ปากมดลูกตีบ ภาวะที่ผู้หญิงทุกวัยควรรู้

เผยแพร่ครั้งแรก 12 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ปากมดลูกตีบ ภาวะที่ผู้หญิงทุกวัยควรรู้

ภาวะปากมดลูกตีบ (Stenosis of the uterine cervix) เป็นความผิดปกติทางระบบสืบพันธุ์ที่พบได้บ่อยๆ ในผู้หญิง โดยปกติส่วนที่เรียกว่า ปากมดลูก (uterine cervix) จะมีรูเปิดเพื่อเป็นทางผ่านของสารคัดหลั่งและเลือดประจำเดือนที่ออกมาจากโพรงมดลูก แต่หากรูเปิดนั้นตีบตัน หรือปิดสนิท ก็จะทำให้ของเหลวเหล่านั้นคั่งค้างภายในโพรงมดลูก ซึ่งในบางคนอาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่บางคนก็อาจเกิดอาการรุนแรงได้

อาการของปากมดลูกตีบ

ความรุนแรงของอาการนั้นขึ้นอยู่กับว่าปากมดลูกตีบมากหรือน้อย ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
  • เมื่อมีประจำเดือนจะปวดท้องมาก เนื่องจากเลือดประจำเดือนไหลออกมาไม่สะดวก
  • มีประจำเดือนมาน้อย เลือดออกกะปริบกะปรอย แต่หากปากมดลูกปิดสนิท ก็จะไม่มีประจำเดือนเลย
  • อาจคลำพบก้อนที่ท้องน้อย เนื่องจากมีเลือดประจำเดือนคั่งค้างจนโพรงมดลูกขยาย
  • อาจมีไข้หนาวสั่น เนื่องจากเกิดการอักเสบในโพรงมดลูก

นอกจากนี้ ภาวะปากมดลูกตีบก็อาจส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น

  • มีเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เนื่องจากเลือดประจำเดือนไหลเข้าไปในช่องท้องและท่อนำไข่ จึงอาจมีเยื่อบุมดลูกเจริญในรังไข่หรืออุ้งเชิงกรานได้
  • มีบุตรยาก เนื่องจากอสุจิจะเข้าผสมกับไข่ในโพรงมดลูกได้ลำบาก
  • คลอดบุตรยาก เพราะปากมดลูกไม่สามารถขยายตัวได้

สาเหตุของปากมดลูกตีบ

ภาวะปากมดลูกตีบเกิดได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ ได้แก่

  • เป็นความผิดปกติแต่กำเนิด (Congenital cervical stenosis) ซึ่งเกิดจากการพัฒนาการที่ผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ ทำให้บางครั้งไม่มีรูเปิดที่ปากมดลูก
  • เกิดขึ้นภายหลังจากปัจจัยต่างๆ (Acquire cervical stenosis) ซึ่งปัจจัยที่ว่า ได้แก่

- ปากมดลูกอักเสบ ทำให้เกิดพังผืดขึ้นบริเวณปากมดลูก และทำให้รูปากมดลูกตีบแคบลง

- ปากมดลูกฉีกขาด ซึ่งอาจเกิดระหว่างการขูดมดลูก ทำให้ปากมดลูกผิดรูป และเกิดพังผืดมาปิดกั้นบริเวณรูเปิดได้

- มะเร็งปากมดลูก ทำให้เซลล์เยื่อบุมดลูกเจริญมากกว่าปกติ และปิดทับรูเปิดปากมดลูก นอกจากนี้ การรักษามะเร็งปากมดลูกโดยการฉายรังสีก็มีโอกาสทำให้ปากมดลูกตีบได้

- อยู่ในช่วงวัยทอง เมื่อร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ปากมดลูกจะขาดความยืดหยุ่นและชุ่มชื้น จนอาจเกิดการตีบแคบลงได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การรักษาปากมดลูกตีบ

การรักษาอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ความรุนแรง และลักษณะการตีบของปากมดลูก

  • การถ่างขยายรูเปิดปากมดลูก เป็นวิธีโดยทั่วไปที่ใช้รักษาปากมดลูกตีบแต่กำเนิด และภาวะปากมดลูกตีบที่ไม่ได้มาจากสาเหตุเฉพาะอื่นๆ ซึ่งจะต้องใช้เครื่องมือแพทย์สอดเข้าไปเพื่อถ่างขยาย
  • ในกรณีที่เกิดพังผืดปิดกั้นปากมดลูก อาจต้องใช้เลเซอร์หรือไฟฟ้า จี้ตัดพังผืดส่วนนั้นออก
  • หากเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือเนื้องอกขนาดใหญ่ จะต้องทำการผ่าตัดออก หรือฉายรังสีเพื่อบำบัด
  • ถ้ามีการอักเสบและติดเชื้อที่ปากมดลูกหรือในโพรงมดลูก อาจต้องทานยาปฏิชีวนะด้วย
  • หากภาวะปากมดลูกตีบมีความรุนแรง สร้างความทรมาน และไม่สามารถใช้วิธีถ่างขยายรูเปิดได้ อาจต้องตัดมดลูกออก

อย่างไรก็ตาม หากภาวะปากมดลูกตีบไม่มีอาการรุนแรงอะไร ก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้

การดูแลตนเองนอกเหนือจากการรักษา

นอกจากการทานยาให้ครบและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว ผู้ป่วยควรดูแลความสะอาดของอวัยวะเพศให้ดี และหลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพื่อป้องกันการอักเสบและติดเชื้อเพิ่มเติม และหากมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง ก็ควรรีบมาพบแพทย์

การป้องกันปากมดลูกตีบ

สำหรับภาวะปากมดลูกตีบที่เกิดขึ้นภายหลัง สามารถป้องกันได้ดังนี้

  • ป้องกันการติดเชื้ออักเสบที่ปากมดลูก โดยหลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด และดูแลความสะอาดของอวัยวะสืบพันธุ์ให้ดี
  • หลีกเลี่ยงการทำหัตถกรรมบริเวณปากมดลูกซ้ำๆ โดยไม่จำเป็น เช่น การขูดมดลูก
  • ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Cervical Spinal Stenosis - Symptoms, Causes, Diagnosis, Treatments. WebMD. (https://www.webmd.com/back-pain/guide/spinal-stenosis)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)