ลูกชอบกรี๊ด ผิดปกติไหม มีวิธีแก้ หรือจัดการอย่างไร?

"ลูกชอบกรี๊ด ไม่ดีแน่ มารู้จักแนวทางสังเกตพฤติกรรมการกรีดร้องในเด็ก แบบไหนปกติ แบบไหนควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ พร้อมหลักปฏิบัติขณะลูกกรี๊ดและการป้องกัน "
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ธ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ลูกชอบกรี๊ด ผิดปกติไหม มีวิธีแก้ หรือจัดการอย่างไร?

 การร้องกรี๊ด เป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงความไม่พอใจ บางครั้งนอกจากลูกชอบกรี๊ดแล้วอาจมีพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตะโกน กระทืบเท้า ฟาดแขนฟาดขา จนถึงลงไปนอนดิ้นกับพื้น หรือทำร้ายร่างกาย

พบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 12-18 เดือน และมักจะเป็นบ่อยในเด็กช่วงอายุ 2-3 ปี จากนั้นการกรี๊ดจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปเมื่อเด็กโตขึ้นและสามารถควบคุมและจัดการกับอารมณ์ได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

พฤติกรรมลูกชอบกรี๊ดอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกกังวล อับอาย และขาดความมั่นใจในการจะจัดการกับลูก โดยเฉพาะหากพฤติกรรมดังกล่าวเกิดในที่สาธารณะ และมีสายตาคนอื่นคอยจับจ้องอยู่

เพื่อให้จัดการปัญหาลูกชอบกรี๊ดได้อย่างเหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรจะเข้าใจถึงสาเหตุเสียก่อน ในบทความนี้

ทำไมพอลูกเริ่มอายุ 1 ปี อาการกรีดร้องจึงเป็นมากขึ้น?

เมื่อเด็กอายุ 12-18 เดือน เด็กจะเดินได้และเริ่มรู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร ร่วมกับเด็กเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เมื่อไม่พอใจจึงแสดงพฤติกรรมออกมา

อย่างไรก็ตาม เด็กในวัยนี้ยังพูดหรือสื่อสารไม่เก่ง ร่วมกับยังบอกความต้องการหรือบอกอารมณ์ของตนเองไม่ได้ จึงแสดงอาการออกมาในรูปแบบของความโกรธ ได้แก่ กรีดร้อง ตะโกน กระทืบเท้า เคว้งของ และอาจตามมาด้วยอาการเศร้าเสียใจ ได้แก่ สะอื้น ร้องไห้ ล้มตัวลงนอนลงไปดิ้นที่พื้น จากนั้นเด็กจะได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่มากขึ้น เช่น คุณพ่อคุณแม่อุ้ม หันไปกอด ตามใจ ให้สิ่งของ

เมื่อทำพฤติกรรมดังกล่าวบ่อยๆ เด็กก็จะเรียนรู้ว่าการทำสิ่งเหล่านี้จะทำให้ตัวเองได้สิ่งที่ต้องการ จึงใช้เป็นวิธีเพื่อเป็นแลกเปลี่ยนหรือต่อรองกับผู้ใหญ่

อาการกรีดร้องแบบไหนที่อาจเป็นปัญหา?

ลูกชอบกรี๊ดในช่วงอายุหนึ่งอาจเป็นเรื่องการพยายามสื่อสารของเด็กอย่างที่กล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เนื่องจากการกรีดร้องบางอย่างอาจแสดงว่าเด็กกำลังมีปัญหา ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • เด็กกรีดร้อง อาละวาด ในช่วงอายุน้อยกว่า 12 เดือน หรือมากกว่า 48 เดือน
  • เด็กกรีดร้อง อาละวาด นานกว่า 15 นาที มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน
  • เด็กกรีดร้อง อาละวาด ในโรงเรียน หรือกับบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่พ่อแม่ของตน
  • เด็กกรีดร้อง อาละวาด รวมถึงมีการทำร้ายร่างกายตนเองหรือผู้อื่น
  • เด็กมีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้าน มีปัญหาการนอน ฯลฯ
  • เด็กแสดงอารมณ์หงุดหงิดตลอดเวลาทั้งวัน
  • พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูคิดว่าลูกเป็นปัญหา ไม่สามารถจัดการกับพฤติกรรมดังกล่าวได้

5 สาเหตุที่ลูกชอบกรี๊ดหรืออาละวาด?

การที่เด็กกรีดร้องหรืออาละวาด เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 6 สาเหตุใหญ่ๆ ดังนี้

1. เด็กกรี๊ดตามพัฒนาการปกติ

เด็กกำลังเรียนรู้วิธีการควบคุมตนเองเมื่อมีอารมณ์ไม่พอใจหรือผิดหวัง โดยเฉพาะในช่วงวัย 1-3 ปี เด็กมักจะอยากทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

หากคุณพ่อคุณแม่ห้ามก็จะยิ่งทำให้เด็กมีอารมณ์ไม่พอใจมากขึ้น เมื่อถูกขัดใจ ไม่พอใจ จะรู้สึกหงุดหงิดและไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ดังกล่าวได้ ร่วมกับพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กวัยนี้ยังพัฒนาไม่เต็มที่ เพื่อที่จะสื่อสารบอกความต้องการหรือบอกอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้

โดยเฉพาะช่วงเวลาสำคัญของวัน เช่น ตอนง่วงนอน หรือ หิว เหนื่อย ทำให้อาการเป็นมากขึ้น

2. เด็กกรี๊ดเพราะมีโรคประจำตัวหรือมีความเจ็บป่วยทางกาย

เด็กบางคนอาจกรี๊ดเพราะรู้สึกไม่สบาย เช่น กำลังเจ็บป่วย มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ หายใจไม่สะดวก โรคทางระบบทางเดินอาหาร นอนไม่พอ ฯลฯ การต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ

การที่ต้องได้รับยาบางอย่างก็ทำให้เด็กมีอาการง่วงและกรีดร้องอาละวาดได้บ่อยเช่นกัน เช่น ยาแก้แพ้ ยากันชัก เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เด็กที่มีโรคหรือภาวะทางพัฒนาการหรือพฤติกรรม เช่น กลุ่มอาการออทิสติก สมาธิสิ้น สติปัญญาบกพร่อง ปัญหาทางการมองเห็น หรือปัญหาทางการได้ยินที่ยังไม่ได้รับการรักษา ก็อาจแสดงอาการเป็นเด็กชอบกรี๊ดเช่นกัน โดยเด็กอาจจะไม่รู้ตัว

ดังนั้นจึงมีความสำคัญที่ต้องหาโรคหรือความเจ็บป่วยทางกายที่อาจเป็นสาเหตุของการร้องกรี๊ด

3. เด็กกรี๊ดเพราะมีพื้นฐานอารมณ์ที่ถูกกระตุ้นง่าย

กรณีนี้จะสังเกตเห็นว่าเด็กมีการตอบสนองรุนแรง ปรับตัวยาก หงุดหงิดง่าย อาจเกิดจากผู้เลี้ยงดูตอบสนองพื้นฐานอารมณ์เด็กไม่ถูกต้อง

4. เด็กกรี๊ดเพราะสิ่งแวดล้อมในบ้านไม่เหมาะสม

อาจเกิดจากเด็กอยู่ในบ้านที่ขาดระเบียบวินัย แออัด คุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาให้ พ่อแม่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ใช่วิธีลงโทษเด็กด้วยการตี มีข้อจำกัดหรือก้าวก่ายเด็กมากเกินไป คนในบ้านทะเลาะเบาะแว้งกันเสมอ หรือมีการใช้กำลังหรือความรุนแรงในครอบครัว ก็เป็นเหตุให้เด็กแสดงพฤติกรรมเป็นแบบกรีดร้อง อาละวาดได้

หรืออีกด้านหนึ่ง หากเด็กถูกเลี้ยงดูแบบตามใจเกินไปก็อาจจะชอบกรีดร้องเมื่อไม่พอใจ

5. เด็กกรี๊ดเพราะคุณพ่อคุณแม่มีภาวะทางอารมณ์

การที่คุณพ่อคุณแม่มีภาวะทางอารมณ์ เช่น มีภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน ติดสุราหรือสารเสพติด ทำให้ส่งผลต่อการตอบสนองต่อเด็กได้เช่นกัน

วิธีแก้ไข หรือให้การช่วยเหลือเด็กที่กรีดร้อง

พฤติกรรมกรีดร้องเป็นพฤติกรรมปกติของเด็กวัย 12-48 ปีและจะค่อยๆ หายไปเมื่อเด็กโตขึ้นแ ละได้รับการตอบสนองและการช่วยเหลือที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจะแบ่งแนวทางการช่วยเหลือเป็นการปฏิบัติขณะลูกกรี๊ด กับการป้องกันก่อนลูกจะกรี๊ด ดังนี้

1. การปฏิบัติขณะลูกกรี๊ด

ขณะลูกกรีดร้อง โดยวาย คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงควรเลือกวิธีจัดการโดยคำนึงถึงสถานการณ์รอบข้างและอายุของเด็ก โดยมีคำแนะนำดังนี้

  • คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรควบคุมอารมณ์ตนเอง สงบนิ่ง เฝ้าดู ไม่แสดงอารมณ์โกรธหรือตอบโต้ขึ้นเสียงใส่เด็ก
  • หากอยู่ในสถานที่ที่อาจเกิดอันตรายแก่เด็ก คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรรีบนำเด็กออกจากสถานที่เหล่านั้น แล้วไปอยู่ในที่ปลอดภัย
  • หากเป็นเด็กเล็ก อาจใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจในช่วงแรก แต่ถ้าไม่ได้ผลให้ใช้วิธีวางเฉย (Extinction) โดยการยืนอยู่ดูห่างๆ ไม่สนใจหรือพูดคุยกับเด็ก ซึ่งในช่วงแรกของการปรับพฤติกรรมอาการของเด็กจะเป็นมากขึ้น (Extinction burst) ต่อมาจะค่อยๆ ลดลง
  • ในเด็กอายุมากกว่า 2 ปี อาจใช้วิธีแยกเด็กออกจากสิ่งกระตุ้นหรือความสนใจจากสิ่งรอบข้างชั่วคราว (Time-out) เพื่อให้เด็กสงบควบคุมอารมณ์ได้ โดยใช้เวลาเป็นนาทีตามอายุของเด็ก เช่น อายุ 2 ปี ใช้เวลา 2 นาที คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกสถานที่ที่ปลอดภัยและอยู่กับเด็กตลอดเวลาขณะทำ Time-out
  • เมื่อเด็กสงบลง หยุดกรีดร้อง เริ่มควบคุมอารมณ์ได้ ให้คุณพ่อคุณแม่เข้าไปคุยกับเด็กตามปกติ พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป
  • ถ้าเด็กกรีดร้องเนื่องจากไม่อยากทำสิ่งที่ต้องการ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูไม่ควรเลื่อนเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ เพราะเด็กจะเรียนรู้ว่าครั้งต่อไปสามารถทำพฤติกรรมกรีดร้องเพื่อต่อรองได้
  • หลีกเลี่ยงการลงโทษด้วยการตีเมื่อเด็กกรีดร้อง เพราะจะทำให้เด็กโกรธและหงุดหงิดมากขึ้น และไม่ควรให้รางวัลกับเด็กเมื่อเด็กหยุดร้อง เพราะทำให้เรียนรู้ถึงพฤติกรรมกรีดร้องนำมาซึ่งสิ่งที่ต้องการ

2. การป้องกันการกรีดร้อง อาละวาด

กันไว้ดีกว่าแก้ ก่อนจะต้องจัดการกับปัญหาลูกชอบกรี๊ดที่เกิดขึ้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงควรสังเกต ทำความเข้าใจ และฝึกฝนเด็กตั้งแต่เนิ่นๆ โดยมีคำแนะนำดังนี้

  • ควรจัดการให้เด็กทำกิจวัตรประจำวันอย่างเป็นเวลา สม่ำเสมอที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูควรสังเกตพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดการกรีดร้อง และจัดการป้องกันก่อนที่จะเกิดอาการ เช่น เวลาเด็กง่วงควรพาเข้านอน เวลาเด็กหิวควรจัดเตรียมอาหารหรือของว่างไว้ให้ เวลาเหนื่อยควรให้เด็กได้พัก
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเวลาสำคัญของวัน เช่น เวลารับประทานอาหาร เวลาเหนื่อย หรือเวลานอน
  • ให้เวลาหรือเตือนเด็กก่อนที่จะมีการเปลี่ยนกิจกรรม เพื่อให้เด็กได้เตรียมตัว เช่น บอกลูกว่าเมื่อหนูดูการ์ตูนเรื่องนี้จบ เราต้องเข้านอนกันแล้วนะ
  • หลีกเลี่ยงการให้เด็กทำกิจกรรมหรือเล่นของเล่นที่เกินความสามารถเกินไป
  • บอกอารมณ์ความรู้สึกแทนเด็กเมื่อเด็กมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง หากเด็กยังบอกอารมณ์ไม่ได้ หรือเมื่อโตขึ้นให้สอบถามความรู้สึกกับเด็กเสมอ
  • สอนวิธีจัดการกับความหงุดหงิดหรือไม่พอใจ เช่น สอนให้เด็กเรียนรู้ว่าควรทำอย่างไรเมื่อโกรธ
  • สอนให้เด็กได้เลือกสิ่งที่ชอบและให้ลงมือทำเอง คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูคอยช่วยเหลืออยู่ข้างๆ เพื่อให้เด็กเรียนรู้การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ
  • คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการควบคุมอารมณ์เมื่อหงุดหงิด โกรธ หรือไม่พอใจ
  • ควรให้ความสนใจกับพฤติกรรมที่ดีของเด็ก ชมเชย และให้เวลากับเด็กเพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าพฤติกรรมอะไรดีและเหมาะสมที่ควรปฏิบัติ

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ชมรมพัฒนาการพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย
Nathaniel S. Beers, Management temper tantrum (https://pedsinreview.aappublications.org/content/24/2/70.2), 24 February 2003.
MedlinePlus, Temper tantrum (https://medlineplus.gov/ency/article/001922.htm), 9 November 2019

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)