อาการปวดหลังจากที่นอนเกิดจากอะไร วิธีการเลือกซื้อที่นอน

เผยแพร่ครั้งแรก 18 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
อาการปวดหลังจากที่นอนเกิดจากอะไร วิธีการเลือกซื้อที่นอน

อาการปวดหลังจากที่นอนเกิดจากอะไร วิธีการเลือกซื้อที่นอน

อาการปวดหลังจากที่นอนเป็นอาการที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ที่สามารถหายเองได้ เพียงแค่รับประทานยา ทายา หรือไปนวดเดี๋ยวก็หาย บางคนที่มีอาการปวดหลังบ่อยๆ ก็อาจจะคิดว่าน่าจะเกิดจากการยกของหนักหรือนั่งผิดท่า แต่สาเหตุที่แท้จริงแล้วกลับมาจากการนอนผิดท่าหรือที่นอนไม่เหมาะสมกับสรีระนั่นเอง

ที่นอนแต่ละอันไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน

เมื่อเรานอนหลับเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมงในตอนกลางคืน ถ้ากล้ามเนื้อ กระดูก และเส้นเอ็นของเราไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม พอตื่นนอนขึ้นมาจะก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามตัวหรือปวดกล้ามเนื้อ และอาจถึงขั้นร้ายแรงที่ทำให้กล้ามเนื้อแผ่นหลังอักเสบได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • ที่นอนแบบรองรับน้ำหนักได้ทั้งตัว ที่นอนแบบนี้จะช่วยให้แนวเส้นของลำตัวอยู่ในแนวตรงขนานกับที่นอน โดยไม่สร้างแรงกดทับให้กับบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ไม่ว่าเราจะนอนในท่าใดก็ตาม ทำให้เราไม่มีอาการปวดหลังจากที่นอน
  • ที่นอนนิ่มเกินไป ที่นอนแบบนี้จะยุบตัวลงมากที่บริเวณกลางลำตัวของเรา เนื่องจากบริเวณนี้จะมีน้ำหนักมากกว่าที่อื่น ซึ่งทำให้ที่นอนกลายเป็นแอ่งขณะเรานอนหลับโดยไม่รู้ตัว และส่งผลให้เกิดแรงกดทับต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงกระดูกสันหลังอยู่ในลักษณะโค้งทั้งคืน จึงทำให้ตื่นนอนแล้วมีอาการปวดหลังหรือปวดเมื่อยตามตัว
  • ที่นอนแข็งเกินไป ที่นอนแบบนี้จะทำให้แนวเส้นกลางลำตัวโค้งงอ เนื่องจากไม่มีพื้นที่รองรับสรีระที่เหมาะสมนั่นเอง และส่งผลให้เกิดแรงกดทับต่อกระดูกและกล้ามเนื้อเช่นกัน ทำให้มีอาการปวดหลังไม่แตกต่างจากที่นอนที่มีความนิ่มเกินไป

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีที่นอนอันไหนที่ดีที่สุด หรือตอบสนองต่อความต้องการของทุกคนได้ เพราะที่นอนที่ดีจะต้องเหมาะสมกับสรีระและรูปร่าง สามารถรองรับระหว่างร่างกายกับที่นอนได้ดี ทำให้นอนหลับสบาย โดยไม่ก่อให้เกิดอาการปวดหลังจากที่นอน

วิธีการเลือกซื้อที่นอน

ในแต่ละวันเราใช้เวลาหมดไปกับการนอนหลับมากถึง 8 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของแต่ละวัน ดังนั้นการเลือกซื้อที่นอนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถนอนหลับสนิทและนอนหลับสบายตลอดทั้งคืน ซึ่งทำให้เราตื่นนอนขึ้นมาด้วยความสดชื่น จิตใจแจ่มใส พร้อมที่จะทำกิจกรรมได้ตลอดทั้งวัน เพราะฉะนั้นเราจึงมีวิธีการเลือกซื้อที่นอนมาแนะนำที่จะช่วยให้เราห่างไกลจากอาการปวดหลังจากที่นอนได้

ขนาดที่นอน

ควรเลือกขนาดที่นอนให้เหมาะสมกับผู้นอนและขนาดของห้องนอน โดยผู้ที่มักจะนอนดิ้นเป็นประจำจะได้มีพื้นที่ให้พลิกตัวมากขึ้น ซึ่งขนาดที่นอนที่วางขายในบ้านเราจะมีตั้งแต่ขนาด 3.5 ฟุต 5 ฟุต 6 ฟุต 6.5 ฟุต และ 7 ฟุต

ประเภทของที่นอน

ที่นอนแต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติและข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • ที่นอนยางพารา เป็นที่นอนที่มีราคาสูงที่สุด แต่มีอายุการใช้งานอย่างยาวนานมากถึง 20 ปี ซึ่งที่นอนที่ทำจากยางพาราแท้ 100% โดยไม่มีวัสดุอื่นผสม จะมีน้ำหนักมาก โดยไม่จำเป็นต้องยกพลิกสลับด้านหรือนำไปตากแดดเหมือนที่นอนประเภทอื่นๆ เพราะที่นอนยางพารามีคุณสมบัติไม่เก็บกักฝุ่นละอองหรือความชื้น ทำให้ไม่มีกลิ่นอับ อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นสูง มีความนุ่มกำลังดี ไม่ยุบตัวเป็นแอ่งตรงบริเวณที่นอน
  • ที่นอนสปริง เป็นที่นอนที่มีราคารองลงมา แต่ยังคงให้ความยืดหยุ่นและการคืนตัวที่ดีใกล้เคียงกับที่นอนยางพารา เนื่องจากตัวสปริงที่อยู่ในที่นอนจะสามารถรองรับสรีระได้ดี เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบนอนตะแคง เพราะสปริงจะยุบตัวลงตามน้ำหนักบริเวณนั้น ทำให้ไม่เกิดการกดทับ เราจึงไม่รู้สึกปวดไหล่หรือมีอาการปวดหลังจากที่นอน แต่ควรศึกษาสปริงแต่ละชนิดที่นำมาผลิตที่นอน ซึ่งจะมีผลอย่างยิ่งกับเตียงคู่
  • ที่นอนฟองน้ำ เป็นที่นอนที่มีความนิ่มเป็นหลัก โดยมีความยืดหยุ่นและการคืนตัวได้ไม่ดีเท่ากับที่นอนยางพาราหรือที่นอนสปริง อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานสั้นกว่าที่นอนประเภทอื่นๆ ซึ่งไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลังจากที่นอน เพราะที่นอนประเภทนี้จะนิ่มและยวบโดยไม่มีแรงต้านการรองรับสรีระได้ดีเท่าที่นอนสปริง หรือถ้าจำเป็นต้องซื้อที่นอนฟองน้ำ ควรเลือกให้มีความหนามากขึ้นและตัวฟองน้ำมีความหนาแน่นพอสมควร
  • ที่นอนใยมะพร้าวเป็นที่นอนที่ผลิตมาจากใยมะพร้าวนำมาขึ้นรูปด้วยการอัดแน่นจากกาว จึงทำให้ที่นอนมีความแน่น แข็ง และทึบ ไม่อ่อนยวบหรือยุบตัวง่าย แต่ถ้าที่นอนมีการเสื่อมคุณภาพแล้วก็ไม่ควรนำมาใช้ต่อ โดยเฉพาะมีการฉีกขาดของผ้าหุ้มภายนอก เพราะใยมะพร้าวจะเป็นขุยผง ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ

วิธีการเลือกซื้อที่นอนที่ดีคือ ผู้ที่จะนอนควรไปเลือกซื้อที่นอนด้วยตัวเอง เนื่องจากเป็นผู้ตัดสินใจได้ดีที่สุดว่าเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ เพราะปัจจุบันนี้ทางร้านขายที่นอนจะมีที่นอนตัวอย่างให้ลองทดสอบการนอนประมาณ 5 – 20 นาที ว่ารู้สึกสบายตัวหรือไม่ ซึ่งระยะเวลานี้เองที่จะช่วยให้ที่นอนปรับเข้ากับสรีระของเราได้ดีที่สุดนั่นเอง และเป็นการป้องกันอาการปวดหลังจากที่นอนอีกด้วย


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Best Mattress for Lower Back Pain. WebMD. (https://www.webmd.com/back-pain/best-mattress-for-lower-back-pain#1)
What type of mattress is best for people with low back pain?. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/pain/what-type-of-mattress-is-best-for-people-with-low-back-pain)
The 8 Best Mattresses for Back Pain of 2020. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/best-mattresses-for-back-pain-4172685)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป