ทำไมเวลาลูกดูดนมเสร็จต้องให้ลูกเรอทุกครั้ง

เผยแพร่ครั้งแรก 5 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 15 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ทำไมเวลาลูกดูดนมเสร็จต้องให้ลูกเรอทุกครั้ง

หลังจากลูกดูดนมเสร็จแล้ว (ไม่ว่าจะดูดนมแม่หรือผ่านขวดนม) สิ่งที่เราเห็นชินตากันมานานก็คือ การจับอุ้มเด็กพาดบ่าให้เรอ บางครั้งลูกก็แหวะนมออกมา ทราบหรือไม่ว่า ทำไมเด็กถึงต้องเรอหรือแหวะนมออกมา และถ้าไม่ให้เรอจะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง

โดยปกติหากลูกของเราดูดนมอย่างรวดเร็ว (อาจจะเพราะหิวจัด) บางครั้งก็อาจจะเผลอดูดอากาศเข้าไปด้วย ยิ่งถ้าให้ลูกดูดนมจากขวด (ในปัจจุบันมีผู้ผลิตขวดนมบางรายอ้างว่าสามารถออกแบบขวดนมแบบพิเศษเพื่อป้องกันลูกดูดอากาศเข้าไปเวลาดูดนมได้) ก็จะมีอากาศเข้าไปในท้องของลูกด้วย อากาศที่ลูกดูดเข้าไปก็จะทำให้รู้สึกปวดท้อง แน่นท้อง ไม่สบายตัวได้ สำหรับกรณีที่ลูกดูดนมแม่นั้น ก็มีโอกาสที่ลูกจะเผลอดูดอากาศเข้าไปได้เช่นกันในจังหวะที่ลูกหยุดดูดและอาจจะเผลออ้าปากออกจากฐานนม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
แนะนำคุณแม่มือใหม่วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 297 บาท ลดสูงสุด 59%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ทำไมเด็กถึงแหวะนมหรือเรอ

เนื่องจากในทารกแรกเกิดกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรง ดังนั้นการดูดนมเข้าไปมากๆ บ่อยครั้งลูกจะแหวะนมออกมาเล็กน้อย และอาจจะตามมาด้วยการเรอ โดยลูกน้อยสามารถเรอได้ทุกๆ 2-3 ออนซ์ของการให้นม หากคุณแม่ลูกดูดนมอย่างต่อเนื่องอาจมีอาการร้องไห้งอแงไม่อยากดูดนมต่อเนื่องจากมีอาการแน่นท้อง ดังนั้นคุณแม่ควรให้ลูกเรอในระหว่างช่วงสลับข้างที่จะให้นม และควรให้ลูกเรอหลังจากดูดนมเสร็จ

จะให้ลูกแหวะนมหรือเรอต้องทำได้อย่างไร

ทำง่ายๆ ด้วยการอุ้มลูกพาดบ่าให้ศีรษะสูงกว่ากระเพาะ ใช้มือประคองศีรษะของทารกไว้ เนื่องจากกล้ามเนื้อช่วงคอของเด็กทารกยังไม่แข็งแรง โดยขอแนะนำว่าให้หาผ้าสะอาดนุ่มๆ สักหน่อยวางรองบนบ่าของเราไว้ก่อน จากนั้นอุ้มลูก โดยให้บริเวณคางของลูกเราวางอยู่บนผ้าที่เราวางเตรียมไว้ แล้วก็ลูบหลังลูกเบาๆ ซึ่งในช่วงจังหวะนี้ ลูกของเราก็อาจจะหันหน้ามองไปมองมา หรืออาจจะดมๆ บริเวณบ่า ไหล่ หรือเส้นผมของคุณแม่ รวมถึงอาจจะใช้มือจิก หรือเล่นกับผมของแม่ ก็ระวังจะโดนลูกดึงผมนะคะ ถ้าลูกมีอาการตัวงอนิดหน่อย แสดงว่าในท้องของเขามีลม ให้อุ้มไว้สักพักลูกก็จะแหวะนมหรือเรอออกมาเอง หลังดูดนมเสร็จไม่ควรให้ลูกนอนคว่ำ เพราะกระเพาะอาหารที่มีนมเต็มอยู่นั้นอาจรบกวนการหายใจของลูกได้

สำหรับเด็กบางคนซึ่งอาจจะไม่ยอมแหวะนมหรือเรอ (ซึ่งมักจะเป็นเด็กที่ดูดนมเป็นจังหวะ และดูดอย่างช้าๆ ไม่รีบเร่ง) พวกเขาอาจจะไม่ต้องการแหวะนมหรือเรอเลยก็ได้ ดังนั้นหากลองอุ้มพาดบ่าแล้ว ลูกไม่ยอมเรอหรือแหวะนม ก็ลองใช้วิธีวางลูกบนตักของคุณเอง โดยให้วางคว่ำและหันหน้าลูกไปทางด้านข้าง ซึ่งหากลูกมีลมในท้องหรือดูดนมมากเกินไปก็จะแหวะหรือเรอออกมาเอง

ถ้าลูกไม่ยอมเรอหรือแหวะนมจะเป็นไรไหม

หากลูกไม่ยอมเรอหรือแหวะนมออกมา ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ลูกไม่ได้มีลมในท้อง และดูดนมในปริมาณที่พอดีกับร่างกายของเขา ดังนั้นก็ไม่น่าห่วง แต่หากลูกมีอาการงอตัว หลังจากดูดนม แต่ไม่ยอมเรอ อาจจะเป็นอาการบ่งบอกได้ว่า ลูกมีลมในท้องมาก ต้องให้ลูกเรอให้ได้ อาจจะอุ้มพาดบ่าให้นานขึ้น ช่วยลูบไล่ลมให้ลูกหรือตบเบาๆ ที่หลังของลูกก็ได้ ซึ่งหากลูกมีลมในท้องแต่ไม่สามารถเรอออกมาได้ ลูกอาจจะร้องเพราะปวดท้องได้ นอกจากนั้นในระหว่างมื้อนั้น หากในท้องของลูกมีลมมาก เราจะสังเกตได้ว่าลูกของเราอึดอัดและร้องไห้บ่อย

บางครั้งลูกอาจจะเรอออกมาเป็นเสียงเบามากๆ จนบางครั้งถ้าเราไปให้ความสนใจในเรื่องอื่น เราจะไม่ได้ยินเสียงลูกเรอออกมา ดังนั้นการให้ลูกเรอหรือแหวะนมออกก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญด้วย


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, คู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก (http://www.thaipediatrics.org/...)
Kate Bayless, Baby Burping:What you should know (https://www.parents.com/baby/c...)
Angela Oswalt, Burping and Spitting up (https://www.gracepointwellness...)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)