กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ขลิบหนังหุ้มปลาย ข้อดีข้อเสีย วิธีการขลิบ ราคา วิธีการเตรียมตัว วิธีการดูแลตัวเองหลังการตรวจและหลังผ่าตัด

การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ มีข้อดีมากกว่าที่คุณคิด ไม่อยากพลาด อ่านเลย
เผยแพร่ครั้งแรก 30 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 25 ม.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 27 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ขลิบหนังหุ้มปลาย ข้อดีข้อเสีย วิธีการขลิบ ราคา วิธีการเตรียมตัว วิธีการดูแลตัวเองหลังการตรวจและหลังผ่าตัด

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย เป็นการตัดหนังหุ้มปลายองคชาตออก โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เปิดทำความสะอาดได้ง่าย และช่วยลดการติดเชื้อได้ดีกว่าด้วย
  • การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายสามารถทำได้ตั้งเด็กทารกอายุ 2-3 สัปดาห์ ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่การขลิบในวัยทารกจะได้เปรียบกว่า เพราะไม่ต้องอายหมอ แผลหายง่าย ไม่ต้องวางยาสลบ ไม่ทำให้เด็กรู้สึกกลัว
  • การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายสามารถเกิดผลแทรกซ้อนได้ไม่ต่างจากการผ่าตัดปกติทั่วไป
  • การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายอาจดูน่ากลัว แต่ก็มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เช่น ลดความเสี่ยงเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งที่อวัยวะเพศ ทำให้ทำความสะอาดอวัยวะเพศง่าย ลดกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • ก่อนการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย คุณควรเข้าตรวจสุขภาพกับแพทย์ และแจ้งโรคประจำตัว รวมถึงยาที่รับประทานให้แพทย์ทราบเสียก่อน (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพชายทุกวัยได้ที่นี่)

การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย เป็นอีกสัญลักษณ์ที่แสดงการเป็นชายเต็มตัวในหลายๆ วัฒนธรรม แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศนั้นมีทั้งข้อดี และข้อเสียที่แตกต่างกันไป และเป็นข้อมูลที่ทุกคนควรรู้เป็นความรู้เบื้องต้นไว้

ความหมายของการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ 

การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย คือ การตัดหนังหุ้มปลายขององคชาตออก โดยมีจุดประสงค์ก็เพื่อสามารถเปิดทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น ทำให้ช่วยลดการติดเชื้อ และมีสุขอนามัยที่ดี

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ข้อดี และข้อเสียของการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ

ข้อดีของการขลิบในวัยทารก

  • ไม่เกิดความจำฝังใจ เพราะการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ในวัยทารกจะไม่ทำให้เกิดการจำความรู้สึกเจ็บ หรือกลัวจนเป็นความฝังใจ อีกทั้งแผลจะหายเร็วกว่าในเด็กโต หรือผู้ใหญ่ เนื่องจากดูแลแผลง่ายนั่นเอง
  • ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องผ่าตัด หรือวางยาสลบ เสียค่าใช้จ่ายน้อย และไม่ต้องรู้สึกอายหมอ

ข้อดีหลังการขลิบในวัยผู้ใหญ่

  • ลดความเสี่ยงการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคซิฟิลิส กามโรค หรือโรคเอดส์ แต่ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ 100% เนื่องจากการป้องกันโรคที่เห็นผลที่สุด คือ การใช้ถุงยางอนามัยเท่านั้น 
  • ลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคในทางเดินปัสสาวะ ผู้ชายที่ไม่ได้รับการขลิบหนังหุ้มปลายจะมีความเสี่ยงการติดเชื้อได้มากกว่า เพราะเชื้อโรคนั้นมีการสะสมที่หนังหุ้มปลาย ดังนั้นผู้ชายที่ขลิบหนังหุ้มปลายแล้วจะลดการติดเชื้อที่เข้าสู่ไตได้
  • ทำความสะอาดง่าย สามารถทำความสะอาดปลายองคชาตได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการขลิบ
  • ลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งที่อวัยวะเพศ เมื่อหนังหุ้มปลายถูกขลิบแล้ว จะทำให้ไม่เป็นแหล่งเก็บเชื้อโรคต่างๆ จึงช่วยลดความสกปรก และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่อวัยวะเพศได้
  • ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ HPV ในผู้หญิง เพราะเชื้อ HPV เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
  • แก้ปัญหาปลายอวัยวะเพศตีบ (Phimosis) มักเกิดกับผู้ชายที่ไม่ได้มีการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เนื่องจากหนังปลายอวัยวะเพศจะหุ้มองคชาตมิดจนไม่สามารถเปิดได้ และทำให้หนังหุ้มปลายรูดขึ้นลงไม่ได้ ทำให้เกิดความเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ อีกทั้งการหลั่งอสุจิก็จะทำได้ไม่ดี 
  • ลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ เพราะเป็นการกำจัดแหล่งสะสมสิ่งสกปรกต่างๆ เช่น เหงื่อ คราบปัสสาวะ หรือขี้ไคล

 ข้อเสียหลังการขลิบในวัยผู้ใหญ่

  • เสี่ยงภาวะแทรกซ้อน การขลิบอวัยวะเพศเป็นการผ่าตัดที่อาจเกิดผลแทรกซ้อนเหมือนการผ่าตัดตามปกติทั่วไป
  • ลดความไวในการสัมผัสกับสิ่งต่างๆ เพราะหลังการขลิบแล้ว ปลายอวัยวะเพศจะสามารถสัมผัสกับสิ่งภายนอกได้ตลอดเวลา เช่น ผ้าเช็ดตัว กางเกง เพราะไม่มีหนังหุ้มปลายปิด ทำให้ความไวต่อการรู้สึกของส่วนหัวอวัยวะเพศลดลง หลังจากขลิบไปแล้ว 2-3 เดือน
  • ผิวหนังส่วนหัวของอวัยวะเพศแห้ง เพราะไม่มีผิวหนังปกคลุม ปกติแล้วหัวของอวัยวะเพศชาย จะเป็นเนื้อเยื่ออ่อนที่มีความอ่อนนุ่ม หรือมีสีอ่อนเหมือนเนื้อเยื่อในช่องปาก แต่หลังการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ จะเปลี่ยนไปเหมือนสีของผิวหนังภายนอก
  • การม้วนตัวของหนังหุ้มปลายเปลี่ยนไปขณะมีเพศสัมพันธ์ ก่อนการขลิบ หนังหุ้มปลายจะม้วนตัวขึ้นลงได้ในขณะมีเพศสัมพันธ์ แต่หลังการขลิบหนังหุ้มปลายไปแล้ว จะไม่สามารถทำได้ จึงทำให้ปลายอวัยวะเพศเสียดสีกับช่องคลอดโดยตรง

ควรขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศเมื่ออายุเท่าไร

สามารถทำได้ตั้งแต่วัยทารกแรกเกิด โดยเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ ขณะทารกมีอายุ 2 – 3 สัปดาห์ หรือ 10 วัน หลังคลอด  แต่หากเกิดปัญหาตอนเด็กโตหรือ เป็นผู้ใหญ่ก็ยังสามารถทำได้ เพียงแต่อาจจะมีความยุ่งยากกว่าเท่านั้นเอง

วิธีการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ

  • กรณีเด็กโต และผู้ใหญ่
    แพทย์โกนขนที่อวัยวะเพศก่อน หลังจากนั้นจะฉีดยาชาที่โคนอวัยวะเพศเพื่อไม่ให้เกิดความเจ็บปวด และทำการตัดหนังหุ้มปลายส่วนเกินตามที่ต้องการออก ตามด้วยการหยุดเลือด และเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย ซึ่งอาจมีอันตราย หรืออาการแทรกซ้อนได้เหมือนการผ่าตัดทั่วไป
  • กรณีทารกแรกเกิด
    ทำการขลิบโดยใช้เครื่องมือครอบปลายอวัยวะเพศ แล้วตัดหนังออกแบบไม่ต้องเย็บแผล 

ปกติแล้ว แผลขลิบอวัยวะเพศในเด็กเล็กจะหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่จะหายภายใน 3 สัปดาห์ โดยหลังการขลิบเรียบร้อยแล้ว เมื่อยาชาหมดฤทธิ์ จะมีอาการปวดบ้างตามสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ซึ่งสามารถใช้ยาลดอาการปวดให้บรรเทาลงจนสามารถทนได้

ราคาการขลิบอวัยวะเพศ

ขึ้นอยู่กับปัญหาของผู้ที่ต้องการขลิบอวัยวะเพศ หากทำยาก และอยู่ในวัยผู้ใหญ่ก็จะมีราคาแพงกว่าการขลิบที่อยู่ในวัยทารก

วิธีเตรียมตัวก่อนการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ

  • ต้องมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย รวมทั้งกำหนดวันขลิบ
  • การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ จะต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งหยุดงานหลังทำประมาณ 3-7 วัน และก่อนการขลิบไม่ต้องงดอาหาร และน้ำ แต่ถ้าเป็นการขลิบแบบต้องวางยาสลบก็จำเป็นต้องงดอาหาร และน้ำร่วมด้วย
  • หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูง จะต้องแจ้งแพทย์ก่อนการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
  • งดรับประทานยาที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัว รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิดก่อนขลิบ 2 สัปดาห์
  • ควรเตรียมเสื้อผ้าหลวมๆ ที่สวมใส่สบายเพื่อใส่หลังการผ่าตัด
  • เตรียมชุดทำความสะอาดแผล ได้แก่ เบตาดีน น้ำเกลือสำหรับล้างแผล ไม้พันสำลี ผ้าก๊อซ และปลาสเตอร์ปิดแผล 

วิธีการดูแลตัวเองหลังขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ

  • หลังการขลิบ หากยังมีเลือดออก ให้ใช้ผ้าก๊อซกดแผลไว้จนกว่าเลือดจะหยุดไหล
  • ต้องล้าง และทำความสะอาดแผลวันละ 1-2 ครั้ง ด้วยน้ำเกลือสำหรับล้างแผล แล้วทาเบตาดีน จากนั้นเปลี่ยนผ้าก๊อซแบบชนิดกันผ้าติดแผลปิดทับลงไป
  • ถ้าแผลมีอาการบวมหรือรู้สึกปวด ให้ใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งห่อผ้าช่วยประคบไว้ และรับประทานยาแก้ปวดก็จะช่วยบรรเทาอาการได้
  • ไม่ควรให้แผลขลิบอวัยวะเพศโดนน้ำเป็นเวลา 2-3 วัน ดังนั้นการอาบน้ำจึงต้องระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ หากจำเป็นต้องโดนน้ำให้รีบเช็ดแห้งโดยเร็วที่สุด
  • ขณะปัสสาวะ ควรระมัดระวังอย่าให้ปัสสาวะเลอะผ้าก๊อซ หากเลอะจะต้องเปลี่ยนผืนใหม่ทันที
  • หลีกเลี่ยงการกระตุ้นให้อวัยวะเพศเกิดการแข็งตัว เนื่องจากจะทำให้เกิดความเจ็บปวดมากขึ้น และต้องงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลจะหายเป็นปกติ

วิธีการดูแลผู้ป่วยหลังการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยเพศ

หากผู้ที่รับการขลิบอวัยวะเพศเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ก็จะสามารถดูแลตนเองได้ตามวิธีการดูแลตัวเองหลังขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ แต่ถ้าเป็นเด็กทารกก็ควรปฏิบัติ ดังนี้

  • เมื่อแกะผ้าปิดแผลออกแล้ว ให้ทำความสะอาดด้วยการใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว จากนั้นแตะเบาๆ เพื่อให้แผ่นแข็งๆ ที่ติดอยู่ให้หลุดออกมา
  • ใช้ผ้าก๊อซชุบปิโตรเลียมเจลห่ออวัยวะเพศไว้ และเปลี่ยนผืนใหม่ในวันถัดไป
  • เมื่อนำผ้าก๊อซออกจะต้องค่อยๆ แกะ และทำให้ชื้น เพื่อที่จะได้แกะออกง่าย และไม่รู้สึกเจ็บ
  • หากมีเลือดออกให้นำผ้าก๊อซที่สะอาด มากดเหนือจุดที่เลือดออกประมาณ 2-3 นาที เลือดก็จะหยุดไหลแล้วทาขี้ผึ้งหรือยาอื่นๆ ตามแพทย์สั่ง

การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ นับว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ดังนั้นหากมองผลดีในระยะยาวแล้ว ย่อมดีกว่าการไม่ขลิบเลย เพราะนอกจากจะเป็นผลดีต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายต่อทั้งผู้ชาย และผู้หญิงอีกด้วย

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
การขลิบของผู้ชาย (Circumcision) คืออะไร? เพื่ออะไร?, (https://hdmall.co.th/c/circumcision).
ขลิบไร้เลือด กี่วันหาย เจ็บไหม? อ่านสรุปที่นี่, (https://hdmall.co.th/c/circular-stapler).
Male circumcision for HIV prevention (https://www.who.int/hiv/topics/malecircumcision/en/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
เจาะลึก “การขลิบน้องชาย” ทำไมต้องขลิบ ขลิบแล้วมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร?
เจาะลึก “การขลิบน้องชาย” ทำไมต้องขลิบ ขลิบแล้วมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร?

ภูมิปัญญาที่พบหลักฐานตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ ไม่ใช่แค่น่าทึ่ง แต่การศึกษาในปัจจุบันยังพบว่าน่าปฏิบัติไม่น้อย

อ่านเพิ่ม