ว่านดอกทอง เป็นว่านที่คนโบราณนิยมปลูก และนำมาใช้ประโยชน์ด้านเมตตามหานิยม และมหาเสน่ห์ นอกจากนั้น ยังจัดเป็นไม้ดอกไม้ประดับสำหรับปลูกตามแปลงจัดสวนหรือปลูกในกระถางเพื่อชมใบและดอก หลายคนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประโยชน์และสรรพคุณทางยาของว่านดอกทองว่ามีอะไรบ้าง สามารถแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ขับเหงื่อ เสริมสมรรถภาพทางเพศได้จริงหรือไม่ ข้อควรระวังการใช้คืออะไร HonestDocs มีคำตอบ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma pierreana Gagnep.
ชื่อวงศ์ Zingiberaceae
ชื่อท้องถิ่น รากราคะ ว่านมหาเสน่ห์ ว่านมหาเสน่ห์ดอกทอง ว่านดอกทอง
ว่านดอกทองแท้ ว่านดอกทองกระเจาะ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ว่านดอกทองมีลักษณะเป็นหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน แตกแขนงเป็นไหลขนาดเล็ก มีขนาดยาวประมาณ 5-10 นิ้ว ส่วนรากเป็นเส้นใหญ่ ไม่แตกเป็นรากฝอย มีความสูงของต้นประมาณ 1 ฟุต เนื้อในหัวของว่านดอกทองตัวผู้จะมีสีเหลือง ส่วนเนื้อในหัวของว่านดอกทองตัวเมียจะมีสีขาว ลำต้นจะตรงกลม ส่วนของลำต้นและใบจะมีลักษณะคล้ายกับขมิ้น ประกอบด้วยกาบของก้านใบ มีอยู่หลายกาบซ้อนกัน ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบมีสีเขียว ลักษณะของใบเป็นรูปใบพาย ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ไม่มีจักแต่จะเป็นคลื่นเล็กน้อย พื้นใบสีเขียว เส้นกลางใบและกาบใบจะมีสีแดงหรือสีแดงเลือดหมู ดอกออกเป็นช่อเรียวยาวซ้อนกัน อยู่ตามกาบใบ ซึ่งในแต่ละกาบใบนั้นจะมีดอกสีเหลืองที่มีขนาดเล็ก กลิ่นหอมเย็น
ว่านดอกทองแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ว่านดอกทองตัวผู้และว่านดอกทองตัวเมีย ซึ่งจะมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์แตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือ หัวของดอกทองตัวเมียจะมีลักษณะคล้ายกับดินสอ จึงเป็นที่มาของอีกชื่อหนึ่ง คือ "ว่านดินสอฤาษี" เมื่อนำมาหักหรือผ่าดูจะมีกลิ่นคาว เช่นเดียวกับว่านดอกทองตัวผู้ แต่กลิ่นของว่านดอกทองตัวเมียจะมีกลิ่นที่แรงกว่าและออกฤทธิ์แรงกว่า
การดูแลและขยายพันธุ์
ว่านดอกทองเป็นพรรณไม้ที่ชอบอยู่ในที่ร่ม หรือในร่มที่แดดรำไร สามารถถูกแดดได้เล็กน้อย ดินที่ปลูกจะต้องเป็นดินปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี แต่อย่าให้ดินแฉะมากเกินไป เป็นพรรณไม้ที่ชอบความชื้น ควรรดน้ำบ่อยๆ ขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้น
ความเชื่อเกี่ยวกับสรรพคุณของว่านดอกทอง
- เชื่อว่าหากปลูกไว้ในบ้านจะเป็นสิริมงคลแก่บ้านเรือน เพื่อนบ้านรักใคร่ แต่บางตำราก็ระบุว่าไม่ควรปลูกว่านชนิดนี้ไว้ในบ้าน ด้วยเชื่อว่ามันอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการผิดลูกผิดเมียของคนในครอบครัวได้ หรือให้เด็ดดอกของว่านดอกทองทิ้งเสียให้หมด
- ตามความเชื่อของคนโบราณ ว่านดอกทองใช้ในทางเสน่ห์มหานิยม คนหนุ่มในสมัยโบราณนิยมเสาะแสวงดอกหามาเก็บสะสมไว้ใช้หุงกับน้ำมันจันทน์พร้อมทั้งเนื้อว่าน หรือนำมาใช้บดรวมกับสีผึ้งทาปาก ใช้น้ำมันทาตัว เมื่อถึงคราวจะไปพบหญิงสาว สตรีคนใดที่ต่อคารมด้วยเมื่อได้กลิ่นว่านในน้ำมันหรือสีผึ้ง ก็มักจะใจอ่อนคล้อยตามโดยง่าย และนับว่าเป็นว่านเสน่ห์มหานิยมที่มีฤทธิ์รุนแรงมาก
- สำหรับสตรี หากนำหัวว่าน ใบ และต้นว่านดอกทอง มาใส่ไว้ในโอ่งน้ำหรือในบ่อน้ำ แล้วรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดความรู้สึกทางเพศรุนแรงมาก หรือได้กลิ่นของดอกโชยมา ก็ชวนให้เกิดอารมณ์ทางเพศ จึงมีความเชื่อว่า หากไม่พึงประสงค์จะมีอารมณ์ทางเพศ ต้องเด็ดดอกทิ้งเสีย
- นอกจากจะใช้ทางด้านเสน่ห์แล้ว ยังใช้ว่านดอกทองในแง่ของเมตตามหานิยม ด้วยเชื่อว่าหากร้านค้าขายใดมีว่านดอกทองตัวเมียปลูกไว้หน้าร้าน จะช่วยทำให้ค้าขายดี มีลูกค้าเข้าออกร้านไม่ขาดสาย พ่อค้าแม้ค้าในสมัยโบราณที่มีความเชื่อเหล่านี้ จึงปลูกไว้บริเวณใกล้เคียงร้านของตนเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันว่านดอกทองยังเป็นที่นิยมอยู่ไม่น้อย จึงมีการนำมาใช้ในทางค้าขาย การเจรจาตกลง ช่วยทำให้ประสบผลสำเร็จได้โดยง่าย โดยใช้หัวว่านนำมาโขลกให้ละเอียดผสมกับสีผึ้งนำมาใช้ทาปากก่อนที่จะออกไปพบปะเจรจาทำการค้า
แนวทางการใช้ว่านดอกทองเพื่อสุขภาพ ข้อห้าม และข้อควรระวัง
ว่านดอกทองเป็นพรรณไม้ที่ไม่นิยมนำมาทำเป็นยาและอาหาร เนื่องด้วยกลิ่นคาวที่รุนแรง แต่ด้วยความเชื่อที่กล่าวมาข้างต้นนั้น คนโบราณจึงนำส่วนหัวหรือดอกมาสูบดม เพื่อบำรุงกำหนัด บำรุงกำลัง แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบการพิสูจน์หลักฐานทางกระบวนการวิทยาศาสตร์รวมถึงการศึกษาทางด้านความเป็นพิษและอันตราย ฉะนั้นจึงไม่ควรนำมาบริโภคหรือสูบดมในปริมาณที่มากเกินไป ส่วนสตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร และเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ห้ามบริโภค
สำหรับข้อสงสัยที่ว่า สามารถนำมาใช้รักษาท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ขับเหงื่อได้จริงหรือไม่ จากการสืบค้น ไม่พบข้อมูลดังกล่าว หรืออาจกล่าวได้ว่า ว่านดอกทองไม่สามารถนำมาใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อและขับเหงื่อได้