ห่วงคุมกำเนิดคืออะไร อีกหนึ่งวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ที่ผู้หญิงควรรู้

เผยแพร่ครั้งแรก 30 พ.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ห่วงคุมกำเนิดคืออะไร อีกหนึ่งวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ที่ผู้หญิงควรรู้

เนื่องด้วยปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน และตั้งครรภ์เมื่อยังไม่พร้อม เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมากในประเทศไทย รัฐบาลจึงต้องมีการสนับสนุนให้มีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นที่มาของนโยบายการฝังยาคุมกำเนิด และการใส่ห่วงคุมกำเนิด หรือห่วงอนามัยให้แก่เยาวชนที่มีอายุ 10-20 ปีขึ้นไป แต่ทั้งนี้ ห่วงคุมกำเนิดก็ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่ากับยาคุมแบบฝัง ซึ่งเมื่อดูลักษณะรูปร่างแล้วก็อาจจะทำให้ผู้หญิงหลายคนกังวลถึงความไม่สะดวกหรือไม่สบายใจที่จะคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ เราจึงได้รวบรวมบทความเกี่ยวกับห่วงคุมกำเนิดมาให้ทำความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้นำไปเป็นทางเลือกในการคุมกำเนิดชั่วคราวต่อไป

รู้จักห่วงคุมกำเนิด

ห่วงอนามัย หรือห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device) มีชื่อเรียกในทางการแพทย์สั้นๆ ว่า IUD ซึ่งย่อมาจากชื่อภาษาอังกฤษ ซึ่งห่วงอนามัยนี้ จัดเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก เพราะจะต้องนำเข้าไปใส่ไว้ในโพรงมดลูกของผู้หญิง เพื่อไม่ให้เอ็มบริโอ้ หรือตัวอ่อนที่เกิดจากการผสมของอสุจิและไข่ฝังตัวได้ตามปกติ ปัจจุบันมีให้เลือกถึง 4 รูปแบบ ได้แก่ แบบเคลือบฮอร์โมน แบบหุ้มทองแดง แบบธรรมดา และแบบไม่มีโครง ซึ่งแต่ละรูปแบบ จะมีลักษณะการทำงานและรูปร่างที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใส่ด้วย

ห่วงคุมกำเนิดทำงานอย่างไร?

ดังที่กล่าวไปแล้วนั้น ว่าห่วงคุมกำเนิดนี้ จะช่วยป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนสามารถเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูกได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็ยังมีอีกการทำงานหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือการอักเสบของโพรงมดลูก ที่เกิดจากการมีวัสดุแปลกปลอมหลุดเข้าไป (ซึ่งในที่นี้ก็คือห่วงคุมกำเนิดนั่นเอง) ซึ่งจะทำให้มูกบริเวณปากมดลูก มีความหนามากขึ้นจนอสุจิไม่สามารถผ่านเข้าไปผสมกับไข่จนเกิดตัวอ่อนได้ และยังช่วยยับยั้งการตกไข่ประจำเดือนของผู้หญิงได้มากถึง 25% 

ประสิทธิภาพของห่วงคุมกำเนิด

รู้หรือไม่ว่า การใช้ห่วงอนามัย หรือห่วงคุมกำเนิดในการป้องกันการตั้งครรภ์นั้น มีประสิทธิภาพสูงเป็นอันดับ 3 จากวิธีการคุมกำเนิดชั่วคราวทั้งหมด แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ก็คือการใส่ห่วงที่ถูกต้องตามหลักวิธีทางการแพทย์ ถ้าหากเป็นห่วงคุมกำเนิดแบบเคลือบฮอร์โมน และแบบทั่วไปนั้น มีอัตราความล้มเหลวในการป้องกันเพียง 0.2% หรือ 2 ใน 1,000 คนเท่านั้น และถ้าเป็นห่วงคุมกำเนิดแบบหุ้มทองแดง จะมีอัตราความล้มเหลวในการป้องกันเพียง 0.6% หรือ 6 คนใน 1,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำมาก ๆ

ขั้นตอนใส่ห่วงคุมกำเนิดทำอย่างไร?

สำหรับขั้นตอนของการใส่ห่วงกำเนิดนั้น ประกอบไปด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. เริ่มจากการตรวจร่างกายและซักประวัติก่อน ว่าไม่ได้มีการตั้งครรภ์ ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูก และไม่ได้มีภูมิคุ้มกันต่ำ
  2. ให้ผู้ที่จะใส่ห่วงคุมกำเนิด จัดการปัสสาวะให้เรียบร้อยเสียก่อน จากนั้นจึงเริ่มทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก แล้วตรวจหาตำแหน่งของมดลูก
  3. ทำการถ่างปากมดลูกออกด้วยเครื่องมือแพทย์ แล้วทำความสะอาดปากมดลูกอีกครั้ง จากนั้นแพทย์จะทำการวัดหาความลึกของมดลูกและทิศทางที่ถูกต้องที่จะใส่ห่วงคุมกำเนิดลงไป
  4. ค่อย ๆ ใส่ห่วงคุมกำเนิดโดยไม่ให้โดนอวัยวะสืบพันธุ์ แล้วปรับระดับให้พอดีกับมดลูก ซึ่งห่วงนี้จะมีสายให้ดึงออกมาเพื่อทิ้งห่วงไว้ภายใน และเอาไว้ตรวจสอบว่าห่วงหลุดหรือไม่
  5. แพทย์จะทำการตัดสายห่วงออก แล้วทำความสะอาดปากมดลูกอีกครั้ง ถ้าหากมีเลือดออกก็จะทำการกดบาดแผลให้เลือดหยุด จากนั้นจะเอาเครื่องมือที่ใช้ในการถ่างออก ตรวจดูว่าผู้ใส่ห่วงไม่มีอาการข้างเคียง เช่น ปวดท้อง จะเป็นลม จากนั้นจะให้พักเฉย ๆ เป็นเวลา 15 นาทีก็สามารถเดินทางกลับได้

ใส่ห่วงคุมกำเนิดได้ที่ไหน?

การขอรับบริการใส่ห่วงคุมกำเนิดนั้น สามารถไปที่สถานพยาบาลได้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลหรือของเอกชน (เอกชนจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า แต่เครื่องมือจะทันสมัยกว่า) ที่มีสูตินรีแพทย์ ซึ่งจะสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้อง และไม่ต้องกังวลเรื่องของห่วงหลุดในอนาคตได้ เนื่องจากแพทย์จะมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง

ขั้นตอนการถอดห่วงคุมกำเนิด

ถึงแม้ว่าขั้นตอนในการใส่ห่วงฯ จะดูมีความน่ากลัวและน่ากังวลระดับหนึ่ง แต่การถอดออกนั้นค่อนข้างใช้เวลาน้อยกว่า และไม่มีขั้นตอนที่ยากมากเท่าตอนใส่ ซึ่งการจะถอดห่วงออกนั้น ก็ต่อเมื่อพร้อมที่จะตั้งครรภ์แล้ว หรืออาจจะพบปัญหาผิดปกติภายใน เช่น มีเลือดออก หรือปวดท้องมากกว่าปกติ

แพทย์จะเริ่มจากการตรวจหาห่วงคุมกำเนิดก่อนว่าอยู่ตรงไหน จากนั้นก็จะใช้เครื่องมือถ่างมดลูก แล้วเอาคีมเข้าไปดึงออกมา แต่ในกรณีที่ห่วงมีการเลื่อนตัวเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ลึกเกินกว่าคีมจะคีบออกมาได้ แพทย์ก็อาจจะใช้แปรงขนบิดในโพรงมดลูก เพื่อให้โดนห่วงแล้วดึงออกมา หากยังไม่สามารถดึงออกมาได้ ก็อาจจะใช้ตะขอเล็กๆ เข้าไปเกี่ยว แต่อาจจะมีบางครั้งที่ถึงขั้นต้องผ่าตัด หากไม่สามารถเอาออกด้วยวิธีดังที่กล่าวมาได้

ผู้ที่เหมาะกับการใช้ห่วงคุมกำเนิด

  1. ผู้ที่เป็นโรคอ้วน เพราะการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนนั้น มีโอกาสที่จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
  2. ผู้ที่ต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ระยะสั้น 3-5 ปีอย่างได้ผล
  3. ผู้ที่หลงลืมการทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ

ผู้ที่ไม่ควรใส่ห่วงคุมกำเนิด

  1. ผู้ที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ เพราะถ้าหากใส่ไป จะทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรสูง
  2. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูก และอุ้งเชิงกราน
  3. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิต้านทานและผู้ที่เป็นโรคหัวใจ

ผลข้างเคียงของการใส่ห่วงคุมกำเนิด

  1. อาจพบปัญหาเลือดออกทางช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอย หรือมีประจำเดือนมากกว่าปกติไปเลย
  2. ถึงแม้จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดี แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ หากมีคู่นอนหลายคน อาจพบการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  3. อาจมีตกขาวมากกว่าปกติ

ใส่ห่วงคุมกำเนิดแล้วประจำเดือนไม่มา น่ากลัวหรือไม่?

สำหรับผู้ที่ใส่ห่วงคุมกำเนิดแบบเคลือบฮอร์โมน อาจจะพบกับภาวะขาดประจำเดือนได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเนื่องจากฮอร์โมนที่เคลือบห่วงไว้ จะหลั่งออกมาในปริมาณที่สูงระดับหนึ่ง ถ้าหากรู้สึกไม่สบายใจหรือกังวลใจ สามารถแจ้งแพทย์ให้ทำการเปลี่ยนห่วงคุมกำเนิดเป็นรูปแบบอื่นได้ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

ใส่ห่วงคุมกำเนิดแล้วประจำเดือนมา เป็นอะไรหรือไม่?

ปกติแล้ว เมื่อใส่ห่วงอนามัย ผู้ใส่อาจจะพบปัญหาการมีประดำเดือนมากกว่าปกติเป็นเวลา 1-3 เดือน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะกลับมาเป็นปกติ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องอันตรายแต่อย่างใด และถ้าหากพบอาการปวดท้องประจำเดือนมาก ๆ ก็สามารถทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือพอนสแตนได้ตามปกติ

การใส่ห่วงคุมกำเนิด เป็นอีกวิธีหนึ่งในการป้องกันการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้วิธีอื่นเลยทีเดียว โดยเฉพาะคนที่มักจะขี้หลงขี้ลืมด้วยแล้ว การใส่ห่วงคุมกำเนิดจะทำให้รู้สึกสบายใจมากขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลกับการลืมกินยา เหมือนกับการกินยาเม็ดคุมกำเนิดนั่นเอง


17 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Mayo Clinic Staff. (2018). ParaGard (copper IUD). (https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/paragard/about/pac-20391270)
What Are the Types of IUDs? Side Effects, Insertion & Removal. eMedicineHealth. (https://www.emedicinehealth.com/birth_control_intrauterine_devices_iuds/article_em.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)