วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
เขียนโดย
วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์

ประกันสังคมมีประโยชน์อย่างไร ใครมีสิทธิ์ใช้บ้าง

รวมข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคม ใครใช้ได้ คุ้มครองประโยชน์อะไรบ้าง
เผยแพร่ครั้งแรก 31 ก.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
ประกันสังคมมีประโยชน์อย่างไร ใครมีสิทธิ์ใช้บ้าง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ประกันสังคมเป็นประกันชีวิตที่เกิดจากการจ่ายเงินสมทบไปที่กองทุนประกันสังคม ผู้ที่จ่ายเงินสมทบให้กองทุนจะมีสิทธิ์ใช้ประกันสังคมในการดูแลสุขภาพได้ หรือเรียกอีกชื่อว่า “ผู้ประกันตน”
  • โดยปกติบริษัท และสถานประกอบการจะให้ลูกจ้างทำประกันสังคม โดยเงินที่ส่งไปจ่ายสมทบจะหักจากเงินเดือนของลูกจ้างเป็นจำนวน 5% แต่ผู้ทำงานอิสระ หรือฟรีแลนซ์ก็สามารถทำประกันสังคมเองได้เช่นกัน
  • สิทธิประกันสังคมจะมีประโยชน์ในการแบ่งเบาค่าใช้จ่าย เมื่อผู้ประกันตนเกิดอาการเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ เกิดทุพพลภาพ หรือหากตั้งครรภ์ ก็สามารถใช้สิทธิประกันสังคมในการเบิกค่าตรวจครรภ์ และค่าคลอดได้
  • ประกันสังคมที่จ่ายอย่างต่อเนื่องหลายเดือน หรือหลายปี สามารถกลายเป็นเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญในยามชราภาพได้ด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงานต่อแล้ว
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั่วไป

ปัจจุบันการทำประกันชีวิต หรือประกันอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่คนส่วนมากนิยมทำเพื่อให้เป็นประโยชน์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับสุขภาพ

นอกจากเหนือจากประกันของบริษัทเอกชนที่หลายคนหาซื้อไว้เอง มีเงื่อนไขกับราคาแตกต่างกันไป ภาครัฐเองก็มีประกันชีวิตที่ช่วยคุ้มครองผลประโยชน์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพเช่นเดียวกัน โดยมีชื่อเรียกว่า “ประกันสังคม”

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ความหมายของประกันสังคม

ประกันสังคม หมายถึง หลักประกันชีวิตซึ่งเกิดจากการจ่ายเงินสมทบให้กับทางกองทุนประกันสังคมทุกเดือน

เมื่อผู้จ่ายเงินสมทบ หรือที่เรียกว่า “ผู้ประกันตน” มีเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ เช่น เจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ คลอดบุตร เงินจากกองทุนประกันสังคมที่จ่ายไปก็จะสามารถนำมาเบิกจ่าย หรือคุ้มครองสิทธิประโยชน์ในการรักษาบางอย่างเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ประเภทของผู้ประกันตน

ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบให้กับกองทุนประกันสังคมมีหลายประเภทด้วยกัน ได้แก่

  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คือ ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างซึ่งทำงานให้กับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 1 คน
  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 คือ อดีตผู้ประกันตามมาตรา 33 ที่ลาออกมาแล้ว และสมัครใจจะส่งเงินสมทบไปที่กองทุนประสังคมต่อไปเพื่อรักษาสิทธิประกันสังคมเอาไว้
  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คือ บุคคลทำงานอิสระ เป็นแรงงานนอกระบบ หรือเรียกทั่วไปว่า “ฟรีแลนซ์”

วิธีการขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าร่วมประกันสังคม

การเข้าสู่ระบบประกันสังคมจะเริ่มต้นเมื่อคุณได้เข้าไปทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัท หรือสถานประกอบการ หลังจากนั้นนายจ้างจะขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้ โดยสามารถขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานประกันสังคมประจำจังหวัด หรือในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

หรือนายจ้างสามารถขึ้นทะเบียนได้ที่ www.sso.go.th ได้เช่นกัน โดยเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียน ได้แก่

  • บัตรประจำตัวประชาชนลูกจ้าง ในกรณีในลูกจ้างเป็นคนไทย แต่หากเป็นคนต่างด้าว ให้ใช้ใบอนุญาตทำงานแทน
  • แบบฟอร์มขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03) ซึ่งต้องกรอกทั้งในลูกจ้างที่ไม่เคยเข้าระบบ หรือขึ้นทะเบียนประกันสังคม และลูกจ้างที่เคยขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาแล้ว

การหักเงินเพื่อเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

เงินสมทบคือ เงินที่นายจ้าง และลูกจ้างต้องแบ่งจากเงินเดือนเพื่อนำส่งไปสมทบให้กับกองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยนายจ้างจะเป็นผู้หักเงินออกจากเงินเดือนลูกจ้างเป็นจำนวน 5% ของจำนวนเงินเดือน และเป็นผู้ส่งเงินไปให้กองทุนประกันสังคมเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

โดยเงินสมทบ 5% ที่ถูกหักไป จะประกอบไปด้วยสิทธิประโยชน์ดังนี้

  • สิทธิประโยชน์เมื่อเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ หรือตาย เป็นจำนวน 1.5%
  • สิทธิประโยชน์เพื่อสงเคราะห์บุตร และเมื่อยามชราภาพ เป็นจำนวน 1.5%
  • สิทธิประโยชน์เมื่อว่างงาน เป็นจำนวน 0.5%

ยังไม่มีเหตุให้ต้องใช้สิทธิประกันสังคม แล้วเงินที่จ่ายไปอยู่ที่ไหน?

หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วระหว่างที่จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไปทุกเดือน หากไม่ได้เจ็บป่วย หรือเกิดเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพอะไร จะยังได้รับประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมหรือไม่

คำตอบ คือ ผู้ประกันตนยังคงมีสิทธิเข้าถึงประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมอยู่ ถึงแม้จะไม่ได้เจ็บป่วย หรือมีเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพใดๆ เพราะถือว่า ยังจ่ายเงินเข้ามาสมทบทุนกองประกันสังคมอยู่ตลอด ผู้ประกันตนรายนั้นจึงยังคงเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมอยู่เหมือนเดิม

โดยในระหว่างที่ผู้ประกันตนรายอื่นๆ ยังไม่ได้ใช้สิทธิในประกันสังคมของตนเอง เงินที่ทุกคนแบ่งจ่ายเข้ามาก็จะถูกนำไปใช้เพื่อจ่าย และให้สิทธิประโยชน์กับสมาชิกกองทุนประกันสังคมคนอื่นๆ ที่มีค่าใช้จ่ายจากเหตุจำเป็นด้านสุขภาพ

หลายคนอาจคิดว่า การจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมดูจะไม่คุ้มค่ากับอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง และคิดว่า คงไม่น่าได้ใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ แต่ความจริงแล้ว การจ่ายเงินสมทบประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถเข้าถึงผลประโยชน์ได้ในวันที่คุณไม่คาดคิดมาก่อน

เพราะการใช้สิทธิประกันสังคมทุกกรณี จะต้องมีการตรวจสอบประวัติการส่งเงินสมทบย้อนหลังว่า มีระยะเวลาตามที่กองทุนกำหนดหรือไม่ หากขาดการส่งเงินสมทบตามที่กำหนด ก็จะไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • กรณีเจ็บป่วย ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนมาใช้บริการด้านการแพทย์
  • กรณีคลอดบุตร ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันคลอดบุตร
  • กรณีทุพพลภาพ ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนเกิดเหตุทำให้ทุพพลภาพ
  • กรณีตาย ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วครบ 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย
  • กรณีสงเคราะห์บุตร ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือนก่อนได้สิทธิรับประโยชน์ทดแทน
  • กรณีว่างงาน ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน

สถานพยาบาลสำหรับใช้สิทธิประกันสังคม

ผู้ประกันตนสามารถเลือกสถานพยาบาลสำหรับเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้ถึง 3 แห่ง โดยอาจพิจารณาถึงความง่ายต่อการเดินทาง หรืออยู่ใกล้ที่พัก อยู่ในพื้นที่ภูมิลำเนาที่เข้าถึงได้ง่าย

หรือในเวลาต่อมา หากผู้ประกันมีการย้ายงาน หรือย้ายที่อยู่อาศัย ซึ่งทำให้มีเหตุจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานพยาบาลที่ใช้สิทธิประกันสังคม ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่มีข้อจำกัดในการเปลี่ยนแค่ปีละ 1 ครั้ง และสามารถเปลี่ยนได้แค่ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคมของทุกปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การเลือกสถานพยาบาลสำหรับสิทธิประกันสังคมก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพแล้วจะต้องมารับบริการที่โรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งนี้เท่านั้น คุณสามารถไปเลือกใช้บริการที่โรงพยาบาลอื่นได้เช่นกัน แต่ก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ประกันสังคมกำหนดไว้ 

นั่นหมายถึง อาจต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วจึงมาเบิกกับประกันสังคมในภายหลัง รวมทั้งมีข้อจำกัดในการจ่ายค่ารักษาเพิ่มเติม เช่น สามารถใช้สิทธิประกันสังคมรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนได้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง จากนั้นต้องย้ายไปรักษาในโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้  

สิทธิประโยชน์ที่ประกันสังคมคุ้มครอง

สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนทั้ง 3 ประเภทจะแตกต่างกันไป ในที่นี้เราจะกล่าวถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันมาตรา 33 ได้แก่

1. สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย

ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนเกิดอาการเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษา หรือรับบริการด้านการแพทย์ในโรงพยาบาลที่ตนเองเลือกไว้ในประกันสังคมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

แต่ในกรณีที่ผู้ประกันไม่สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลซึ่งตนเองเลือกไว้ได้ ทางสำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาจ่ายค่าบริการด้านการแพทย์ตามความเหมาะสม เช่น

หากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก จะจ่ายค่าบริการตามความจำเป็น แต่หากเป็นผู้ป่วยใน จะจ่ายค่าบริการตามความจำเป็นภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงแรก ไม่รวมระยะเวลาในวันหยุดราชการ

หากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ในกรณีผู้ป่วยนอก จะจ่ายค่าบริการไม่เกิน 1,000 บาทต่อครั้ง ส่วนผู้ป่วยในจะพิจารณาเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็นภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงแรก ไม่รวมวันหยุดราชการ เช่น 

  • ค่ารักษาพยาบาลไม่เกินวันละ 2,000 บาท 
  • ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่เกิน 1,000 บาท

ในกรณีการทำทันตกรรม หากผู้ประกันตนมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน และเลือกไปรับบริการทางทันตกรรม เช่น อุดฟัน ผ่าตัดฟันคุด ถอนฟัน ที่โรงพยาบาลซึ่งตนเองเลือกไว้สำหรับใช้สิทธิประกันสังคม ก็สามารถเบิกค่าบริการด้านการแพทย์เท่าที่จำเป็นได้ในอัตราไม่เกิน 900 บาทต่อปี และต่อคน

หรือในกรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ ก็สามารถเบิกค่าบริการด้านการแพทย์ และค่าทำฟันเทียมได้ไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่เริ่มใส่ฟันเทียม

นอกจากนี้ผู้ประกันตนยังสามารถเข้าร่วมการตรวจสุขภาพได้ที่โรงพยาบาลซึ่งเข้าร่วมประกันสังคมทุกแห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยรายละเอียดที่สามารถตรวจได้ จะได้แก่

  • การตรวจสุขภาพตา
  • การตรวจค่าสายตา
  • การตรวจคัดกรองการได้ยิน
  • การตรวจเต้านม
  • การเอกซเรย์ทรวงอก
  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  • การตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจไขมัน และคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด
  • การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ
  • การตรวจมะเร็งปากมดลูก

ในกรณีผู้ประกันตนประสบอุบัติเหตุร้ายแรง หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินในขั้นวิกฤต ผู้ประกันตน หรือผู้ช่วยเหลือสามารถนำส่งผู้ประกันไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

แต่ผู้ประกันตน หรือผู้ช่วยเหลือสามารถไปที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อรับการรักษาก่อนได้ แล้วทางสำนักงานประกันสังคมจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาจนกว่าผู้ประกันตนจะพ้นวิกฤตอันตรายภายในเวลา 72 ชั่วโมง

2. สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร

ผู้ประกันตนหญิงสามารถคลอดบุตรที่โรงพยาบาลแห่งใดก็ได้ จากนั้นนำสำเนาสูติบัตรของบุตร และบัตรประจำตัวประชาชนของตนเองไปเบิกรับค่าคลอดแบบเหมาจ่ายที่สำนักงานประกันสังคมเป็นจำนวน 13,000 บาท

นอกจากนี้ผู้ประกันตนหญิงตั้งครรภ์ยังจะได้รับเงินสงเคราะห์สำหรับใช้ในระหว่างหยุดงานเพื่อคลอดบุตรด้วยในอัตรา 50% ของเงินเดือนเป็นเวลา 90 วัน

ผู้ประกันตนชายที่มีภรรยากำลังจะตั้งครรภ์ก็สามารถนำใบสูติบัตรของบุตรกับสำเนาทะเบียนสมรส หรือหนังสือรับรองกรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมาเบิกค่าคลอดที่สำนักงานประกันสังคมได้ โดยจะได้รับเงินเป็นค่าคลอดแบบเหมาในจำนวนเท่ากัน คือ 13,000 บาท

แต่ในกรณีที่คู่สามีภรรยาเป็นผู้ประกันตนในประกันสังคมทั้งคู่ จะสามารถเบิกค่าคลอดได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

ส่วนในระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ และต้องไปฝากครรภ์กับแพทย์ หรือตรวจครรภ์ตามระยะเวลาที่กำหนด ทางสำนักงานประประกันสังคมจะจ่ายให้เป็นครั้งๆ ไป ได้แก่

  • ครั้งที่ 1: หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถเบิกได้ไม่เกิน 500 บาท
  • ครั้งที่ 2: หากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่ถึง 20 สัปดาห์ สามารถเบิกได้ไม่เกิน 300 บาท
  • ครั้งที่ 3: หากอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่ถึง 28 สัปดาห์ สามารถเบิกค่าตรวจครรภ์ได้ไม่เกิน 200 บาท

3. สิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพ

สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ทุพพลภาพจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  • กรณีทุพพลภาพระดับสูญเสียไม่รุนแรง ในผู้ที่ยังทำงานได้ แต่มีความสามารถ หรือประสิทธิภาพในการทำงานลดลงจนรายได้ลดลงไปด้วย จะได้รับเงินทดแทนรายได้ส่วนที่ลดลงไม่เกิน 30% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 เดือน
    ส่วนผู้ที่ทุพพลภาพจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และขาดรายได้ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในส่วนนั้นๆ 30% ตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 เดือน
  • กรณีทุพพลภาพระดับสูญเสียรุนแรง จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของเงินเดือนเฉลี่ยไปตลอดชีวิต

ผู้ทุพพลภาพที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล การเบิกค่ารักษา หรือค่าบริการด้านการแพทย์จะขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชน

  • โรงพยาบาลรัฐ หากเป็นผู้ป่วยนอก จะสามารถเบิกค่าบริการด้านการแพทย์ได้เท่าที่จำเป็น แต่สำหรับผู้ป่วยใน จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย
  • โรงพยาบาลเอกชน หากเป็นผู้ป่วยนอก จะสามารถเบิกค่าบริการด้านการแพทย์ได้ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท ส่วนผู้ป่วยในจะเบิกได้ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท

4. สิทธิประโยชน์กรณีตาย

ผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตาย ญาติของผู้ประกันตนจะได้รับเงินค่าทำศพเป็นจำนวน 40,000 บาท และได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มเติม ซึ่งมีเงื่อนไขต่อไปนี้

  • กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ 50% ของเงินเดือนเฉลี่ย 4 เดือน
  • กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 120 เดือนขึ้นไป จะได้เงินสงเคราะห์ 50% ของเงินเดือนเฉลี่ย 12 เดือน

5. สิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร

หากผู้ประกันตนมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และจ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือนภายใน 36 เดือนก่อนจะใช้สิทธิ จะสามารถรับเงินสงเคราะห์บุตรเป็นจำนวนเหมาจ่ายได้เดือนละ 600 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน และสามารถรับเงินได้คราวละไม่เกิน 3 คน

สิทธิประโยชน์ข้อนี้จะสามารถใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิดไปจนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีอายุครบ 6 ขวบบริบูรณ์เท่านั้น

6. สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ

สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนที่ชราภาพ จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบไปที่กองทุนประกันสังคม ได้แก่

เงินบำเหน็จชราภาพ

  • หากจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบส่วนที่ผู้ประกันตนจ่ายไป (ไม่รวมเงินสมทบส่วนที่นายจ้างจ่าย)
  • หากจ่ายเงินสมทบ 12 เดือนขึ้นไป แต่ยังไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบของผู้ประกันตน และเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายด้วย พร้อมทั้งจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมจากสำนักงานประกันสังคมอีก

เงินบำนาญชราภาพ

  • หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือนแล้ว จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นจำนวน 20% ของเงินเดือน 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานคำนวณเงินสำหรับแบ่งจ่ายเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
  • หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ทางกองทุนประกันสังคมจะปรับอัตราเงินบำนาญจากในข้อแรกขึ้นอีก 1.5% ต่อระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน

ลักษณะการจ่ายเงินทั้ง 2 อย่างนี้จะแตกต่างกันด้วย โดยเงินบำเหน็จชราภาพจะจ่ายเป็นเงินก้อนเดียวเพียงครั้งเดียว แต่เงินบำนาญชราภาพจะจ่ายเป็นเงินรายเดือนไปตลอดชีวิต

ส่วนในกรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือนตั้งแต่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ทายาทของผู้รับเงินบำนาญจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่เคยได้รับมาจนเมื่อเสียชีวิต

7. สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน

  • กรณีถูกเลิกจ้าง ในระหว่างว่างงานผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนจากการขาดรายได้ 50% ของเงินเดือนที่เคยได้รับ โดยจะได้รับเงินทดแทนครั้งละไม่เกิน 180 วัน
  • กรณีลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินทดแทนในระหว่างว่างงาน 30% ของเงินเดือนที่เคยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน
  • กรณีไม่ได้ทำงานจากเหตุสุดวิสัย เช่น เกิดโรคระบาด เกิดภัยธรรมชาติ ซึ่งทำให้ทั้งนายจ้าง และลูกจ้างไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ จะได้เงินทดแทนระหว่างที่ขาดรายได้ หรือว่างงาน 50% ของเงินเดือน ครั้งละไม่เกิน 180 วัน

จะเห็นได้ว่า สิทธิประกันสังคมนั้นให้ประโยชน์มากมายในช่วงเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือขาดรายได้ คุณจึงไม่ควรมองข้ามผลประโยชน์เหล่านี้ที่จะช่วยเหลือคุณได้ในยามเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น

หากมีข้อสงสัยอื่นๆ เกี่ยวกับสิทธิประกันสังคม สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนเบอร์ 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั่วไป จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานประกันสังคม, คู่มืองานทะเบียนและสิทธิบริการทางการแพทย์ (https://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/d828a7ad22ee2675024d6b3102ef55f7.pdf), 29 กรกฎาคม 2563.
สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน, กองทุนประกันสังคม (https://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/45e217178d3833079890a2541305fc78.pdf), 29 กรกฎาคม 2563.
สำนักงานประกันสังคม, คู่มือผู้ประกันตน (https://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/168d83800f111b11586c74980585901b.pdf), 29 กรกฎาคม 2563.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
อาหารต้านเชื้อราแคนดิดา (Candida Diet)
อาหารต้านเชื้อราแคนดิดา (Candida Diet)

หากจำนวนเชื้อราแคนดิดาในร่างกายมีมากเกินไป อาจนำไปสู่การติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อ่านเพิ่ม
10 วิธีหยุดอาการกรดไหลย้อนด้วยตนเอง
10 วิธีหยุดอาการกรดไหลย้อนด้วยตนเอง

หยุดอาการแสบร้อนยอดอก หยุดกรดไหลย้อน คุณทำได้ด้วยตนเองตามคำแนะนำนี้

อ่านเพิ่ม
มาตรฐาน การอบประคบสมุนไพร : การอบสมุนไพร
มาตรฐาน การอบประคบสมุนไพร : การอบสมุนไพร

ภูมิปัญญาไทยที่ทรงคุณค่า บรรเทาอาการเจ็บป่วย รักษาโรค และบำรุงสุขภาพได้ หากใช้อย่างถูกวิธี

อ่านเพิ่ม