แผ่นแปะคุมกำเนิด ทางเลือกที่ได้ผล สำหรับคนที่ไม่พร้อมตั้งครรภ์

แผ่นแปะคุมกำเนิด อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนชอบลืมรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ ที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์อย่างได้ผล
เผยแพร่ครั้งแรก 30 พ.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
แผ่นแปะคุมกำเนิด ทางเลือกที่ได้ผล สำหรับคนที่ไม่พร้อมตั้งครรภ์

ในปัจจุบันมีทางเลือกมากมายในการคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นการใส่ห่วงคุมกำเนิด การฝังยาคุมบริเวณใต้ท้องแขน การฉีดยาคุมกำเนิด การรับประทานยาคุมกำเนิด และการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด โดยบทความนี้จะพูดถึงแผ่นแปะคุมกำเนิด หนึ่งในวิธีคุมกำเนิดที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

แผ่นแปะคุมกำเนิดคืออะไร

แผ่นแปะคุมกำเนิด (Birth Control Patch หรือ Contraceptive patch) มีลักษณะเป็นแผ่นยาบางๆ รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายกับพลาสเตอร์ปิดแผลแบบพลาสติกกันน้ำ ส่วนมากจะมีสีเนื้อเพื่อให้ใกล้เคียงกับสีผิวของผู้ใช้งาน ภายในแผ่นยาประกอบไปด้วยฮอร์โมน 2 ชนิดคือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้มีความสำคัญต่อการป้องกันการตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก และพบได้ในส่วนประกอบของยาคุมกำเนิดทั้งแบบรับประทานและแบบฉีด

แผ่นแปะคุมกำเนิดทำงานอย่างไร

  • เมื่อแปะแผ่นแปะคุมกำเนิดไว้บนร่างกายภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงขึ้นไป ตัวยา หรือฮอร์โมนที่อยู่บนแผ่นจะค่อยๆ ซึมเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงอย่างสม่ำเสมอ
  • แผ่นแปะคุมกำเนิดสามารถแปะได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่นิยมแปะบริเวณสะโพก หน้าท้อง แผ่นหลัง และต้นแขนด้านบน เพื่อไม่ให้ผู้อื่นสังเกตเห็น
  • ไม่ต้องกังวลว่าตัวยาที่ซึมเข้าสู่กระแสเลือดจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่น เพราะฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้จะเข้าไปทำงานกับมดลูกโดยตรง ทำให้เกิดการหลั่งเมือกหรือมูกที่บริเวณปากมดลูก มีลักษณะข้นเหนียวจนอสุจิไม่สามารถผ่านเข้ามาผสมพันธุ์กับไข่ได้
  • ฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้ยังมีผลในการยับยั้งการตกไข่ และทำให้เยื่อบุมดลูกบางกว่าเดิม ตัวอ่อนจึงไม่สามารถฝังตัวได้ แม้อสุจิจะสามารถเล็ดลอดเข้ามาได้แล้วก็ตาม

ประสิทธิภาพของแผ่นแปะคุมกำเนิด

กรณีที่ใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง คือไม่ตัดให้มีขนาดเล็กลง เปลี่ยนแผ่นยาเมื่อครบ 7 วัน แปะไว้อย่างน้อย 48 ชั่วโมงก่อนการร่วมเพศ ก็จะมีอัตราการล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์เพียง 0.3% เท่านั้น

แต่จากการทดลองใช้งานจริง กลับพบว่าอัตราการล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์กลับเพิ่มขึ้นสูงถึง 9% หรือ 1 ใน 11 คน เทียบเท่าหรือดีกว่าการใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ระดับความเสี่ยงแบบปานกลาง ดังนั้นควรใช้ถุงยางอนามัยควบคู่ไปด้วย

วิธีการใช้งานแผ่นแปะคุมกำเนิด

แผ่นแปะคุมกำเนิดใน 1 ชุดหรือ 1 กล่องภายในจะมีแผ่นแปะคุมกำเนิดอยู่ 3 แผ่น เพื่อให้ใช้สัปดาห์ละ 1 แผ่น แม้ว่าจะมีราคาที่สูงกว่ายาคุมแบบรับประทาน แต่เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพและการป้องกันการหลงลืมรับประทานยาก็ถือว่าใช้งานง่ายกว่า โดยวิธีการใช้งานแผ่นแปะคุมกำเนิดที่ถูกต้อง มีดังต่อไปนี้

  • เมื่อประจำเดือนมาวันแรกก็สามารถแปะแผ่นคุมกำเนิดแผ่นแรกได้ทันที
  • แผ่นแปะคุมกำเนิด มีอายุการใช้งานแผ่นละ 7 วันเท่านั้น วันที่ 8 จะต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่
  • ควรทำความสะอาดบริเวณที่ต้องการจะแปะแผ่นยาก่อนทุกครั้ง และต้องรอให้ผิวหนังแห้งสนิทก่อนเสมอ
  • ต้องระมัดระวังในการดึงแผ่นยา ไม่ควรเอามือไปสัมผัสกับบริเวณที่เป็นกาว แต่ให้สัมผัสบริเวณที่มีพลาสติกแทน และควรใช้มือกดแผ่นยาให้แนบสนิทกับผิวหนังอย่างน้อย 10 วินาที

สาเหตุที่แผ่นแปะคุมกำเนิด 1 ชุดมีเพียง 3 แผ่น ก็เพื่อให้มีช่วงเวลาหยุดยา 1 สัปดาห์คล้ายกับยาคุมกำเนิดแบบรับประทานชนิด 21 เม็ด

ข้อควรระวังในการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

  • ไม่ควรตัดแบ่งยาคุมกำเนิดออกเป็นแผ่นเล็กๆ เพราะจะทำให้ตัวยาประสิทธิภาพลดลง และอาจทำให้ความเสี่ยงในการตั้งครรภ์เพิ่มมากยิ่งขึ้น
  • ไม่ควรใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานๆ เพราะอาจทำให้ฮอร์โมนทำงานผิดปกติได้

ผู้ที่เหมาะกับการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

  • ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ยังไม่พร้อม หรือไม่ต้องการมีบุตร (ช่วงอายุตั้งแต่ 18-50 ปีขึ้นไป)
  • ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดระยะสั้นๆ
  • ผู้ที่ลืมการรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ

ผู้ที่ไม่ควรใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน เนื่องจากแผ่นแปะคุมกำเนิดมีกลไกการทำงานที่เกี่ยวกับฮอร์โมนโดยตรง ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และยาจะออกฤทธิ์ไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร
  • ผู้หญิงที่ชอบสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดอุดตันในหัวใจและสมองได้
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด เป็นสิ่งกระตุ้นให้ลักษณะของโรคมีอาการรุนแรงมากกว่าเดิม
  • ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งเกี่ยวกับมดลูก

ผลข้างเคียงของการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

แผ่นแปะคุมกำเนิดจัดอยู่ในยาประเภทเดียวกับยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน ทำให้มีผลข้างเคียงไม่ต่างกันมากนัก แต่อาจจะมีอาการน้อยกว่า โดยมีอาการดังนี้

  • อาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาเจียน เจ็บหน้าอก สิวขึ้น มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น และอารมณ์แปรปรวน ซึ่งเป็นผลของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป
  • ในบางรายอาจพบว่ามีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น หรือรู้สึกตัวบวมมากกว่าเดิม
  • อาจพบอาการเป็นผื่นคันบริเวณที่มีการแปะยา แต่จะหายไปได้เอง ซึ่งสามารถใช้คาลาไมน์ (Calamine) หรือยาแก้ผดผื่นทารักษาอาการคันได้ตามปกติ
  • บางรายอาจมีความต้องการทางเพศลดลงเล็กน้อย

แผ่นแปะคุมกำเนิดสามารถซื้อได้ที่ไหน

สำหรับแผ่นแปะคุมกำเนิด สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปที่มีเภสัชกรประจำอยู่ มีให้เลือกหลายยี่ห้อ หลายราคา ซึ่งจะมีการใส่ตัวยามากน้อยแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจึงควรสอบถามรายละเอียดต่างๆ จากเภสัชกรทุกครั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้นก่อนการนำมาใช้งาน

แผ่นแปะคุมกำเนิดนั้นเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบง่ายๆ และมีผลข้างเคียงค่อนข้างต่ำ จึงถือเป็นหนึ่งในวิธีคุมกำเนิดที่ดีสำหรับผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ และยังหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไปอีกด้วย แต่สำหรับใครที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน ก็ควรอ่านคู่มือการใช้งาน หรือสอบถามแพทย์และเภสัชให้แน่ชัด เพื่อจะได้ใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด


8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Birth Control Patch (for Teens). Nemours KidsHealth. (https://kidshealth.org/en/teens/contraception-patch.html)
Contraceptive patch. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/contraception/contraceptive-patch/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)