ความหมาย
เป็นโรคที่เกิดจากกลุ่มของเซลล์เล็กๆ ในสมองทำงานผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการสั่น (Tremors) เกร็ง (Rigidity) เคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia or hypokinesia) และสูญเสียการทรงตัว (Postural instability) อาการดังกล่าว เรียกว่า กลุ่มอาการพาร์กินโซนิซึม (Parkinsonism)
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าอาจเกิดจากตุ่มประสาทในเนื้อสมอง ที่มีชื่อว่า ซับสแตนเชียลไนกรา (Substantial nigra) ซึ่งอยู่เหนือบริเวณตำแหน่งเชื่อมติดกับแกนของกระดูกสันหลัง เป็นกลุ่มเซลล์ที่มีองค์ประกอบของสารเคมีสื่อกลาง โดปามีน (Dopamine) เซลล์ที่จะปล่อยสารโดปามีนเข้าสู่เนื้อสมอง คอร์ปัสสเตรียตัม ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเซลล์จะปล่อยสารโดปามีนน้อยลง ทำให้การเคลื่อนไหวเชื่องช้า มีอาการยึดเกร็งของกล้ามเนื้อแขนขา มีอาการมือเท้าสั่น หรืออาจเกิดจากปัจจัยทางงสิ่งแวดล้อม มลภาวะหรือปัจจัยหลายอย่างรวมกัน เช่น พันธุกรรม หลอดเลือดแดงแข็ง มีการสะสมของที่เป็นอนุมูลอิสระของออกซิเจน สารพิษ อายุ (มักพบในผู้สูงอายุ) ระดับของเอสโตรเจนที่ต่ำลง การขาดกรดโฟลิก เป็นต้น
พยาธิสรีรภาพ
สมองจะมีสีจางลงเนื่องจากเซลล์ประสาทใน Substantial nigra, Brain stem มีการเสื่อมหน้าที่ในการเก็บสารเมลานินและยังทำให้สารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) มีปริมาณลดลงเนื่องจากมีการทำลายสีที่เซลล์ประสาทใน Substantial nigra ตำแหน่ง Besal ganglia ของสมอง จึงเกิดความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท ส่งผลต่อการควบคุมวิถีประสาทสั่งงาน (Motor pathway) ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว และจะตรวจพบ Lewy bodies ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีรูปร่างกลมย้อมติดสีแดงสามารถบอกถึงความเสื่อมสลายของเซลล์ที่พบในโรคพาร์กินสัน อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส มีอุบัติเหตุที่ศีรษะ มีการใช้ยารักษาโรคจิต โรคนี้จะมีผลกระทบกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีพบร้อยละ 1 และอายุมากกว่า 85 ปีพบร้อยละ 2
อาการ
อาการจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และเรื้อรัง อาการที่สำคัญ คือ สั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวช้า อาการสั่นจะมีลักษณะเฉพาะ คือ มีอาการสั่นขณะพัก (Resting tremor) สั่นเป็นจังหวะๆ ไม่สามารถควบคุมได้ พบบ่อยที่มือและแขน โดยเริ่มด้วยมือสั่นข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง จะเกิดขึ้นในขณะพักผ่อนและจะค่อยๆ ลดลงหรือหายไปเมื่อแขนมีการเคลื่อนไหว อาการจะหายไปขณะนอนหลับหรือพักในที่สงบๆ อาการจะเกิดขึ้นเป็นพักๆ และเป็นมากขึ้นเวลาเครียด แต่จะลดลงขณะที่พยายามจะเคลื่อนไหว ผู้ป่วยจะมีลักษณะกล้ามเนื้อแขนขา ลำคอ แผ่นหลังและไหล่แข็งเกร็งอย่างชัดเจน เดินแบบกระตุกๆ ปวดเมื่อย เป็นเหน็บและปวดตามร่างกาย อาจมีอาการปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก เดินผิดปกติ สูญเสียการทรงตัว อาจโค้งโก่งงอของลำคอและลำตัว สูญเสียภาวะสมดุลของร่างกาย ผู้ป่วยมักรู้สึกว่าต้องใช้ความพยายามมากกับการเดินแต่ละก้าว และมักเป็นก้าวที่มีช่วงสั้นๆ เดินไม่มั่นคงและทำท่าเหมือนสะดุดบ่อยๆ หรืออาจหกล้ม มีใบหน้าเฉยเมย ไม่แสดงความรู้สึกใดๆ ดวงตาอาจเหม่อลอย หากเป็นมากจะมีน้ำลายไหลย้อยออกจากปาก เสียงพูดจะเบามากฟังไม่รู้เรื่อง อาจแหบห้าว หรือมีอาการหน้ามืดเวลาเปลี่ยนท่า มักรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะบ่อย แต่ถ่ายออกน้อยและบางครั้งก็กลั่นไม่อยู่ มีอาการท้องผูก หมดสมรรถภาพทางเพศ อาจมีอาการซึมเศร้า หลงลืม นอนหลับยากและมีประสาทหลอน มีการพูดผิดปกติ (Dysphania)
การวินิจฉัยโรค
จากการซักประวัติ การตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พบอาการ 2 ใน 4 ของ อาการสั่น (Tremor) อาการเกร็ง (Rigidity) การเคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) และสูญเสียการทรงตัว (Postural changes or Postural instability) การวินิจฉัยโรคตั้งแต่แรกจะยากเพราะผู้ป่วยจะมีอาการเพียงเล็กน้อย มักพบบ่อยๆ ว่าคนในครอบครัวสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลง เช่น ท่าทางก้มตัวลง แขนดูแข็งๆ อ่อนปวกเปียกเล็กน้อย สั่น หรือเคลื่อนไหวช้า เขียนหนังสือตัวเล็กลง ประวัติการใช้ยา อาการที่เห็น การตรวจทางระบบประสาท การให้ยาแล้วได้ผล เช่น การตอบสนองต่อยา Levodopa เป็นต้น การตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยการทำ Positron emission tomography (PET) scan และ Single photon emission computed tomography (SECT) scanning เพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโดยการฉีดสารทึบแสง การตรวจจะพบเซลล์ประสาทในสมองมีสีจางลง ทำ Computed tomography (CT) scan ตรวจวินิจฉัยแยกโรค เช่น Hydrocephalus
การรักษา
โดยการให้ยาเพื่อช่วยชะลออาการ และรักษาตามอาการ เช่น ให้ Anticholinergic (Artane), Levodopa เป็นต้น ในผู้ป่วยที่มีอาการสั่น รักษาโดยการผ่าตัด โดยทำ Thalamotomy และ Pallidotomy เพื่อลดอาการเกร็งและการเคลื่อนไหวช้า การปลูกถ่ายต่อมหมวกไตเพื่อช่วยลดอาการสั่น และการทำกายภาพบำบัดโดยการออกกำลังกายที่เหมาะสม ให้ยาต้านไวรัส Amantadine hydrochloride (Symmetrel) จะช่วยรักษาโรคพาร์กินสันตั้งแต่แรกๆ จะลดอาการของโรคได้ โดยจะกระตุ้นให้มีการหลั่งโดปามีนจากสมองได้ ให้ Dopamine agonists, Monoamine oxidase inhibitors, Antidepressants, Antihistamines
การพยาบาล
ฝึกให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยฝึกการพูด (Speech therapy) ป้องกันภาวะขาดสารอาหารโดยให้นอนศีรษะสูงขณะรับประทานอาหารหรือน้ำดื่ม ดูแลให้รับประทานยาตามแผนการรักษา เช่น Levodopa อย่างน้อย 30 นาทีก่อนอาหาร ดูแลผู้ป่วยที่กลั้นปัสสาวะไม่ได้ โดยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหลัง 6 โมงเย็นให้น้อยลง เพื่อลดการถ่ายปัสสาวะในเวลากลางคืนหรือใส่สายสวนปัสสาวะ และฝึกการกลั้นปัสสาวะด้วยวิธี Bladder training และป้องกันท้องผูกโดยกระตุ้นให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้ว/วัน ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำส้ม น้ำลูกพรุน เพื่อช่วยในการขับถ่าย ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยเกี่ยวกับเรื่องโรค ป้องกันและลดภาวะเครียดให้แก่ผู้ป่วย