สมาธิบกพร่องในผู้ใหญ่
ปัจจุบันผู้ใหญ่หลายคนกำลังเผชิญกับโรคสมาธิบกพร่องอย่างไม่รู้ตัว ทำให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรม การทำงาน อารมณ์ การเข้าสังคม และรวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ส่งผลให้การทำงานไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรหรือไม่รุ่งโรจน์ก้าวหน้าได้อย่างที่หวัง เราจะทราบได้อย่างไรว่ามีอาการของโรคสมาธิบกพร่อง เรามาสำรวจตัวเองจากอาการดังต่อไปนี้ค่ะ
- เป็นคนใจร้อน โผงผาง ชอบโวยวาย
- โกรธ หงุดหงิดง่าย หายเร็ว
- ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่คิดก่อนทำ หุนหันพลันแล่น
- อดทนต่อความรู้สึกอึดอัด / เครียด /สิ่งที่ทำให้เกิดความคับข้องใจได้น้อย
- วอกแวกง่าย ไม่มีสมาธิจดจ่อในสิ่งที่กำลังทำ
- ไม่ชอบรอคอยอะไรนานๆ
- ทำงานหลายชิ้นในเวลาเดียวกัน แต่ไม่สำเร็จสักชิ้น
- ขาดการบริหารจัดการเวลาที่ดี หรือแบ่งเวลาไม่เป็น
- ชอบผัดวันประกันพรุ่ง
- นั่งอยู่นิ่งๆได้ไม่นาน ชอบนั่งเขย่าขา แกว่งขา แคะโน่น เกานี่หรือลุกเดินบ่อยๆ
- รู้สึกเบื่อง่าย ต้องให้มีสิ่งเร้ามากระตุ้นตัวเองเสมอ
- ไม่มีระเบียบทั้งที่บ้านและที่ทำงาน รวมทั้งขาดระเบียบวินัยในตนเอง
- เปลี่ยนงานบ่อยเนื่องจากความสะเพร่าไม่เอาใจใส่
- มีอารมณ์ ความคิดพฤติกรรมเข้าข่ายตีตนไปก่อนไข้แบบกระต่ายตื่นตูม
- มาสาย ผิดนัดหรือลืมทำเรื่องสำคัญอยู่เสมอๆ
- มีปัญหากับบุคคลรอบข้างเช่น สามี ภรรยา ญาติพี่น้อง หัวหน้า เพื่อนร่วมงานอยู่บ่อยๆ
- มีประวัติเป็นโรคสมาธิบกพร่องในวัยเด็กมาก่อน
หากสำรวจแล้วพบว่ามีอาการใดอาการหนึ่งและอาการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตัวเองและบุคคลรอบข้างแสดงได้ว่าคุณกำลังเผชิญอยู่กับโรคสมาธิบกพร่องแล้ว โรคสมาธิบกพร่องในผู้ใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยยาการทำจิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด การฝึกทักษะทางสังคมการฝึกควบคุมอารมณ์และผ่อนคลายทางอารมณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณมีสมาธิในภาวะที่ปกติสมาธิจะเป็นพลังรวมความคิด อารมณ์ ความรู้สึกเอาไว้ทำให้คุณสามารถประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆได้ตามที่คาดหวัง และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลรอบข้างได้อย่างเป็นสุข