หากจะกล่าวถึงผู้สูงอายุ หลายท่านอาจจะยังคงไม่ทราบว่าอายุเท่าใดจึงถือว่าเข้าข่ายเป็นผู้สูงอายุ อันที่จริงแล้ว ผู้สูงอายุก็คือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 - 65 ปีขึ้นไป โดยประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่สัดส่วนของผู้สูงอายุจะมีมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุคือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปรวมทั้งเพศชายและหญิงมากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศและจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์คือ เมื่อมีประชากรอายุ 65 ปี ขึ้นไปมากกว่า 20% ของประเทศซึ่งได้มีการประมาณการไว้ว่าจะอยู่ในช่วง พ.ศ. 2567-2568
ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เรียกว่า “เป็นผู้สูงอายุ”
นอกจากอายุซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดว่าเป็นผู้สูงอายุแล้ว ในส่วนของร่างกายก็จะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยกันหลายส่วน ตั้งแต่การสูญเสียฟัน การได้ยินลดลง ผิวหนังเหี่ยวย่นมากขึ้น สีผมเปลี่ยนเป็นสีขาว ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง ความจำเสื่อมลง ความต้องการทางเพศหมดไป การเคลื่อนไหวได้น้อยลง ช้าลง และต้องใช้เวลามากขึ้น เกิดความเสื่อมหรือทรุดโทรมทางด้านอวัยวะภายในจนในที่สุดก็เสียชีวิต และเมื่อพูดถึงเรื่องของอุบัติเหตุในวัยสูงอายุ ถือว่ามักเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ทีเดียว และเมื่อเกิดขึ้นแล้วมักมีโรคหรือปัญหาแทรกซ้อนตามมา ทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษา ต้องพักฟื้นนาน บางรายเกิดอาการแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มี
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
อุบัติเหตุอะไรบ้างที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ?
การลื่นล้ม
นับเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความไม่ตั้งใจชนิดที่เกิดขึ้นได้สูงกว่าอุบัติเหตุชนิดอื่นๆ โรคที่เกิดหลังจากการลื่นล้มคือกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือเกิดการแตกหัก และเลือดคั่งในสมอง อาการเหล่านี้ล้วนร้ายแรงอาจถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต
อุบัติที่เกิดจากท้องถนน
ซึ่งอาจเกิดจากการเสื่อมถอยของร่างกายของผู้สูงอายุเอง เช่น การรับรู้ทางด้านสายตาและประสาทหูลดลงหรือการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้าจนทำให้ต้องใช้เวลานาน
สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ
1. เกิดจากสภาพร่างกายที่เสื่อมถอย
- ระบบการทรงตัวไม่ดีเพราะหูชั้นในเสื่อมหรือเคลื่อนไหวเร็วไม่ได้ เชื่องช้าจนเกินไป
- หูตึงจนไม่ได้ยินเสียง เช่น เสียงแตรหรือเสียงรถยนต์ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกรถชนอย่างมาก
- สายตาเสื่อมทำให้การมองเห็นแม้ในระยะใกล้ก็แปรเปลี่ยนไปจนเกิดชนเข้ากับสิ่งของและล้มลงได้และหากมีภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุนอยู่ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกแตกหักจนกลายเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงขึ้นได้
- ข้อต่อต่างๆไม่ดีหรืออาจมีความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปราสาทสัมผัสเสื่อม ช่วยเหลือตนเองไม่ค่อยได้หากปราศจากคนดูแลก็จะมีโอกาสเกิดการหกล้มสูง
- ระบบหลอดเลือดหรือหัวใจไม่ดีเป็นโรคประจำตัวเรื้อรังจนส่งผลให้หน้ามืดเป็นลมกะทันหัน หากเกิดในจุดที่เป็นอันตรายอยู่แล้วเช่น บนบันได ก็จะยิ่งส่งให้เป็นอันตรายแก่ผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น
2. สภาพแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุเอง
- ที่อยู่อาศัย ทางเดินชื้นแฉะ รกเกะกะ พื้นบ้านหรือพื้นห้องน้ำอาจลื่นจนเกินไป แสงสว่างของไฟฟ้าในจุดที่สำคัญสว่างไม่เพียงพอ ขั้นบันไดถี่หรือห่างจนเกินไป ก้าวขึ้น-ลงด้วยความลำบาก หรือมีสัตว์เลี้ยงในบ้านเช่น สุนัขและแมวเพ่นพ่าน การจัดวางของในบ้านไม่ดีจนกีดขวางทางเดิน พื้นที่ทางเดินมีจุดที่ต่างระดับกันมากๆก็สามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ทั้งสิ้น
3. เสื้อผ้าหรือของใช้ของผู้สูงอายุ ไม่มีความเหมาะสม
- โดยเฉพาะการสวมใส่เสื้อผ้าที่ยาวรุ่มร่ามจนเกินไป ของใช้ส่วนตัวในกรณีที่ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองไม่ค่อยได้ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น รองเท้าที่มีพื้นสัมผัสลื่นง่าย รถเข็นอยู่ในสภาพไม่ดี ไม้เท้าชำรุด หรือปลายไม้เท้าไม่มีที่กันลื่น เป็นต้น
4. การใช้ยาในผู้สูงอายุ เช่นยาคลายเครียดหรือยานอนหลับ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
5. อารมณ์ของผู้สูงอายุเองก็มีส่วนเช่นเครียดง่าย ฉุนเฉียวง่าย กลัว หรือชอบวิตกกังวล
6. หากมีประวัติการหกล้มมาก่อน ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติซ้ำสูงเป็น 2 เท่าของผู้สูงอายุท่านอื่นที่ไม่เคยมีประวัติ
7. หากผู้สูงอายุเป็นผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ค่อยได้ เมื่อขาดคนดูแลก็อาจเกิดอุบัติได้ง่ายกว่าผู้สูงอายุที่ยังคงช่วยเหลือตนเองได้ดี
ผลกระทบเมื่อผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุ
ทางด้านร่างกาย
เกิดอาการบาดเจ็บในอวัยวะต่างๆเช่น เมื่อผู้สูงอายุหกล้มอาจเจ็บตรงบริเวณที่ล้มกระแทกเพียงเล็กน้อย หรือเพียงเกิดรอยฟกช้ำไม่ต้องไปโรงพยาบาลแต่ก็มีไม่ใช่น้อยที่เกิดอาการรุนแรงเมื่อล้ม เช่น กระดูกแขนขาหัก สะโพกหัก กระดูกสันหลังหัก อุบัติเหตุที่เกิดอาการรุนแรงแบบนี้จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษา บางรายถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตหรือทุพลภาพ เมื่อไปรักษาต้องใช้เวลานานกว่าร่างกายจะกลับมาแข็งแรงหรืออาจรักษาไม่หายก็ได้หรืออาจเกิดโรคแทรกซ้อนเสียชีวิตไปเลยก็มี
ทางด้านจิตใจ
ทำให้ผู้สูงอายุที่เกิดอุบัติเหตุเกิดความวิตกกังวล ความกลัว ขาดความมั่นใจในตนเองจนไม่กล้าเดิน ใจไม่กล้า ยิ่งนานวันเข้าร่างกายจะยิ่งเสื่อมจนอาจเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมาได้ และหากบางรายต้องกลายเป็นทุพลภาพสูญเสียอวัยวะทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม หรือไม่สามารถเข้าร่วมทำกิจกรรมกับวัยเดียวกันได้ ยิ่งทำให้ผู้สูงอายุเครียดบางรายถึงขั้นกลายเป็นโรคซึมเศร้า
ทางด้านเศรษฐกิจ
เป็นผลกระทบที่เกิดจากการที่ผู้สูงอายุต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจนมีค่าใช้จ่ายสูงตามมา หรือลูก หลาน คนใกล้ชิด ต้องหยุดงานมาดูแลทำให้ขาดรายได้ ดังนั้นจากการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้จะเกิดผลเสียทั้งทางด้านการเงินของคนในครอบครัวหรือเสียเวลาในการทำมาหาเลี้ยงชีพก่อให้เกิดความเครียดกับตัวผู้สูงอายุเองและญาติหรือคนใกล้ชิด แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันได้หากรู้เท่าทันสาเหตุของการลื่นล้ม ซึ่งก็มีสาเหตุทั้งทางด้านร่างกายและสิ่งแวดล้อมต่างๆรอบตัวของผู้สูงอายุนั่นเอง
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้สูงอายุ
- ป้องกันไม่ให้พื้นเปียกน้ำจนเดินแล้วเกิดการลื่นควรมีผ้าเช็ดเท้าในห้องน้ำหรือหน้าห้องน้ำและในห้องน้ำควรมีราวจับสำหรับผู้สูงอายุเพื่อที่จะได้จับพยุงตัวลุกขึ้นมาหลังจากทำธุระเสร็จแล้ว พร้อมกันนี้ หากพื้นห้องน้ำลื่นควรเปลี่ยนพื้นห้องน้ำให้เป็นพื้นแบบหยาบ เพียงเท่านี้ก็จะสามารถช่วยป้องกันการลื่นล้มลงได้
- ควรเพิ่มไฟฟ้าในจุดที่แสงสว่างไม่ค่อยเข้าถึงให้เพียงพอ เพื่อที่ผู้สูงอายุจะได้มองเห็นและเดินได้สะดวก
- ผู้สูงอายุควรหมั่นออกกำลังกายเบาๆ อยู่เป็นประจำ โดยการยืนย่ำเท้าอยู่กับที่หรือกอดอกแล้วยืนขึ้นโดยไม่ใช้มือยันช่วย เป็นการฝึกเพื่อให้มีการทรงตัวที่ดีหรืออาจจะออกกำลังกายด้วยการำไท่เก๊ก โยคะเบาๆ หรือรำกระบองแบบช้าๆ
- ควรจัดสถานที่อยู่ให้ผู้สูงอายุอย่างเหมาะสมหากที่อยู่อาศัยเป็น 2 ชั้นควรให้อยู่ชั้นล่างของบ้านเพื่อลดการขึ้น-ลงบันได
- จัดของใช้ภายในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย อย่าให้เกะกะกีดขวางทางเดิน
- จัดที่นอนให้เหมาะสม ความสูงของเตียงไม่ควรสูงจนเกินไป ควรอยู่ในระดับเข่า การขึ้น-ลง ลุกนั่ง เดิน ของผู้สูงอายุจะได้สะดวก
- จัดหาเสื้อผ้าให้พอดีกับตัวผู้สูงอายุ ไม่ยาวรุ่มร่ามหรือยาวจนเกินไป
การเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุพบว่าปัจจุบันในแต่ละปีเกิดขึ้น 1 ใน 3 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด และมักมีประสบการณ์การเกิดอุบัติเหตุมาก่อนแล้วทั้งสิ้น มีจำนวนครึ่งหนึ่งของผู้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุ มีประสบการณ์การเกิดมามากกว่า 1 ครั้งและ 20% ของผู้เกิดอุบัติเหตุมักเสียชีวิต ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมากทีเดียว
การเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนอกบ้านและในบ้าน หากแต่ยังคงเป็นสิ่งที่ป้องกัน ระมัดระวังได้ หากคนใกล้ชิดดูแล เอาใจใส่เรียนรู้แนวทางในการป้องกัน ก็จะสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุอันซึ่งนำมาถึงการสูญเสียทรัพย์สินและบุคคลอันเป็นที่รักได้อย่างแน่นอน