคอน แฮม ไส้กรอก และอื่นๆ

ประเภทนี้ควรทิ้งทันที  เนื่องจากความชื้นในเนื้อสัตว์จำพวกนี้ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี นอกจากเชื้อราที่มองเห็นได้แล้ว ยังมีเชื้อแบคทีเรียที่มองไม่เห็นแฝงอยู่ด้วย จึงไม่ปลอดภัยที่จะนำส่วนใดส่วนหนึ่งมารับประทานต่อ

2) เนื้อสัตว์ตากแห้งหรืออบแห้งชนิดที่ยังไม่ได้หั่นให้เป็นชื้นเล็กๆ

ประเภทนี้ยังสามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากอาหารกลุ่มนี้ไม่มีความชื้นเป็นตัวนำพาให้เชื้อรากระจายตัวเข้าสู่ด้านใน จึงมีเชื้อราอยู่แค่เพียงด้านนอก การขึ้นราจึงถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแค่ขูดเอาเชื้อราออกให้หมดก็สามารถนำมาประกอบอาหารต่อไปได้ อีกทั้งอาหารแห้งทั้งหลายยังถูกออกแบบมาเพื่อให้เก็บรักษาได้นานอยู่แล้ว 

3) เนื้อสัตว์ปรุงสุกแล้ว

เนื้อสัตว์ปรุงสุกที่ขึ้นรา ต้องทิ้งทันที เพราะเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงสุกแล้วมักมีการสัมผัสกับเกลือหรือน้ำตาลที่เป็นตัวดึงดูดเชื้อรา อีกทั้งความชื้นยังส่งเสริมให้เชื้อราเหล่านี้กระจายตัวตัวไปได้โดยรอบอาหาร

อาหารประเภทชีสขึ้นรา

1) ชีสก้อนชนิดแข็ง

ชีสก้อนชนิดแข็งขึ้นรายังสามารถใช้ต่อได้ เพราะเชื้อราไม่ได้แทรกตัวเข้าไปด้านในของอาหารกลุ่มนี้ หรือแทรกเข้าไปได้ไม่มาก เมื่อตัดชีสก้อนออกไปประมาณ 1 นิ้วจากจุดที่ขึ้นราก็จะสามารถนำมาประกอบอาหารต่อไปได้ และอย่าลืมห่อชีสด้วยกระดาษฟิล์มใสแผ่นใหม่

2) ชีสชนิดนุ่มและชีสที่ขูดแล้ว

ชีสชนิดนุ่ม หรือชีสที่ทำการขูดแล้วหากขึ้นรา ให้ทิ้งทันที เนื่องจากชีสชนิดนุ่มมีวามชื้นที่ช่วยให้เชื้อรากระจายตัวได้เป็นอย่างดี รวมถึงชีสที่ขูดแล้วก็มีช่องว่างให้เชื้อราและแบคทีเรียแทรกตัวผ่านไปยังชิ้นอื่นได้เป็นอย่างดี การนำส่วนใดส่วนนึงมาใช้ต่อจึงไม่ปลอดภัย 

อย่างไรก็ตาม ชีสชนิดนุ่มในกลุ่มของ Blue cheese มีการใช้เชื้อราเป็นส่วนประกอบในการผลิต จึงเป็นเรื่องธรรมดาหากพบว่าชีสในกลุ่มนี้มีราขึ้นที่ผิวภายนอกหรือแม้แต่ภายใน เพราะเชื้อราประเภทนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคแต่อย่างใด และสามารถกินได้

อาหารประเภทผักและผลไม้ขึ้นรา

1) ผักและผลไม้ชนิดแข็ง เช่น แครอท กระหล่ำปลี และพริกหยวก

ผลไม้ประเภทที่กล่าวมานี้ หากขึ้นราก็ยังคงนำมาใช้ได้ เพราะผัก ผลไม้ที่มีเนื้อแข็งหรือมีเปลือกแข็งทำให้เชื้อรากระจายตัวได้ไม่ดี จึงอาจมีเชื้อราขึ้นเป็นจุดๆ ที่ผิวชั้นนอกเท่านั้น เพียงแค่หั่นจุดที่ขึ้นราออกไป 1 นิ้วก็จะสามารถนำมารับประทานต่อได้

2) ผักและผลไม้ชนิดนุ่ม เช่น สตรอว์เบอรี่ พีช แตงกวา และมะเขือเทศ

ผักและผลไม้ดังที่กล่าวมานี้ หากขึ้นราแล้วไม่สามารถนำมาใช้ได้ อาหารกลุ่มนี้นอกจากจะมีเนื้อผิวที่อ่อนแล้วยังมีความชื้นสูง ทำให้เชื้อราและแบคทีเรียกระจายตัวไปโดยรอบและเข้าสู่ด้านในได้อย่างรวดเร็ว

อาหารประเภทแยมและเจลลี่ขึ้นรา

ควรทิ้งทันที เพราะมีความชื้นในอาหารสูง นอกจากนี้เชื้อราโดยทั่วไปสามารถผลิตสารพิษที่มีชื่อว่าไมโคท็อกซิน (Mycotoxin) และใช้ความชื้นในการแพร่กระจายตัวไปรอบๆ จึงไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่งหากผู้บริโภคจะตักแค่ส่วนที่ขึ้นราทิ้งไปและนำส่วนที่ยังเหลือมารับประทาน

อาหารประเภทโยเกิร์ตและครีมขึ้นรา

ควรทิ้งทันที ส่วนเหตุผลนั้นก็คล้ายกับอาหารประเภทอื่นที่มีความชื้นสูงที่เป็นตัวนำเชื้อรา อีกทั้งการแยกส่วนที่ขึ้นราออกจากส่วนที่เหลือของโยเกิร์ต นม หรือวิปครีม ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วย

อาหารประเภทขนมปังและเบเกอรี่ขึ้นรา

ควรทิ้งทันที ไม่ว่าจะเป็นขนมปังแถวก็ไม่ควรเก็บส่วนใดส่วนหนึ่งมารับประทานต่ออีก เพราะราจะดูดความชื้นได้เป็นอย่างดีทำให้บริเวณรอบๆ ขนมปังมีเชื้อราเกิดขึ้นได้ไวมาก หากทานไปแล้วอาจจะท้องเสีย ถ้ารามีจำนวนมากอาจทำให้ปวดท้อง หรือรุนแรงจนอาหารเป็นพิษ

อาหารประเภทธัญพืชและเส้นพาสต้าที่ปรุงสุกแล้ว

ควรทิ้งทันที ธัญพืชและเส้นพาสต้าที่ผ่านการปรุงสุกแล้วจะอมความชื้น เมื่อขึ้นราทำให้แบคทีเรียกระจายตัวไปทั่ว

อาหารประเภทเนยถั่วและถั่วชนิดต่างๆ

ควรทิ้งทันที เพราะส่วนใหญ่แล้วอาหารกลุ่มนี้จะไม่มีสารกันบูด ทำให้ขึ้นราง่าย และไม่ปลอดภัยที่จะนำบางส่วนกลับมารับประทานต่อ

ข้อควรระวังสำหรับอาหารขึ้นรา

นอกจากนี้กระทรวงการเกษตรของประเทศสหรัฐอเมริกายังแนะนำการกำจัดเชื้อราเหล่านี้ออกจากอาหารไว้ด้วย คือ...

  1. เมื่อเห็นว่าอาหารขึ้นรา ห้ามดมเด็ดขาด! เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางหายใจ
  2. การกำจัดอาหารขึ้นรานั้นควรนำใส่ถุงพลาสติกให้มิดชิดก่อนที่จะนำใส่ถังขยะ เพื่อป้องกันการกระจายตัวของเชื้อรา
  3. ทำความสะอาดให้รอบบริเวณที่อาหารขึ้นรา และตรวจสอบอาหารและสิ่งของใกล้เคียงให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อราตกค้าง

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
When it's OK to eat moldy food. Health.com. (https://www.health.com/food/eating-moldy-food-when-its-ok-when-its-not)
Is Moldy Food Dangerous? Not Always. Healthline. (https://www.healthline.com/nutrition/is-moldy-food-dangerous)
Is It Safe to Eat Moldy Bread?. Healthline. (https://www.healthline.com/nutrition/can-you-eat-bread-mold)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)