โรคที่เกิดจากการขาดโภชนาการ และพบบ่อยในประเทศไทย

ภาวะทุพโภชนาการ เกิดจากร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ และสามารถทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้มากมาย
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
โรคที่เกิดจากการขาดโภชนาการ และพบบ่อยในประเทศไทย

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคที่เกิดจากการขาดโภชนาการ หรือเรียกอีกชื่อว่า ภาวะทุพโภชนาการ เกิดจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • โรคที่เกิดจากการขาดวิตามิน เช่น โรคเกี่ยวกับระบบการมองเห็นจากการขาดวิตามินเอ โรคเหน็บชาจากการขาดวิตามินบี 1 หรือโรคปากนกกระจอกจากการขาดวิตามินบี 2
  • โรคที่เกิดจากภาวะทุพโภชานาการอื่นๆ เช่น โรคคอพอกจากการขาดไอโอดีน โรคโลหิตจากกการขาดธาตุเหล็ก หรือโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวจากการขาดธาตุฟอสฟอรัส
  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลากหลาย โดยเน้นการรับประทานผัก ผลไม้ โปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น ไข่ นม และไขมันดีจากธัญพืช จะช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคที่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

การขาดสารอาหารบางประเภททำให้ร่างกายเกิดการเจ็บป่วยได้ รวมถึงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนบางอย่างที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาระยะยาว หรือมีผลต่อเด็กเล็ก ทารกในครรภ์ที่จะมีร่างกายไม่แข็งแรงหลังจากคลอดออกมา 

ดังนั้นการรับประทานอาหารให้ได้สารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุที่ครบถ้วนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อร่างกาย 

วันนี้ เรามาดูกันว่าโรคที่เกิดจากการขาดโภชนาการ หรือเรียกอีกชื่อว่า "ทุพโภชนาการ" (Malnutrition) ที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ครบถ้วนของคนไทย มีอะไรกันบ้าง

1. โรคที่เกิดจากการขาดวิตามิน

1.1 โรคเกี่ยวกับระบบการมองเห็นจากการขาดวิตามินเอ

มักพบเป็นเด็กที่ขาดโปรตีนและแคลอรี่มาก เนื่องจากวิตามินเอต้องใช้โปรตีนเป็นตัวนำพาไปยังอวัยวะต่างๆ โดยวิตามินเอเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ถ้าบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำมากๆ ก็อาจเกิดการขาดวิตามินเอได้ 

ซึ่งอาการในระยะแรกคือ การปรับตามองในที่มืดได้ช้ากว่าปกติ จากนั้นเยื่อบุตาขาวจะเสีย แล้วลามไปถึงตาดำจนอาจทำให้แก้วตาทะลุ และตาบอดได้ในที่สุด 

อาหารที่จะช่วยเสริมวิตามินเอสูงในร่างกายได้ ได้แก่ ไข่แดง ตับ  พืชผักสีเหลือง เช่น ฟักทอง มะละกอสุก มะม่วงสุก พืชผักใบเขียว เช่น ผักบุ้ง ผักตำลึง 

1.2 โรคเหน็บชาจากการขาดวิตามินบี 1

มักพบในกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารต่อไปนี้

  • คนที่รับประทานข้าวที่สีขัดจนขาว 
  • คนที่งดอาหารเนื้อสัตว์ เช่น สตรีหลังคลอดตามชนบทที่ยึดถือประเพณีอยู่ไฟ ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงทารกที่รับประทานนมแม่ด้วย เพราะทารกจะมีอาการบวม หายใจหอบ และอาจถึงขั้นหัวใจวายได้ ส่วนอาการในผู้ใหญ่นั้น มักมีอาการมือเท้าชา อ่อนแรง และอาจหัวใจวายได้ด้วยเช่นกัน
  • กลุ่มคนที่ชอบรับประทานอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 เช่น ปลาร้าดิบ หมากพลู น้ำชา ใบเมี่ยง เป็นต้น

ส่วนกลุ่มคนที่ภาวะร่างกายต้องการวิตามินบี 1 เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ 

  • คนทำงานหนัก ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่ต้องออกแรงมากๆ เท่านั้น แต่รวมถึงพนักงานออฟฟิศที่ต้องใช้สมองคิดงาน ต้องอยู่กับความเครียดและอดนอนอยู่บ่อยๆ 
  • ภาวะไข้ 
  • โรคติดเชื้อ
  • ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
  • ผู้ป่วยเป็นโรคตับแข็ง
  • คนที่ดื่มสุราเรื้อรัง

สำหรับวิธีแก้ไขป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดวิตามินบี 1 ทำสามารถทำได้โดย 

  • ให้หุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำ เพราะจะทำให้สูญเสียวิตามินบี 1 ไปเพียง 50% เทียบกับถ้าหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ จะสูญเสียวิตามินบี 1 ไปถึง 85%
  • ใช้ข้าวซ้อมมือ 
  • ทำปลาร้าให้สุกก่อนรับประทาน
  • เลิกดื่มสุรา 
  • รับประทานอาหารประเภทเมี่ยงและชาให้น้อยลง 
  • เพิ่มการรับประทานอาหารพวกที่มีวิตามินบี 1 เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ถั่วเหลือง

1.3 โรคปากนกกระจอกจากการขาดวิตามินบี 2

อาการของโรคคือ เป็นแผลที่มุมปากทั้ง 2 ข้าง ริมฝีปากเจ่อบวมและแตกเป็นรอย ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่จะทำให้รับประทานอาหารยากลำบากขึ้น เป็นผลให้ขาดสารอาหารอื่นๆ ตามมาอีก 

โรคนี้มักพบในเด็กนักเรียนตามชนบทช่วงปลายฤดูแล้ง เนื่องจากขาดการรับประทานผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักโขม ผักกาดเขียว ส่วนเนื้อสัตว์และนมที่มีวิตามินบี 2 อยู่มาก เด็กกลุ่มนี้มักจะได้รับประทานน้อยอยู่แล้ว

2. โรคคอพอกจากการขาดไอโอดีน

ปัจจุบันนี้พบน้อยลง เพราะมีการเติมไอโอดีนในเกลือที่ส่งไปขายตามชนบท โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งมีเกลืออนามัยขององค์การเภสัชกรรมด้วย 

สำหรับอาการของโรคคือ ต่อมไทรอยด์ที่คอจะโต ถ้าโตมากจะกดทับหลอดลมทำให้หายใจไม่สะดวก และถ้าเกิดในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ทารกที่คลอดออกมาอาจมีลักษณะปัญญาอ่อน เป็นใบ้และหูหนวก

3. โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

พบในสตรีวัยเจริญพันธุ์ เพราะต้องเสียเลือดเป็นประจำทุกเดือน นอกจากนี้ยังพบในสตรีระยะตั้งครรภ์และระยะสร้างน้ำนม และยังพบในทารกกับเด็กก่อนวัยเรียนเนื่องจากรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ร่วมกับการมีโรคพยาธิปากขอ ทำให้เสียเลือดเป็นประจำ 

วิธีลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโลหิตจางคือ รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเป็นจำนวนมาก เช่น ตับ เลือด ผักเขียวเข้ม และอาจเพิ่มธาตุเหล็กในอาหารที่บริโภคเป็นประจำวัน เช่น มีการเพิ่มธาตุเหล็กเข้าในน้ำปลา 

หรืออาจใช้ในรูปของยา ซึ่งธาตุเหล็กในรูปของยาอาจทำให้เกิดอันตรายได้หากรับประทานมากเกินไป โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคอีสาน ที่มีประชากรส่วนหนึ่งเป็นโรคโลหิตจางจากโรคทางกรรมพันธุ์ เช่น โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) 

ทางที่ดี หากต้องการรับประทานธาตุเหล็กเสริมในรูปของยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้มีการจ่ายยาอย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัย

4. โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

โรคนี้เป็นผลมาจากการขาดธาตุฟอสฟอรัสซึ่งเป็นส่วนประกอบที่อยู่ในโปรตีน พบมากในเด็กวัยก่อนเรียนทางภาคเหนือและภาคอีสาน โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย รวมทั้งผักพื้นบ้านหลายชนิด ซึ่งมีสารออกซาเลต (Oxalate) อยู่เป็นจำนวนมาก โดยสารนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ 

ภาวะที่มีฟอสฟอรัสไม่เพียงพอจะไม่สามารถป้องกันการจับตัวเป็นผลึกของสารออกซาเลตในไตได้ จึงทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายขึ้น

ภาวะทุพโภชนาการ เกิดจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลากหลาย โดยเน้นการรับประทานผัก ผลไม้ โปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น ไข่ นม และไขมันดีจากธัญพืช จะช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากภาวะนี้

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Malnutrition: Definition, Symptoms and Treatment. Healthline. (https://www.healthline.com/nutrition/malnutrition)
Malnutrition: Symptoms, causes, diagnosis, and treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/179316)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)