อาการปวดขากรรไกร อาจเป็นสัญญาณเตือนจากปัญหาเล็กๆ อย่างการมีฟันผุไปจนถึงปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอย่างภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ซึ่งอาการปวดขากรรไกรนี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เราทุกคนควรรู้ และทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้ดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม
สาเหตุของอาการปวดขากรรไกร
1. โรค TMDs (Temporomandibular disorders)
โรค TMDs คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ซึ่งสามารถพบได้บ่อย โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อาการของโรค TMDs ที่พบได้ คือ อาการปวดหรือเจ็บบริเวณหน้าหู ใบหน้า หรือขากรรไกร ปวดศีรษะบริเวณขมับ มีเสียงในหูเวลาอ้าปากหรือหุบปาก(เสียงกรอบแกรบ หรือเสียงคลิ๊ก) อ้าปากแล้วรู้สึกสะดุด และอ้าปากได้น้อยลง
เมื่อมีอาการของโรค TMDs แนะนำให้พบทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจ วินิจฉัย และให้การรักษาที่เหมาะสมกับอาการของโรค ซึ่งวิธีการบริหารข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ควบคู่กับการประคบร้อน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการปวด และทำให้กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรยืดหยุ่นได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ด้วย
2.การได้รับบาดเจ็บ
เมื่อได้รับบาดเจ็บบริเวณขากรรไกร อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บ ช้ำ บวม มีฟันโยก หรือ กระดูกขากรรไกรหัก ซึ่งควรพบแพทย์ และทันตแพทย์ เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด
3.มีปัญหาเกี่ยวกับฟัน
บางคนมีฟันผุจนทะลุโพรงประสาทฟัน หรือมีฟันแตกร้าว อาจทำให้เกิดอาการปวดที่ร้าวไปยังบริเวณขากรรไกรได้ (referred pain) เพื่อให้อาการเจ็บหายไป ควรพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาที่เหมาะสม
4.โรคบางโรค
มีโรคบางโรคที่มีอาการเจ็บบริเวณใบหน้าและขากรรไกรได้ เช่น
- โรคคางทูม (Mumps): เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งจะทำให้ต่อมน้ำลายพาโรทิด (Parotid gland) บริเวณข้างแก้มบวม และทำให้ขยับขากรรไกรได้ลำบาก
- โรคบาดทะยัก (Tetanus): เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากแผลเปิดหรือรอยข่วนที่ผิวหนัง ซึ่งสัญญาณเบื้องต้น คือ ขากรรไกรของคุณอาจตึงหรือแข็ง และอาจทำให้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลหลายสัปดาห์
ทั้งนี้โรคข้างต้นสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ดังนั้น คุณไม่ควรที่จะละเลยในการพาบุตรหลานของท่านไปรับวัคซีนตามกำหนด
5.ภาวะหัวใจล้มเหลว
เมื่อมีภาวะหัวใจล้มเหลว จะเริ่มมีอาการเจ็บบริเวณหน้าอก และอาจมีการปวดร้าวไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมไปถึงบริเวณขากรรไกรด้วยได้
จะเห็นได้ว่า อาการปวดขากรรไกรสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เมื่อมีอาการเกิดขึ้น และไม่มั่นใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอาการปวดขากรรไกรอาจถึงแก่ชีวิตได้ถ้าเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ ดังนั้น ควรทำความรู้จักกับอาการนี้ไว้ เพื่อที่จะดูแลตนเองและคนใกล้ตัวได้