Circadin ต่างจากเมลาโทนินที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างไร

เผยแพร่ครั้งแรก 21 ธ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
Circadin ต่างจากเมลาโทนินที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างไร

เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองได้ค่ะ โดยมีความมืดเป็นตัวกระตุ้น และถูกยับยั้งโดยแสงสว่าง ระดับของเมลาโทนินจึงมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเป็นวัฏจักรในรอบ 24 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่า นาฬิกาชีวภาพ (Circadian rhythm)

ด้วยเมลาโทนินมีบทบาทในการควบคุมระบบนาฬิกาชีวิตและวงจรการนอน (Sleep-wake cycle) จึงได้มีการคิดค้นและพัฒนาการใช้เมลาโทนินเพื่อรักษาโรคหรือภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของนาฬิกาชีวภาพในร่างกาย เช่น การนอนไม่หลับแบบปฐมภูมิ (Primary insomnia) ซึ่งหมายถึงการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ได้มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ โรค หรือยาใด ๆ

ในประเทศไทย เมลาโทนินมีการขึ้นทะเบียนเฉพาะในรูปแบบของยานะคะ โดยมีชื่อการค้าว่า Circadin

และเนื่องจากไม่มีการขึ้นทะเบียนในรูปแบบของอาหาร ดังนั้นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเมลาโทนินที่มีจำหน่ายหลาย ๆ ยี่ห้อนั้น ก็เป็นผลิตภัณฑ์เถื่อนที่ไม่ได้รับการรับรองและตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงไม่แนะนำให้ใช้ เพราะอาจไม่มีคุณภาพ, ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่มีความปลอดภัยนั่นเอง

แต่ในบางประเทศก็มีเมลาโทนินจำหน่ายอยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารค่ะ และสำหรับผู้ที่เคยเห็น หรือเคยซื้อมาใช้ อาจจะสงสัยว่าเมลาโทนินในรูปแบบของยากับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร ...มาดูกันค่ะ

เมลาโทนินที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะอยู่ในรูปแบบออกฤทธิ์เร็ว (Immediate-release melatonin) ซึ่งจะมีการแตกตัว ละลาย และดูดซึม ในลักษณะเดียวกับเม็ดยาปกติทั่วไปนั่นเองค่ะ แต่เนื่องจากเมลาโทนินมีค่าครึ่งชีวิตสั้น เมื่อรับประทานไปแล้วจึงมียาคงอยู่ในเลือดได้ไม่นานก็หมดไป ทำให้ออกฤทธิ์ได้ไม่ครอบคลุมตลอดทั้งคืน

และเนื่องจากไม่ได้มีการควบคุมตรวจสอบอย่างเข้มงวดเหมือนกับยา ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเมลาโทนินแตกต่างกันได้มากในแต่ละยี่ห้อ หรือแม้แต่ยี่ห้อเดียวกัน แต่ต่างเม็ดหรือต่างรุ่นการผลิต ปริมาณสารสำคัญก็อาจมีมากน้อยไม่เท่ากันได้ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการใช้นั่นเอง

แต่ก็นั่นล่ะค่ะ เนื่องจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรืออาการของโรคได้อยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเมลาโทนินจะใช้ไม่ได้ผลในการรักษาภาวะนอนไม่หลับนะคะ

ส่วน Circadin หรือยาเมลาโทนิน จะอยู่ในรูปแบบออกฤทธิ์นาน (Prolonged-release melatonin) ค่ะ ตัวยาจะค่อย ๆ ถูกปลดปล่อยออกมา จึงอยู่ได้นานกว่า

เมื่อเปรียบเทียบการใช้เมลาโทนินขนาด 2 มิลลิกรัม ในรูปแบบออกฤทธิ์เร็ว หรือ Immediate-release melatonin (เส้นกราฟสีม่วงอ่อน) และ Circadin ซึ่งเป็นเมลาโทนินในรูปแบบออกฤทธิ์นาน หรือ Prolonged-release melatonin (เส้นกราฟสีม่วงเข้ม) โดยรับประทานในเวลา 22.00 น. พร้อมกัน จะมีระดับในเลือดตามกราฟนี้ค่ะ

จะเห็นได้ว่า Circadin ออกฤทธิ์ครอบคลุมตลอดทั้งคืน ทำให้ผู้ใช้สามารถนอนหลับต่อเนื่องได้ถึงเช้า

และเนื่องจากต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพ, ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย จึงทำให้มั่นใจในการนำมาใช้รักษาโรคตามที่มีการระบุไว้ในข้อบ่งใช้ของยาค่ะ


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Melatonin: Indication, Dosage, Side Effect, Precaution. MIMS.com. (https://www.mims.com/india/drug/info/melatonin?type=full&mtype=generic)
Melatonin: Indication, Dosage, Side Effect, Precaution. MIMS.com. (https://www.mims.com/philippines/drug/info/melatonin?mtype=generic)
Circadin Dosage & Drug Information. MIMS.com. (https://www.mims.com/thailand/drug/info/circadin)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)