“ขี้หู” แม้จะดูเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ แต่แท้จริงแล้วมีความสำคัญต่อร่างกายเรามาก เพราะขี้หูเป็นเหมือนด่านแรกที่ช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอม และเชื้อโรค ไม่ให้เข้าไปในหูได้ แต่เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่ามีขี้หูผิดปกติ เช่น ขี้หูเยอะ หรือขี้หูเหลวเป็นน้ำไหลออกมาจากหู และมีกลิ่นเหม็น นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับหูของเรา
ลักษณะของขี้หูผิดปกติ
ลักษณะของขี้หูจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนอาจมีขี้หูแห้ง สีเหลืองซีด หรือบางคนอาจมีขี้หูเปียก สีน้ำตาลเข้มก็ได้ แต่ขี้หูผิดปกตินั้นจะมีลักษณะเหมือนกัน ได้แก่
ตรวจโควิด-19 (COVID-19) วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1188 บาท ลดสูงสุด 7500 บาท
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

- ขี้หูเปียกกว่าปกติ หรือเหลวเป็นน้ำ ไหลออกมาจากหู
- ขี้หูมีลักษณะคล้ายหนอง สีขุ่น และมีเลือดปน
- ขี้หูมีกลิ่นเหม็น
- ขี้หูมีสีผิดปกติจากที่เคยเป็น
- ขี้หูแห้งเป็นสะเก็ดอยู่ในช่องหู
- ไม่มีขี้หูเลย (การไม่มีขี้หูเลยเป็นเรื่องอันตราย เพราะไม่มีสิ่งป้องกันหูชั้นใน)
การมีขี้หูผิดปกตินั้นมักมาพร้อมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดหู คันหู ไปจนถึงปวดศีรษะ หากพบขี้หูในลักษณะดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ขี้หูผิดปกติบ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง
หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis externa)
- หูชั้นนอกอักเสบ สาเหตุมักมาจากการติดเชื้อจากแผลที่เกิดจากการแคะหู หรือมีน้ำสกปรกเข้าหู ทำให้หูชั้นนอกอักเสบและเป็นหนอง
- อาการที่พบบ่อยคือ ใบหูและรูหูบวมแดง กดเจ็บ มีของเหลวไหลออกมาจากหู มีกลิ่นเหม็น และทำให้หูอื้อ บางรายอาจมีไข้ และต่อมน้ำเหลืองหลังหูโตร่วมด้วย ซึ่งการอักเสบอาจลุกลามไปถึงหูชั้นกลางได้
หูชั้นกลางอักเสบ หรือหูน้ำหนวก (Otitis media)
- หูชั้นกลางอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่ลุกลามมาจากความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ และการอักเสบที่หูชั้นนอก
- อาการที่พบคือ ปวดในหูรุนแรง มีของเหลวใส หรือขุ่นข้นคล้ายหนอง ไหลออกมาจากหูเยอะมาก มีกลิ่นเหม็น และการได้ยินลดลง นอกจากนี้มักมีอาการปวดศีรษะและไข้สูงร่วมด้วย
มะเร็งหู (Ear cancer)
- มะเร็งหูสามารถเกิดได้กับเนื้อเยื่อหูชั้นนอกและชั้นกลาง ซึ่งพบได้น้อยมาก โดยเซลล์มะเร็งจะเป็นชนิดเดียวกับมะเร็งผิวหนัง
- อาการที่พบคือ มีก้อนเนื้อสีคล้ำคล้ายกระเกิดที่ใบหู เป็นแผลเรื้อรังในหู ปวดหูรุนแรง มีน้ำไหลออกมาจากหูคล้ายโรคหูน้ำหนวก มีเลือดปน มีก้อนเนื้ออุดกั้นในหู ส่งผลให้การได้ยินลดลง และมะเร็งอาจลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณหูได้
มีของเหลวคั่งค้างในหู
การมีของเหลวคั่งค้างในหู หรือที่คนส่วนใหญ่มักเรียกกันว่า น้ำเข้าหู มักเกิดเวลาอาบน้ำ สระผม ว่ายน้ำ หรือดำน้ำ ทำให้เกิดอาการหูอื้อ มีน้ำใสๆ ไหลออกมาจากรูหู ซึ่งหากปล่อยไว้นานก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และกลายเป็นโรคหูอักเสบได้
มีขี้หูอุดตัน
- เกิดจากการใช้ของแข็งแคะหูบ่อยๆ จนรูหูระคายเคือง ทำให้กระตุ้นการสร้างขี้หูมากขึ้น ซึ่งขี้หูเหล่านี้จะถูกดันให้ลึกเข้าไปทุกครั้งที่แคะหูจนทำให้ทำความสะอาดได้ลำบาก และสะสมจนเกิดการอุดตันนั่นเอง
- อาการที่พบบ่อยคือ ช่องหูแคบลง ขี้หูแห้งติดกับรูหู หรือลอกเป็นขุย จนบางครั้งไม่มีขี้หูเลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี เพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าไปในหูได้ง่าย
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
ความผิดปกติที่เป็นสัญญาณว่า ควรรีบไปพบแพทย์หู คอ จมูกทันทีคือ การมีขี้หูผิดปกติตามลักษณะที่กล่าวมาเป็นเวลาเกิน 2-3 วัน และมีอาการปวดหู คันหูรุนแรง มีไข้ ปวดศีรษะ และการได้ยินลดลงร่วมด้วย
ไม่ควรเพิกเฉยต่ออาการที่เกิดขึ้น เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาจทำให้อาการรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการได้ยินถาวรได้
การรักษาโรคที่มีอาการขี้หูผิดปกติ
วิธีการรักษาโรคที่มีอาการขี้หูผิดปกติจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ เช่น
- หากมีน้ำคั่งค้างในหู หรือมีของเหลวในหูมาก แพทย์จะใช้เครื่องมือดูดน้ำออกจากหู
- หากมีอาการหูอักเสบ หรือปวดหู แพทย์จะให้ยาหยอดหู เช่น ยาโซฟราเดกซ์ (Sofradex) เพื่อรักษาอาการอักเสบ รวมถึงให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
- หากเป็นโรคหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลางอักเสบ และมีหนองภายในหู แพทย์จะใช้เครื่องมือดูดหนองออก หรือใช้วิธีผ่าเจาะแก้วหู และสอดท่อ เพื่อให้ของเหลวในหูไหลออกมา
- หากติดเชื้อแบคทีเรียในหู แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin)
- หากเป็นมะเร็งหูจะต้องรักษาเหมือนมะเร็งทั่วไปคือ ผ่าตัดก้อนเนื้อในหูออก ใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี
ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีขี้หูผิดปกติ
หากพบว่าขี้หูมีลักษณะผิดแผกไปจากเดิมให้รีบมาพบแพทย์ทันที และระหว่างเข้ารับการรักษา ควรปฏิบัติตัวดังนี้
- หลีกเลี่ยงการแคะหูด้วยอุปกรณ์แข็งๆ หากต้องการทำความสะอาดหู ให้ใช้ก้านพันสำลีเช็ดเบาๆ เท่านั้น
- รับประทานยา หรือใช้ยาหยอดหู เป็นประจำตามที่แพทย์แนะนำ
- งดกิจกรรมที่อาจทำให้น้ำสกปรกเข้าหู เช่น การว่ายน้ำ ดำน้ำ
- ไม่ซื้อยาหยอดหูมาใช้เอง ยกเว้นได้รับคำแนะนำจากแพทย์
การป้องกันอาการขี้หูผิดปกติ
วิธีป้องกันอาการขี้หูผิดปกติคือ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดขี้หูผิดปกติ เช่น
- ไม่แคะหูบ่อยๆ หรือแคะหูรุนแรง เพราะจะทำให้หูอักเสบได้
- ระวังอย่าให้น้ำเข้าหู เช่น ขณะอาบน้ำควรใช้หมวกคลุมปิดมาถึงหู เมื่อดำน้ำ หรือว่ายน้ำ ควรใส่ที่อุดรูหู (Ear plug)
- ดูแลความสะอาดของหู โดยใช้ก้านพันสำลีเช็ดทำความสะอาดเบาๆ บริเวณหูชั้นนอกเป็นประจำ
- เมื่อติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ ควรรีบรักษาตัวให้หาย เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อลุกลามไปยังหูได้