ตามที่รู้ๆ กันอยู่แล้วว่าในเด็กแรกเกิดจนถึง 6 เดือนแรกนั้นอาหารที่ดีที่สุดของลูกก็คือน้ำนมจากอกแม่นั่นเองคะ แต่สำหรับคุณแม่บางคนก็มีปัญหา เช่น ไม่มีน้ำนมบ้าง ต้องไปทำงานบ้าง ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขได้อย่างไรกันได้บ้าง เรามีคำแนะนำให้
ถ้าคุณแม่ไม่มีน้ำนมจะทำอย่างไรดี
มีคุณแม่หลายๆ ท่านที่มีปัญหาน้ำนมไม่ไหล หรือไหลไม่พอ จริงๆ มีวิธีการแก้ไขเบื้องต้นก่อน แต่หากแก้ไขแล้วไม่ได้ผลก็คงต้องใช้นมผงแทน ในการเลือกนมผงสำหรับลูกน้อยนี้ ควรซื้อแบบกระป๋องเล็กๆ ก่อนจะได้หมดเร็วๆ เมื่อเปิดกระป๋องแล้วควรให้ลูกทานให้หมดภายใน 7 วัน เพราะเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราต่างๆ ที่ปะปนในอากาศอาจจะเข้าไปก่อตัวได้ เมื่อทานหมดแล้วก็ควรทิ้งกระป๋องไปเลย ไม่ควรเอามาใช้ใหม่ (ยกเว้นว่าเอาไปใส่ของอย่างอื่น) อย่าได้นำนมผงแบบถุง (แบบเติม) มาใส่ในกระป๋องนมเก่า พอลูกโตขึ้นหน่อยจึงเลือกกระป๋องที่ใหญ่ขึ้น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ควรเลือกขวดนมอย่างไรดี
ควรเลือกขวดนมที่ทำความสะอาดง่าย ควรเลือกแบบที่สามารถใช้แปรงทำความสะอาดได้ทุกซอกทุกมุมสามารถกำจัดคราบนมที่เกาะได้หมดจด การต้มขวดนมอย่างเดียวไม่สามารถกำจัดคราบนมได้หมดแต่เราก็จำเป็นต้องต้มขวดนม ดังนั้นขวดนมที่ใช้ควรจะเป็นแก้ว เพราะทนต่อความร้อน และถ้าเราใช้กับเด็กอายุไม่เกิน 4 เดือนขวดนมควรมีขนาดไม่เกิน 4 ออนซ์ เพื่อที่คุณจะได้ถือขวดนมให้ลูกดื่ม เพราะหากเด็กถือเองอาจจะทำแตกได้ พอเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็เปลี่ยนมาเป็นขวดนมที่ใหญ่ขึ้น
ควรจะให้ลูกมีขวดนมกี่ขวดดี
จำนวนขวดนมที่ควรมีไว้ควรมีอย่างน้อย 3-4 ใบ คือ ใบที่ 1 ใช้ช่วงตื่นนอน สายๆ ใช้อีก 1 ใบ ช่วงเที่ยง ใช้อีก 1 ใบ ช่วงบ่ายให้ล้างขวดนมและต้มขวดนมและจุกนมจนน้ำเดือด หลังจากน้ำเดือดให้ต้มต่อไปอีก 10 นาทีจึงเอาขวดนมและจุกนมขึ้นมาพักให้เย็นและแห้ง อย่าลวกเฉยๆ นะคะ เพราะมันไม่สะอาดพอ สำหรับจุกนมก็ต้องเลือกให้ดีนะคะ ในเด็กแรกเกิดถึง 3 เดือน ควรเลือกจุกนมที่มีรูเล็กสุด ทดสอบด้วยการคว่ำขวดนมดู ถ้านมไม่ไหลออกมาก็ใช้ได้ เพราะถ้าไหลออกมาเองลูกจะดูดนมไม่ทันและจะสำลักนมได้ ถ้าลูกโตขึ้นอายุประมาณ 6 เดือนไปแล้วจึงใช้จุกนมที่รูใหญ่ขึ้นได้
ถ้าลูกกินนมแม่แล้วท้องเสียจะทำอย่างไรดี
ทารกในช่วงอายุ 5-7 วันแรก อาจจะถ่ายเหลวได้บ่อยๆ บางวันอาจถ่าย 15-20 หน แต่หากมีเลือดปนออกมาก็ควรงดให้นมแม่ก่อน แต่จริงๆ แล้วการถ่ายบ่อยแบบนี้ไม่ใช่ท้องเสีย ดังนั้นลองเปลี่ยนวิธีแก้ไขใหม่ โดยบีบน้ำนมแม่ช่วงแรกออกไปก่อนซัก 20-30 มิลลิลิตร แล้วค่อยให้ลูกดูดนม เพราะน้ำนมจะมีปริมาณไขมันมากกว่าน้ำนมช่วงต้น ลูกจะอิ่มนานขึ้นด้วย การถ่ายก็จะห่างขึ้น เมื่อลูกถ่ายบ่อยการล้างก้นให้ลูกก็สำคัญ เราควรล้างด้วยความระมัดระวัง ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมทันที เพราะอุจจาระของลูกจะเป็นกรดอ่อนๆ จะกัดผิวหนังบริเวณก้นของลูกได้ เสร็จแล้วซับก้นด้วยสำลีแห้ง แล้วยังไม่ต้องรีบใส่ผ้าอ้อม แต่เราควรผึ่งลมให้แห้งก่อน เมื่อก้นแห้งสนิทแล้วจึงทาแป้งแล้วจึงใส่ผ้าอ้อมได้
เมื่อคุณแม่ต้องไปทำงานแต่อยากให้ลูกดื่มนมแม่จะทำอย่างไรดี
คุณแม่ส่วนมากจะลาคลอดได้เพียง 3 เดือนซึ่งในระยะเวลา 3 เดือนนี้คุณแม่ควรจะให้นมแม่เพียงอย่างเดียว เมื่อใกล้ครบ 3 เดือนลูกจะหิวง่ายขึ้น เพราะเด็กโตเร็ว เราจึงควรฝึกให้ทานอาหารเสริม 1 มื้อโดยเริ่มจากข้าวบดใสๆ ก่อน แล้วค่อยเติมฟักทองสลับกับผักใบเขียว ต่อมาค่อยเติมสลับกับไข่แดง เมื่อจะครบ 3 เดือนที่คุณแม่จะต้องกลับไปทำงานแล้ว เราก็ยังสามารถให้ลูกดูดนมจากเต้าได้ โดยตอนเช้าให้ลูกดูดนมให้เต็มที่ จากนั้นบีบนมที่เหลือทั้ง 2 เต้าใส่ขวดนม โดยปกติจะได้น้ำนมประมาณ 8-12 ออนซ์ให้เราเก็บไว้ในตู้เย็นในช่องเย็นธรรมดา เมื่อถึงเวลาที่จะให้ลูกทานนม ให้นำนมออกมามาวางไว้นอกตู้เย็นหรือแช่น้ำอุ่น แล้วจึงค่อยให้ลูกทาน แต่เด็กบางคนก็ดื่มนมเย็นได้ นอกจากนี้ ขณะอยู่ในที่ทำงาน อาจบีบน้ำนมเก็บทุก 3 ชั่วโมง โดยแต่ละครั้งให้บีบให้เกลี้ยงเต้าในกรณีที่ลูกหิวอีก อาจให้พี่เลี้ยงหรือผู้ดูแลให้อาหารเสริม 1 มื้อ เมื่อคุณกลับมาจากทำงานก็สามารถให้นมลูกจากเต้าได้ และควรฝึกลูกแบบนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนที่คุณจะเริ่มกลับไปทำงาน
นมแม่ที่แช่เย็นไว้จะเก็บรักษาอย่างไร
ในกรณีที่คูณแม่ปั้มนมเก็บไว้ในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุด ให้เก็บนมที่ปั้มไว้ในช่องแช่แข็ง เมื่อถึงเวลาใช้ให้นำมาวางไว้นอกตู้เย็น หรือแช่น้ำอุ่น ห้ามอุ่นนมในน้ำร้อนจัดหรือเข้าไมโครเวฟ เพราะภูมิต้านทานในนมแม่จะสูญเสียไป และเราควรนำนมที่ปั้มเก็บไว้นานที่สุดมาใช้ก่อน โดยนำมาวางไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา 1 คืนให้ละลายก่อนก็ได้ สำหรับนมแม่ที่แช่แข็งแล้วนำมาละลายแล้วหากลูกทานไม่หมดไม่ควรนำกลับไปแช่แข็งอีก หรือนมแม่ที่ละลายแล้วแต่ลูกยังไม่ได้กิน ให้เรารีบนำกลับไปแช่ตู้เย็นใหม่และจะยังสามารถเก็บได้อีก 4 ชั่วโมงหรือจนถึงมื้อต่อไป แต่หากนมที่ละลายแล้ววางที่อุณหภูมิปกติเกิน 1 ชั่วโมง ขอให้ทิ้งไปเลย อย่าเก็บไว้