กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ประจำเดือนยังไม่มา เริ่มกินยาคุมได้ไหม?

เผยแพร่ครั้งแรก 2 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 3 พ.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ประจำเดือนยังไม่มา เริ่มกินยาคุมได้ไหม?

ผู้ที่ต้องการเริ่มใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด จะถูกแนะนำให้รับประทานภายในวันที่ 1 - 5 ของการเป็นประจำเดือน โดยจะสามารถคุมกำเนิดได้ตั้งแต่เม็ดยาฮอร์โมนเม็ดแรกที่รับประทาน

เหตุผลที่ต้องรับประทานในช่วงเวลาดังกล่าว ก็เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการตั้งครรภ์อยู่ก่อนแล้วเมื่อเริ่มใช้ยาค่ะ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

 ถ้าไม่ต้องการรอให้ประจำเดือนมาก่อน เริ่มใช้ยาในตอนนี้เลยได้ไหม?

ได้ ถ้ามั่นใจว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์อยู่

มีเพศสัมพันธ์มาเมื่อคืน วันนี้เริ่มกินยาคุมแบบแผงรายเดือนเลยได้ไหม?

ไม่ได้ ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ จึงยังไม่ควรเริ่มใช้ยาคุมแบบแผงรายเดือน

อีกทั้งยาคุมแบบแผงรายเดือน ไม่ใช่ยาคุมฉุกเฉิน ใช้ป้องกันการตั้งครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ (แม้ว่าสามารถนำยาคุมแบบแผงรายเดือนบางยี่ห้อ มาใช้แทนยาคุมฉุกเฉินได้ แต่นั่นหมายถึงต้องรับประทานในขนาดสูงมาก ๆ นะคะ ซึ่งผู้ใช้มักทนผลข้างเคียงไม่ได้ อีกทั้งประสิทธิภาพก็ต่ำกว่าการใช้ยาคุมฉุกเฉินทั่ว ๆ ไป จึงไม่แนะนำการใช้ค่ะ)

ในกรณีนี้ ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินแทน ซึ่งสามารถรับประทานได้ทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์นะคะ แต่ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี จากนั้นก็รอให้ประจำเดือนมาก่อน ไม่ว่าจะมามาก หรือ มาน้อย ค่อยเริ่มใช้ยาคุมแบบแผงรายเดือนค่ะ

 มีเพศสัมพันธ์ แต่ก็ใช้ยาคุมฉุกเฉินภายในเวลาที่แนะนำแล้ว จะเริ่มใช้ยาคุมแบบแผงรายเดือนต่อเลยได้ไหม?

ก็ไม่ได้ค่ะ เพราะถือว่ามีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์อยู่ดี จึงยังไม่ควรเริ่มใช้ยาคุมแบบแผงรายเดือน

การรับประทานยาคุมฉุกเฉิน แม้ว่าจะใช้ทันเวลา คือภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือต่อให้ใช้ทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม ก็ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% นะคะ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อันที่จริง ยาคุมฉุกเฉินมีประสิทธิภาพต่ำกว่าวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวหลาย ๆ วิธีด้วยซ้ำค่ะ จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นทางเลือกแรกในการป้องกันการตั้งครรภ์ ยกเว้นกรณีที่ “ฉุกเฉิน” ตามชื่อจริง ๆ เช่น ใช้ถุงยางแล้วแต่ถุงยางฉีกขาด, ใช้ยาคุมรายเดือนแต่ลืมรับประทานยา หรือในกรณีที่ถูกข่มขืน เป็นต้น

ดังนั้น แนะนำให้รอไปก่อนนะคะ เมื่อประจำเดือนมาแล้ว ค่อยเริ่มใช้ยาคุมแบบแผงรายเดือนค่ะ

มีเพศสัมพันธ์นานแล้ว และประจำเดือนก็ยังไม่มาซักที กลัวเหมือนกันว่าจะท้อง อยากจะใช้ยาคุมแบบแผงรายเดือนเลยได้หรือเปล่า เผื่อว่าจะช่วยให้ไม่ท้องแน่

ไม่ได้อย่างเด็ดขาดค่ะ ยาคุมกำเนิดไม่ใช่ยาทำแท้งนะคะ สมมติว่าเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นแล้ว ต่อให้ใช้ยาคุม ก็ไม่มีผลให้แท้งหรอกค่ะ แต่เสี่ยงที่จะทำให้ทารกพิการ

กรณีนี้ ทำได้แค่รอค่ะ รอให้ประจำเดือนมาก่อนค่อยเริ่มใช้ยาคุมแบบแผงรายเดือนนะคะ

ตรวจตั้งครรภ์ก่อนดีไหม ถ้าตรวจแล้วไม่ท้อง ก็จะได้ใช้ยาคุมแบบแผงรายเดือนเลย ไม่ต้องรอให้ประจำเดือนมา

หากครั้งล่าสุดที่มีเพศสัมพันธ์ นานเกิน 2 สัปดาห์มาแล้ว ก็สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้ค่ะ

แต่ถ้าเพิ่งมีเพศสัมพันธ์เมื่อไม่กี่วันก่อน ต่อให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้นจริง ก็ยังไม่เห็นผลบวก(คือตั้งครรภ์)หรอกนะคะ เพราะปริมาณฮอร์โมนที่บ่งบอกการตั้งครรภ์ยังไม่มีปริมาณมากพอที่เครื่องมือจะตรวจเจอ ควรตรวจหลังมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วอย่างน้อย 14 วันจะดีกว่า

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

กรณีที่มีเพศสัมพันธ์อยู่หลายวัน ก็ให้นับจากวันสุดท้ายที่มีเพศสัมพันธ์ต่อไปอีก 14 วันค่อยตรวจค่ะ

ถ้าตรวจครั้งแรกแล้วผลเป็นลบ(คือไม่ตั้งครรภ์) จะให้ดีก็รออีก 2-3 วันค่อยตรวจซ้ำ (ระหว่างที่รอก็อย่าเพิ่งมีเพศสัมพันธ์นะคะ) ถ้าผลตรวจรอบนี้ยังเป็นลบ ก็น่าจะไม่มีการตั้งครรภ์แน่นอนแล้ว

หากไม่ตั้งครรภ์ จะเริ่มกินยาคุมแบบแผงได้เมื่อไร?

เมื่อไม่มีการตั้งครรภ์แน่นอน หากต้องการเริ่มใช้ยาคุมแบบแผงรายเดือนเลยก็ย่อมได้ค่ะ แต่มีสิ่งที่ควรทราบ 2 ประการนะคะ คือ...

1. ผลในการคุมกำเนิดยังไม่เกิดขึ้นทันที แต่จะเกิดขึ้นเมื่อ...

  • รับประทานยาเม็ดฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วันแล้ว สำหรับยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ดังนั้น ถ้าจะเริ่มใช้ยาคุมตอนประจำเดือนไม่มา ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้ถุงยางร่วมด้วยหากมีเพศสัมพันธ์ ในช่วง 7 วันแรกที่เริ่มใช้ยา หากใช้ยาคุมบางยี่ห้อที่ผู้ใช้อาจได้เริ่มรับประทานยาเม็ดหลอกก่อนยาเม็ดฮอร์โมน เช่น ยาคุมที่มีแถบสีแดงบนแผงยา (เช่น ไตรควิล่าร์ อีดี, ไมโครไกนอน 30 อีดี และ ไกเนรา อีดี) อาจต้องรอนานมากกว่า 7 วันนะคะ 
  • รับประทานยาเม็ดฮอร์โมนติดต่อกันครบ 2 วันแล้ว สำหรับยาคุมชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินเดี่ยว ผู้ที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินเดี่ยว ได้แก่ เอ็กซ์ลูตอน, เดลิตอน หรือซีราเซท หากเริ่มใช้ตอนประจำเดือนไม่มา ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้ถุงยางร่วมด้วยหากมีเพศสัมพันธ์ ในช่วง 2 วันแรกที่เริ่มใช้ยายกเว้นหญิงหลังคลอดไม่เกิน 6 เดือนที่ยังไม่มีประจำเดือน และมีการให้นมบุตรทุก 2-3 ชั่วโมงมาโดยตลอด ที่มีผลให้การคุมกำเนิดตามธรรมชาติอยู่ จึงไม่จำเป็นต้องงดมีเพศสัมพันธ์หรือใช้ถุงยางร่วมด้วย ในช่วงแรกที่เริ่มใช้ยา

2. ประจำเดือนจะไม่มาช่วงที่รับประทานยาเม็ดฮอร์โมน

  • อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอย (เป็นลักษณะเลือดติดซึมกางเกงชั้นใน) อันเป็นผลข้างเคียงจากยาคุมในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มใช้ยา แต่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน ดังนั้น ผู้ที่อาจจะมีประจำเดือนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เมื่อเริ่มใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ประจำเดือนจะถูกปรับรอบใหม่นะคะ ไม่ต้องไปยึดติดของเก่า หรือกังวลใจเมื่อประจำเดือนไม่มาตามกำหนดเดิม
  •  ยาคุมฮอร์โมนรวมแบบ 21 เม็ด (มีหลายยี่ห้อ) / 22 เม็ด (ออยเลซ)

จะมีเฉพาะเม็ดยาฮอร์โมนในแผง ระหว่างที่รับประทานยาจะไม่มีประจำเดือน เมื่อใช้ยาหมดแผง จะต้องเว้นว่าง 7 วัน (หรือ 6 วันถ้าใช้ออยเลซ) ก่อนเริ่มแผงต่อไป ถือเป็นช่วง “ปลอดฮอร์โมน” ซึ่งประจำเดือนจะมาในช่วงเวลานี้ค่ะ โดยทั่วไปก็ประมาณ 2-3 วันหลังหยุดรับประทานยานะคะ 

  • ยาคุมฮอร์โมนรวมแบบ 28 เม็ด (มีหลายยี่ห้อ)

แต่ละแผงจะมีทั้งยาเม็ดฮอร์โมน และยาเม็ดหลอก(ไม่มีฮอร์โมน) อาจเป็น 21+7 เม็ด หรือ 24+4 เม็ด แล้วแต่ยี่ห้อค่ะ สังเกตง่าย ๆ คือยาทั้งสองกลุ่มนี้ จะมีสี และ/หรือ ขนาดที่ต่างกัน

และพิเศษสำหรับยาคุมยี่ห้อ ไตรควิล่าร์ อีดี ซึ่งเม็ดยาฮอร์โมนจะมีขนาดยาที่แตกต่างกัน 3 ระดับ ดังนั้น นอกจากเม็ดยาหลอกที่มีสีและขนาดที่แตกต่างจากเม็ดยาฮอร์โมนแล้ว ยาเม็ดฮอร์โมน 21 เม็ด ก็ยังมีสีที่แตกต่างกันเป็น 3 กลุ่มไปด้วย

  • ยาคุมชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินเดี่ยว (เอ็กซ์ลูตอน, เดลิตอน, ซีราเซท)

จะมีเฉพาะเม็ดยาฮอร์โมนในแผง และเนื่องจากเมื่อรับประทานหมดแผงแล้ว จะต้องต่อแผงใหม่ในวันต่อไป จึงไม่มีช่วงปลอดฮอร์โมน ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยาคุมชนิดนี้ อาจไม่มีประจำเดือนนะคะ

สรุปว่า สามารถรับประทานยาคุมตอนประจำเดือนยังไม่มาได้ ถ้ามั่นใจว่าไม่มีความเสี่ยงว่าอาจตั้งครรภ์อยู่ แต่ผลในการคุมกำเนิดยังไม่เกิดขึ้นทันที ในช่วงแรกจึงต้องใช้ถุงยางร่วมด้วยหากมีเพศสัมพันธ์ค่ะ

 สาระน่ารู้เพิ่มเติมคือ ผู้ที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมน ถ้าไม่ได้ลืมรับประทานยาคุมติดต่อกันหลายวันในมาก่อน ในช่วงปลอดฮอร์โมน (คือช่วงที่กินเม็ดยาหลอก หรือช่วงที่เว้นว่างไม่ต้องรับประทานยาก่อนเริ่มแผงใหม่) ก็จะยังมีผลในการคุมกำเนิดอยู่ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ถุงยางหากมีเพศสัมพันธ์

การต่อยาคุมแผงใหม่ ไม่ต้องใช้ภายใน 5 วันแรกที่มีประจำเดือนแล้วนะคะ ให้รับประทานต่อตามรอบประจำเดือน 28 วันได้เลยค่ะ นั่นคือ...

  • ถ้าใช้แบบ 21 เม็ด หมดแผงแล้วให้เว้น 7 วัน (21+7 = 28) จากนั้นจึงต่อแผงใหม่
  • ถ้าใช้แบบ 22 เม็ด หมดแผงแล้วให้เว้น 6 วัน (22+6 = 28) แล้วค่อยต่อแผงใหม่
  • ถ้าใช้แบบ 28 เม็ด หมดแผงแล้ว ไม่ต้องเว้นว่างนะคะ เริ่มแผงใหม่ในวันต่อมาได้เลยค่ะ

9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Starting birth control midcycle: Benefits and side effects. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/322867)
Benefits to Starting Birth Control Midcycle. Healthline. (https://www.healthline.com/health/birth-control/starting-birth-control-mid-cycle)
How to Use Birth Control Pills Effectively. WebMD. (https://www.webmd.com/sex/birth-control/how-to-take-birth-control-pills#1)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
อาการก่อนเป็นประจําเดือน
อาการก่อนเป็นประจําเดือน

อย่าด่วนตัดสินว่า ขี้เหวี่ยง ขี้วีน ขี้กังวล ร้องไห้ง่าย คือนิสัยของผู้หญิง แท้ที่จริงอาจมาจากพีเอ็มเอสก็ได้

อ่านเพิ่ม