การซ่อมแซมเอ็นมือ

เผยแพร่ครั้งแรก 24 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
การซ่อมแซมเอ็นมือ

การผ่าตัดซ่อมแซมเส้นเอ็นที่มือจะช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของนิ้วมือได้

อะไรคือเส้นเอ็น?

เส้นเอ็นคือสายเนื้อเยื่อแข็ง ๆ ที่เชื่อมกล้ามเนื้อเข้ากับกระดูก เมื่อกระจุกกล้ามเนื้อเกิดการเกร็ง เส้นเอ็นที่ติดอยู่จะดึงกระดูกบางส่วนของร่างกายไปด้วย ทำให้มนุษย์มีการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เส้นเอ็นที่มือมีอยู่ 2 กลุ่ม:

  • เส้นเอ็นเอกซเทนเซอร์: ซึ่งพาดจากปลายแขนไปจนถึงหลังมือไปยังนิ้วมือและหัวแม่โป้ง ทำให้คุณสามารถชี้นิ้วตรง ๆ ได้
  • เส้นเอ็นเฟลกเซอร์: ซึ่งพาดจากปลายแขนผ่านข้อมือ และข้ามฝ่ามือ ทำให้คุณสามารถงอนิ้วต่าง ๆ ได้

การผ่าตัดที่เกิดขึ้นมักจะมีขึ้นเพื่อแก้ไขความเสียหายของเส้นเอ็นสองชุดนี้

ควรมีการซ่อมแซมเส้นเอ็นเมื่อไร?

แพทย์จะดำเนินการซ่อมแซมเส้นเอ็นที่มือเมื่อเส้นเอ็นหนึ่งเส้นหรือมากกว่าเกิดการฉีกขาดหรือถูกตัดขาด จนทำให้ไม่สามารถขยับมือได้อย่างปรกติ

หากเส้นเอ็นเอกซเทนเซอร์เกิดความเสียหาย คุณจะไม่สามารถชี้นิ้วตรง ๆ ได้หนึ่งนิ้วหรือมากกว่านั้น และหากเส้นเอ็นเฟลกเซอร์เกิดเสียหาย คุณจะไม่สามารถงอนิ้วได้หนึ่งนิ้วหรือมากกว่านั้น อีกทั้งความเสียหายที่เส้นเอ็นจะสร้างความเจ็บปวดและการอักเสบขึ้นที่มือของคุณ

ในบางกรณี ความเสียหายของเส้นเอ็นเอกซเทนเซอร์สามารถรักษาได้ด้วยการเข้าเฝือกรอบมือข้างที่มีปัญหา

สาเหตุที่สร้างความเสียหายแก่เส้นเอ็นมีดังนี้:

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ถูกตัด: การถูกฟันหรือถูกตัดบริเวณหลังมือหรือฝ่ามือสามารถทำให้เส้นเอ็นเสียหายได้
  • บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา: เส้นเอ็นเอกซเทนเซอร์มักฉีกขาดจากการพยายามขับลูกบอล ส่วนเส้นเอ็นเฟลกเซอร์มักจะหลุดจากกระดูกจากการจับดึงกางเกงของผู้ต่อสู้ หรือการฉีกขาดของเส้นเอ็นเฟลกเซอร์จากการยึดจับอย่างหนักหน่วง
  • การกัด: การถูกสัตว์หรือมนุษย์กัดสามารถสร้างความเสียหายแก่เส้นเอ็นได้ อีกทั้งการชกคนอื่นเข้าที่ฟันก็อาจสร้างความเสียหายแก่เส้นเอ็นที่มือของผู้ชกได้เสียเอง
  • การแตกหัก: การปิดประตูหนีบนิ้วมือ หรือการที่มือหักจากอุบัติเหตุทางรถยนต์สามารถสะบั้นเส้นเอ็นได้
  • โรคข้อต่อรูมารอยด์: เป็นโรคที่ทำให้เส้นเอ็นเกิดการอักเสบขึ้น ในกรณีที่เป็นโรคนี้รุนแรงอาจก่อให้เส้นเอ็นฉีกขาดได้

การผ่าตัดซ่อมแซมเส้นเอ็น

การซ่อมแซมเส้นเอ็นมักเริ่มจากการกรีดข้อมือ มือ หรือนิ้วของผู้ป่วยเข้าไปยังตำแหน่งที่เกิดการฉีกขาดของเอ็น และศัลยแพทย์จะทำการเย็บติดเส้นเอ็นส่วนนั้นกลับเข้าด้วยกัน

สำหรับกรณีเส้นเอ็นเอกซเทนเซอร์ฉีกขาดนั้นจัดว่ารักษาได้ง่าย เนื่องจากเป็นเส้นเอ็นที่พาดตรง ๆ และเข้าถึงจากการกรีดได้ง่ายมาก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับชนิดของการบาดเจ็บอีกที การรักษาซ่อมแซมเส้นเอ็นนี้จะใช้ยาชาเพื่อทำให้บริเวณที่ฉีกขาดชาจนหมดความรู้สึก

สำหรับการซ่อมแซมเส้นเอ็นเฟลกเซอร์นั้นจะยากกว่า เนื่องจากระบบของเส้นเอ็นเฟลกเซอร์มีความซับซ้อนมากกว่า ทำให้การซ่อมแซมเส้นเอ็นเฟลกเซอร์นั้นต้องใช้ยาสลบหรือใช้ยาชาเฉพาะส่วนที่ทำให้ทั้งแขนคนไข้ชา และการผ่าตัดต้องดำเนินโดยศัลยแพทย์ทางออร์โธปิดิคหรือแพทย์พลาสติกผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดมือเท่านั้น

การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดซ่อมแซมเส้นเอ็น

การซ่อมแซมเส้นเอ็นทั้งสองประเภทมีระยะเวลาพักฟื้นยาวนาน (เวชศาสตร์ฟื้นฟู) เนื่องจากตัวเส้นเอ็นจะใช้เวลาเยียวยาตัวเองค่อนข้างนานและมีความอ่อนแอในช่วงนี้มาก อาจจะต้องใช้เวลานานกว่า 3 เดือนก่อนที่เส้นเอ็นจะฟื้นฟูสภาพจนแข็งแรงสมบูรณ์จริง ๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการบาดเจ็บด้วย

เวชกรรมฟื้นฟูจะมีขึ้นเพื่อการป้องกันเส้นเอ็นนั้น ๆ จากการใช้งานอย่างหนักหน่วงเกินไป โดยจะมีการเข้าเฝือกที่บริเวณมือที่เป็นกันเอาไว้ โดยคุณต้องสวมใส่เฝือกดังกล่าวหลังจากการผ่าตัดนานหลายสัปดาห์

คุณต้องมีการออกกำลังกายมืออย่างสม่ำเสมอระหว่างการพักฟื้นเพื่อไม่ให้เส้นเอ็นซ่อมแซมตัวเองจนติดเข้ากับเนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งหากเกิดเช่นนั้นจะทำให้คุณไม่สามารถกลับไปขยับมือได้เหมือนเดิม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ระยะเวลาที่แพทย์อนุญาตให้คุณกลับไปทำงานนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะงานของคุณ โดยคุณสามารถกลับไปทำงานที่ต้องมีกิจกรรมเบา ๆ ได้หลังจากการผ่าตัด 6-8 สัปดาห์ และอาจต้องใช้เวลาถึง 10-12 สัปดาห์ก่อนที่คุณจะสามารถกลับไปเล่นกีฬาหรือทำงานหนัก ๆ ได้

ผลลัพธ์

หลังการซ่อมแซมเส้นเอ็นเอกซเทนเซอร์ มือของคุณจะกลับมาขยับนิ้วได้อีกครั้งแม้จะติดขัดอยู่บ้างก็ตาม  ผลลัพธ์หลังการผ่าตัดจะออกมาดีหากอาการบาดเจ็บหรือรอยฟันที่เส้นเอ็นไม่เยอะมาก แต่การผ่าตัดจะยากขึ้นหากเป็นการบาดเจ็บที่ข้อต่อหรือกระดูกหัก

สำหรับการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นเฟลกเซอร์จะมีความรุนแรงมากกว่าเพราะเส้นเอ็นประเภทนี้ต้องแบกรับแรงมากกว่าเอ็นเอกซเทนเซอร์ ทำให้หลังการซ่อมแซมเส้นเอ็นเฟลกเซอร์ นิ้วอาจจะยังไม่สามารถขยับได้ดีเท่าที่ควร

ในบางกรณี ก็เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดขึ้น อย่างการติดเชื้อ เส้นเอ็นที่ซ่อมแซมเกิดฉีกขาด หรือเส้นเอ็นติดเข้ากับเนื้อเยื่อใกล้เคียง ในกรณีนี้แพทย์จะทำการรักษาต่อไปตามอาการ

การซ่อมแซมเส้นเอ็นมือดำเนินการอย่างไร?

ก่อนที่แพทย์จะทำการผ่าตัดซ่อมแซมเส้นเอ็นที่มือ จะมีการเอกซเรย์มือและปลายแขนของคุณก่อน เพื่อตรวจสอบหาการแตกร้าวหรือหาเศษของต้นเหตุที่ทำให้เส้นเอ็นฉีกขาด การซ่อมแซมเส้นเอ็นไม่นับเป็นการผ่าตัดฉุกเฉิน แต่ก็มักจะดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยมักทำการรักษาล่าช้าจากวันที่บาดเจ็บจริงไม่กี่วันเท่านั้น

เนื่องมาจากหากปล่อยให้เส้นเอ็นฉีกขาดเช่นนั้นนานเกิน จะยิ่งส่งผลเสียต่อส่วนปลายของเส้นเอ็นจนอาจลดขอบเขตการเคลื่อนไหวของอวัยวะที่ขึ้นตรงกับเส้นเอ็นนั้น ๆ ถาวร คุณอาจได้รับยาปฏิชีวนะและยากันบาดทะยักเพื่อป้องกันการติดเชื้อก่อนเข้ารับการผ่าตัดในบางกรณีอีกด้วย

การซ่อมแซมเส้นเอ็นเอกซเทนเซอร์

การซ่อมแซมเส้นเอ็นเอกซเทนเซอร์มักดำเนินการด้วยการใช้ยาชาหรือยาสลบ สำหรับการใช้ยาชานั้น แพทย์จะทำการฉีดยาชาเข้าอวัยวะส่วนที่บาดเจ็บเพื่อทำให้ทั้งส่วนนั้น ๆ ชา ซึ่งในกระบวนการผ่าตัดมือนั้น ยาชาจะถูกฉีดเข้าฐานคอ หรือเหนือไหล่ของมือข้างที่บาดเจ็บ

หากเส้นเอ็นฉีกขาดจากการบาดเจ็บ บาดแผลจะถูกชะล้างให้สะอาดก่อนที่แพทย์จะกรีดผิวหนังเข้าหาเส้นเอ็นในมือหรือเปิดปากแผลให้กว้างขึ้นก่อนทำการเย็บเส้นเอ็นที่ฉีกขาดเข้าด้วยกัน บาดแผลหรือรอยกรีดจะถูกเย็บปิดก่อนถูกรัดด้วยเฝือกที่ทำจากปูนปลาสเตอร์ที่จะทำให้มือข้างนั้นขยับไม่ได้ เพื่อเป็นการป้องกันการฉีกขาดซ้ำของเส้นเอ็นที่เพิ่งซ่อมไป

หากไม่มีการบาดเจ็บส่วนอื่น ๆ กระบวนการซ่อมแซมเส้นเอ็นเอกซเทนเซอร์มักจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเท่านั้น

การซ่อมแซมเส้นเฟลกเซอร์

การซ่อมแซมเส้นเอ็นเฟลกเซอร์มักดำเนินการด้วยการใช้ยาชาหรือยาสลบ แพทย์จะใช้สายรัดห้ามเลือดมัดรอบต้นแขนของคุณเพื่อหยุดเลือดไม่ให้ไหลไปยังบาดแผลจนบดบังโครงสร้างภายในที่บาดเจ็บ ศัลยแพทย์จะเปิดปากแผลหรือกรีดเข้าผิวหนัง (หากไม่มีบาดแผลอยู่ก่อน) เพื่อชี้ตำแหน่งเส้นเอ็นที่บาดเจ็บก่อนที่จะทำการซ่อมแซมเส้นเอ็นที่ขาดออกจากกันด้วยการเย็บติดเข้าด้วยกัน รอยกรีดหรือบาดแผลที่มือจะถูกเย็บปิดก่อนคลุมทั้งมือด้วยเฝือกที่ทำการปูนปลาสเตอร์เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งที่เส้นเอ็นซ้ำ

กระบวนการซ่อมแซมเส้นเอ็นเฟลกเซอร์มักดำเนินการประมาณ 45 – 60 นาที แต่หากมีอาการบาดเจ็บรุนแรงอื่นร่วมด้วย อาจทำให้กระบวนการรักษายืดยาวต่อไปอีก

การพักฟื้น

ช่วงเวลาที่แพทย์จะอนุญาตให้คุณกลับบ้านหลังการผ่าตัดมือนั้นขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายของมือคุณ

คุณสามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียวกับที่แพทย์ทำการผ่าตัด หรือหลังจากที่ฤทธิ์ยาสลบหรือยาชาหมดลงแล้ว โดยจะมีการนัดดูแลหลังการผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง

หลังการผ่าตัด

หากคุณได้รับยาสลบ คุณจะตื่นขึ้นมาในห้องพักฟื้นหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยระหว่างนี้คุณจะสวมใส่หน้ากากออกซิเจนที่ใบหน้าและคุณอาจจะรู้สึกวิงเวียนเล็กน้อย

หากคุณได้รับยาชา คุณจะสามารถกลับเข้าห้องผู้ป่วยได้ทันที แต่อาการชาที่แขนของคุณจะยังคงมีอยู่หลายชั่วโมง แพทย์มักจะใช้ผ้าพันรอบคอของคุณเพื่อใช้รองแขนของที่ผ่านการผ่าตัดมาให้สูงขึ้น โดยการทำเช่นนี้ก็เพื่อลดอาการบวมลง

ภายหลังการผ่าตัด มือของคุณจะมีอาการบวมและฟกช้ำอยู่บ้าง แต่เมื่อฤทธิ์ยาชาหมด คุณอาจรู้สึกเจ็บปวดขึ้นมาได้ โดยแพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดให้คุณเผื่อเอาไว้เป็นเวลา 2 อาทิตย์

ก่อนออกจากโรงพยาบาล แพทย์จะแนะนำให้คุณพยายามยกแขนข้างที่ผ่าตัดให้อยู่เหนือระดับหัวใจเข้าไว้เท่าที่จะทำได้เพื่อลดอาการบวมลง ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจถูกแนะนำให้หนุนแขนข้างนั้นในขณะที่นั่งหรือนอน หรือให้ยกแขนข้างที่ผ่าตัดไปกุมไหล่อีกข้างไว้ในขณะเดิน เป็นต้น

คุณจะไม่สามารถขับรถได้หลายสัปดาห์ ทำให้คุณควรต้องพาบุคคลที่สามมาดูแลเรื่องการรับส่งคุณหลังการผ่าตัดด้วย หากคุณอาศัยอยู่ตัวคนเดียวและได้รับยาสลบไป คุณอาจต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล และหากคุณต้องเข้ารับการบำบัดมือ คุณก็อาจจำต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเช่นกัน

การพักฟื้นและเวชศาสตร์บำบัด

ก่อนที่คุณจะออกจากโรงพยาบาล นักบำบัดมืออาจเปลี่ยนเฝือกที่คุณใช้เป็นเฝือกพลาสติกที่มีน้ำหนักเบาและมีความยืดหยุ่นมากกว่าแทน โดยเฝือกประเภทนี้จะป้องกันเส้นเอ็นที่ผ่านการซ่อมแซมไม่ให้ยืดตึงมากเกินไป

คุณจะถูกแนะนำให้สวมเฝือกดังกล่าวตลอดเวลา เป็นระยะเวลานาน 3 ถึง 6 สัปดาห์ และหลังจากนั้นอาจเปลี่ยนเป็นการสวมใส่เฝือกในช่วงกลางคืนเป็นเวลาไม่กี่สัปดาห์แทน

นักบำบัดมือของคุณจะสอนวิธีดูแลเฝือกและวิธีจัดการกับปัญหาต่าง ๆ โดยหลัก ๆ คือต้องอย่าทำให้เฝือกเปียก ดังนั้นก่อนการเข้าห้องน้ำหรือก่อนอาบน้ำคุณต้องคลุมเฝือกนี้ด้วยถุงพลาสติก

คุณจะได้เรียนรู้วิธีออกกำลังกายแบบต่าง ๆ หลังการผ่าตัด โดยการออกกำลังกายนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เส้นเอ็นฟื้นตัวเองจนไปติดกับเนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะทำให้การเคลื่อนไหวของมือหลังการฟื้นฟูถูกจำกัดไป

การออกกำลังกายดังกล่าวที่ทางศัลยแพทย์และนักบำบัดแนะนำจะแตกต่างกันไปตามชนิดของเส้นเอ็นที่ทำการซ่อมแซมไป

หากคุณเป็นผู้สูบบุหรี่ คุณอาจถูกแนะนำให้หยุดหรือเลิกเสีย เนื่องจากพิษบุหรี่จะทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังมือลดน้อยลง ส่งผลให้การฟื้นฟูมือล่าช้าออกไป

การกลับไปทำงานหรือดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ

การที่แพทย์จะอนุญาตให้คุณกลับไปทำงานและดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันตามปรกตินั้นขึ้นอยู่กับประเภทงานของคุณ และชนิดและตำแหน่งของการบาดเจ็บของคุณ

เส้นเอ็นที่ผ่านการซ่อมแซมมามักจะกลับมามีกำลังวังชาสมบูรณ์หลังจากการผ่าตัด 12 สัปดาห์ แต่อาจจะใช้เวลามากกว่า 6 เดือนก่อนที่จะกลับมามีระยะการเคลื่อนไหวที่สมบูรณ์เหมือนเดิม ในบางกรณี มือและนิ้วอาจจะไม่สามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้ดีดังเดิมก็เป็นได้

โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนส่วนมากจะสามารถ:

  • กลับไปดำเนินกิจกรรมเบา ๆ ต่าง ๆ ได้อย่างการใช้แป้นพิมพ์ หรือเขียนหนังสือด้วยปากกาหลังจากผ่าตัด 6-8 อาทิตย์
  • กลับไปขับรถยนต์ มอเตอร์ไซด์ หรือรถขนส่งขนาดใหญ่ได้หลังจากผ่าตัด 8 – 10 สัปดาห์
  • กลับไปทำกิจกรรมความเข้มข้นปานกลางได้ ยกตัวอย่างเช่นการยกของน้ำหนักเบา หรือจัดของบนชั้นหลังจากผ่าตัด 8 – 10 สัปดาห์
  • กลับไปเล่นกีฬาหลังการผ่าตัด 10 – 12 สัปดาห์

โดยปกติแล้วนักบำบัดและศัลยแพทย์ผู้ดูแลจะสามารถให้ข้อมูลการคาดประมาณเพิ่มเติมแก่คุณได้

คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำและข้อห้ามที่แพทย์แจ้งไว้อย่างเคร่งครัด หากคุณฝืนใช้มือข้างที่บาดเจ็บก่อนช่วงเวลาที่มันจะฟื้นตัวสมบูรณ์ดี อาจทำให้เส้นเอ็นที่ซ่อมแซมไปกลับมาฉีกขาดอีกได้

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนที่พบเห็นได้ทั่วไปจากการผ่าตัดซ่อมแซมเส้นเอ็นที่มือคือการติดเชื้อ การฉีกขาดของเส้นเอ็น และการที่เส้นเอ็นที่ฟื้นตัวเองจนยึดติดกับเนื้อเยื่อโดยรอบ

การติดเชื้อ

การติดเชื้อมักจะเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดประมาณ 1 ใน 20 ครั้ง โดยความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจะสูงขึ้นหากมือบาดเจ็บและแผลสัมผัสกับสิ่งสกปรก อีกทั้งการบาดเจ็บอย่างกระดูกแตกหักก็สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน โดยอาการของการติดเชื้อที่มือมีดังนี้:

  • มือบวมและแดง
  • รู้สึกเจ็บปวดหรือมีอาการกดเจ็บที่มือ
  • มีไข้สูง (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส)

ให้คุณรีบติดต่อแพทย์ผู้ดูแลหากมีอาการการติดเชื้อข้างต้น โดยส่วนมากการติดเชื้อมักรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ

การซ่อมแซมล้มเหลว

เกิดขึ้นประมาณ 1 ใน 20 ครั้ง โดยการซ่อมแซมเส้นเอ็นที่ล้มเหลวจะส่งผลให้เส้นเอ็นนั้นฉีกขาด

ส่วนมากมักเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นหลังการผ่าตัดหรือช่วงที่เส้นเอ็นอ่อนแอที่สุด และมักเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เอง อีกทั้งอุบัติเหตุเล็กน้อยอย่างการหกล้ม หรือหยิบจับสิ่งของด้วยมือข้างที่เข้าเฝือกก็อาจทำให้เส้นเอ็นที่ซ่อมแซมไปแล้วกลับมาฉีกขาดใหม่ได้

ในบางครั้งการฉีกขาดของเส้นเอ็นอาจจะรู้สึกได้ง่าย ๆ อย่างการได้ยินเสียงขาดหรือเกิดความรู้สึกขึ้นที่มือของคุณ หรืออาจไม่รู้สึกตัวว่าเกิดการฉีกขาดขึ้นจนคุณรู้สึกได้ว่ามือและนิ้วของคุณไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนแต่ก่อน

หากคุณคาดว่าเส้นเอ็นมือของคุณฉีกขาด ให้ติดต่อทีมรักษาหรือนักบำบัดมือเพื่อให้พวกเขาเริ่มการผ่าตัดซ่อมแซมเส้นเอ็นใหม่ในทันที

เส้นเอ็นยึดเกาะ

การยึดเกาะของเส้นเอ็นเกิดจากการที่เส้นเอ็นที่แพทย์ซ่อมแซมไปแล้วเกิดการติดเข้ากับเนื้อเยื่อโดยรอบ จนทำให้จำกัดการเคลื่อนไหวของมือไปบ้าง ส่วนมากแล้ว ภาวะนี้เป็นปัญหาเล็ก ๆ แต่ในกรณีที่รุนแรงอาจต้องมีการผ่าตัดแก้ไขเกิดขึ้น

หากคุณสังเกตว่าการเคลื่อนไหวของมือของคุณติดขัดหรือลดลงจากปรกติ (หลังการผ่าตัด) ให้ติดต่อทีมรักษาหรือนักบำบัดมือของคุณในทันที


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Hand and Wrist Surgery in Rheumatoid Arthritis: Overview, Tenosynovitis, Flexor Tenosynovitis in the Fingers. Medscape. (https://emedicine.medscape.com/article/1287449-overview)
Nerve Transfers for the Restoration of Wrist, Finger, and Thumb Extension After High Radial Nerve Injury. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/27094891)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป