ทีมเภสัชกร HD
เขียนโดย
ทีมเภสัชกร HD

ยาคุมฉุกเฉิน คุมได้กี่วัน? ประสิทธิภาพการออกฤทธิ์นานแค่ไหน?

ไขคำตอบ ยาคุมฉุกเฉินคุมได้กี่วัน ถ้ากินแล้วมีเพศสัมพันธ์อีกในวันรุ่งขึ้น ยังจะมีประสิทธิภาพคุมกำเนิดอยู่หรือไม่?
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 1 ก.พ. 2021 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ยาคุมฉุกเฉิน คุมได้กี่วัน? ประสิทธิภาพการออกฤทธิ์นานแค่ไหน?

ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดที่วิธีใช้ค่อนข้างง่าย ไม่ซับซ้อน แต่หลายท่านอาจไม่ทราบว่าควรใช้ยานี้บ่อยแค่ไหน หรือมีข้อสงสัยว่าหากใช้ยานี้ขณะตั้งครรภ์ จะส่งผลให้แท้งได้หรือไม่

ยาคุมฉุกเฉินคืออะไร? 

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency contraceptive pills หรือ Morning-after pills) มีชื่อเรียกที่หลากหลายมากในภาษาไทย เช่น ยาคุมชั่วคราว ยาคุมเร่งด่วน

ใช้รับประทานหลังมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการท้องไม่พร้อม เช่น ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดแบบรายเดือน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่เต็มใจ ถุงยางอนามัยที่ใช้เกิดขาด หรือนับระยะปลอดภัยก่อน 7 หลัง 7 พลาด

กล่าวได้ว่า ยาคุมฉุกเฉิน เป็นตัวช่วยคุมกำเนิดในกรณีฉุกเฉิน เท่านั้น ไม่ควรนำยาคุมฉุกเฉินมาใช้คุมกำเนิดเป็นประจำ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพคุมกำเนิดลดลง

มีกระบวนการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคุมฉุกเฉิน และยาคุมกำเนิดแบบรายเดือนจะมีหลักการในการออกฤทธิ์ใกล้เคียงกัน 

โดยฮอร์โมนในยาคุมฉุกเฉินนี้มีหน้าที่หลักในการยับยั้งไม่ให้ไข่ตก และทำให้ผนังมดลูกไม่เหมาะสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน เพราะปกติแล้วตัวอสุจิสามารถอยู่ในทางเดินระบบสืบพันธุ์เพศหญิงได้นานสุด 5 วันหลังจากมีเพศสัมพันธ์ หากช่วงนี้มีการตกไข่ ก็จะมีโอกาสปฏิสนธิ

แต่กลไกป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อนนี้ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นหากรับประทานยาคุมฉุกเฉินเลยช่วงเวลาที่ปฏิสนธิ ก็มีโอกาสที่ตัวอ่อนจะฝังตัวไปแล้ว ทำให้ยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถช่วยคุมกำเนิดได้

ยาคุมฉุกเฉิน ทำให้แท้งได้ไหม?

ยาคุมฉุกเฉินไม่มีฤทธิ์ทำให้แท้ง แต่ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดที่ไม่ถึง 100% และผลข้างเคียงที่ค่อนข้างมากเพราะมีปริมาณฮอร์โมนสูง จึงควรใช้ยานี้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

ยาคุมฉุกเฉินคุมกำเนิดได้กี่วัน? 

หากพิจารณาจากค่าครึ่งชีวิตของยา จากกลไกการออกฤทธิ์ของยาที่จะยับยั้งการตกไข่เป็นหลัก หากมีเพศสัมพันธ์ซ้ำหลังจาก 24 ชั่วโมง จะต้องกินยาคุมฉุกเฉินซ้ำ ซึ่งการรับประทานยาคุมฉุกเฉินซ้ำอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงได้

กินยาคุมฉุกเฉินล่วงหน้า ป้องกันการท้องได้ไหม?

การรับประทานยาก่อนมีเพศสัมพันธ์เล็กน้อยก็มีประสิทธิภาพคุมกำเนิดได้ แต่เนื่องจากเป็นยาคุมฉุกเฉิน การรับประทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ จึงเป็นการที่ใช้ผิดวัตถุประสงค์

หากต้องใช้บ่อยๆ เกินเดือนละ 2 ครั้ง ควรรับประทานยาคุมแบบรายเดือน เนื่องจากหากรับประทานยาคุมฉุกเฉินมากเกินไป จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูกได้

หากใช้ยาคุมกำเนิดวันนี้แล้วมีเพศสัมพันธ์ซ้ำอีก ต้องใส่ถุงยางอนามัย ซึ่งสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ได้ด้วย หรือใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย เพื่อความปลอดภัย

หลังจากกินยาคุมฉุกเฉินครั้งล่าสุด จะกินอีกครั้งได้เมื่อไร?

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน สามารถรับประทานได้ทันทีเมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้วไม่ได้ป้องกัน แต่ในหนึ่งเดือนไม่ควรกินเกิน 2 ครั้ง เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูกอย่างที่บอกไปแล้ว

 หากใช้เกิน 2 ครั้งในเดือนนั้น จะต้องรอประจำเดือนมาก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์ จึงจะสามารถรับประทานยาคุมกำเนิดได้

สิ่งสำคัญที่จะทำให้ยาได้ผลและปลอดภัยคือการใช้อย่างถูกวิธี และอย่าลืมว่า ยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และไม่สามารถใช้ทำแท้งได้

หากผู้ใช้มียาหรือโรคประจำตัวก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ข้อเท็จจริงเรื่องยาคุมฉุกเฉิน, มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง(สคส),(http://www.whaf.or.th/files/2019/ข้อเท็จจริงเรื่องยาคุมฉุกเฉิน.pdf), 2 กันยายน 2550.
ความรู้ทั่วไปเรื่องยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน, รศ.ดร.ภญ.นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์,(https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/419/ยาคุมฉุกเฉิน/),18 กุมภาพันธ์ 2561.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป