ใครที่มีอาการปวดในช่องหูอย่างรุนแรง หรือบางครั้งมีของเหลวแปลกๆ ไหลออกมาจากหู รู้หรือไม่ว่านั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคช่องหูอักเสบก็ได้! ... หูของเราแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และ หูชั้นใน ซึ่งการอักเสบนั้นสามารถเกิดได้กับหูทั้งสามส่วน โดยอาการและความรุนแรงก็อาจแตกต่างกันออกไป
หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis externa)
เป็นโรคที่พบได้บ่อย มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา น้ำเข้าหู หรือการแคะหูจนเกิดแผล ซึ่งการอักเสบมักเกิดขึ้นเฉพาะจุด แต่หากไม่รักษาการอักเสบอาจลุกลามไปที่หูชั้นกลางได้ อาการของหูชั้นนอกอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- ปวดหู คัน ระคายเคืองหูส่วนนอก
- ผิวหนังรอบใบหูและหูส่วนนอกบวม แดง มีแผลหรือหนอง
- มีของเหลวไหลออกมาจากหู ซึ่งมักเป็นเลือดปนหนอง และมีกลิ่นเหม็น
- อาจมีอาการหูอื้อ หรือได้ยินลดลงด้วย
- อาจพบต่อมน้ำเหลืองที่หน้าและหลังหูโตได้
การรักษาหูชั้นนอกอักเสบ
- ให้ทำความสะอาดใบหูและรูหูด้วยก้านพันสำลี โดยการเช็ดเบาๆ
- หากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ทานยาปฏิชีวนะ 1-2 สัปดาห์
- หากมีการอักเสบมาก แพทย์จะใช้ผ้าก๊อซชุบยาสเตียรอยด์ใส่ไว้ในหู 24 ชั่วโมง หรือให้ยาหยอดหูเพื่อลดการอักเสบ
- สามารถทานยาแก้ปวดได้ เช่น พาราเซตามอล
- แพทย์จะใช้เครื่องมือทำการดูดหนองและของเหลวออกจากหู
หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media)
สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด หรือการอักเสบที่หูชั้นนอก และเกิดการติดเชื้อลุกลามมาที่หูชั้นกลาง โรคนี้พบได้ทุกวัย โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-12 ปี อาการที่เด่นชัด ได้แก่
- ปวดในหู และมีของเหลวไหลออกมาจากรูหู
- มีไข้สูง ปวดวิงเวียนศีรษะ
- มีปัญหาเรื่องการได้ยิน เนื่องจากมีของเหลวคั่งบริเวณหลังแก้วหู ผู้ป่วยจึงมักรู้สึกแน่นในหู และบางครั้งได้ยินเสียงวิ้งๆ รบกวนด้วย
โรคหูชั้นกลางอักเสบมักมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น แก้วหูฉีกขาด สูญเสียการได้ยิน และการอักเสบอาจลุกลามไปยังหูชั้นในจนไปถึงสมองได้
การรักษาหูชั้นกลางอักเสบ
- ทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล เพื่อลดอาการปวดหูและปวดศีรษะ
- ใช้การประคบร้อนที่กกหู เพื่อลดอาการปวดหู
- หากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ต้องทานยาปฏิชีวนะตามคำสั่งแพทย์
- ระบายของเหลวที่คั่งในหู โดยแพทย์อาจใช้เครื่องดูด หรือผ่าตัดเจาะแก้วหูแล้วสอดท่อให้ของเหลวไหลออกมา
หูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis)
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่หูชั้นในและเส้นประสาทที่เชื่อมไปยังสมอง ซึ่งเชื้อดังกล่าวมักลุกลามมาจากทางเดินหายใจหรือการอักเสบในหูชั้นกลาง อาการที่พบ ได้แก่
- ปวดหูและปวดศีรษะรุนแรง
- รู้สึกวิงเวียนศีรษะ ทรงตัวไม่อยู่ โคลงเคลง หรือรู้สึกคล้ายบ้านหมุน
- คลื่นไส้ อาเจียน
- หูอื้อ หรือได้ยินเสียงรบกวนในหู
- การได้ยินลดลง จนถึงขั้นสูญเสียการได้ยินในหูข้างที่อักเสบ
- บางครั้งอาจมีปัญหาด้านสายตาด้วย เช่น ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด
การรักษาหูชั้นในอักเสบ
- การดูแลตัวเอง ทำได้โดยพักทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวเร็วๆ และอยู่นิ่งๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงการมองวัตถุที่มีแสงจ้าด้วย
- ทานยาต้านไวรัส หรือยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำของแพทย์
- หากมีการอักเสบรุนแรง อาจต้องใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ
- หากมีอาการวิงเวียนและทรงตัวไม่อยู่ แพทย์มักให้ยาบรรเทาอาการวิงเวียน ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน และยา antihistamines
- ถ้ามีการอาเจียนหลายครั้ง อาจต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดเพื่อชดเชยสารน้ำในร่างกายด้วย
การป้องกันโรคช่องหูอักเสบ
- ไม่ควรแคะหูอย่างรุนแรง ด้วยวัตถุที่แข็งและแหลม เพราะอาจทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคได้ การทำความสะอาดหูควรใช้ก้านพันสำลีเช็ดเบาๆ เท่านั้น
- หากป่วยเป็นโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด ควรรีบรักษาให้หาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อลุกลามไปยังช่องหู
- หากมีน้ำเข้าหูและไม่สามารถเอาออกได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อดูดออก ไม่ควรพยายามแคะหรือซื้อยามาหยอดหูเอง
- หลีกเลี่ยงการลงว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่สกปรก