- อาการชาตามนิ้วมือ เกิดได้กับผู้คนทั่วไป โดยนอกจากอาการชา ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแปล๊บเหมือนถูกเข็มทิ่มใส่ผิวหนัง หรือถูกไฟฟ้าช๊อต และรู้สึกปวดแสบปวดร้อนภายใน
- บริเวณที่ชาจะสามารถจำแนกสาเหตุของโรคได้ เช่น ชาที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง เกิดจากโรคเกี่ยวกับกระดูกคอทับเส้นประสาท ชาที่ปลายนิ้วมือ และนิ้วเท้า มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน
- อาการชาตามนิ้วมือสามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง เช่น ประคบร้อน ยืดเส้นขยับนิ้วมือ ไม่ขยับข้อมือเยอะ หรือรักษาโดยแพทย์ เช่น จ่ายยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ยา NSAIDs) การผ่าตัด ฝังเข็ม
- วิธีป้องกันอาการชาตามนิ้วมือมีหลายวิธี เช่น หมั่นยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ เปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 30-45 นาที ใช้หมอนรองข้อมือขณะพิมพ์งาน
- อาการชาตามนิ้วมือเกี่ยวข้องกับโรคร้ายหลายอย่าง รวมถึงการขาดสารอาหาร และวิตามินบางประเภท เพื่อป้องกันอาการนี้ คุณจึงควรตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อให้รู้ทันความผิดปกติของร่างกายที่อาจกำลังเกิดขึ้น (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัยได้ที่นี่)
อาการชาตามนิ้วมือ เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ที่ใช้มือ และแขนในการทำงานอย่างหนัก
ลักษณะอาการ คือ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแปล๊บที่บริเวณปลายนิ้ว คล้ายถูกเข็มแทง หรือไฟฟ้าช็อต บางคนอาจรู้สึกปวดแสบปวดร้อนภายใน ซึ่งถ้าหากมีความรุนแรงมาก ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้ตามปกติ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
อาการนี้เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป หากเกิดขึ้นแบบนานๆ ครั้ง ครั้งละไม่กี่วินาทีก็ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะอาการนี้อาจเกิดจากการขาดเลือดมาหล่อเลี้ยงแบบชั่วคราว แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ จนไม่สามารถใช้งานมือได้ตามปกติ แสดงว่า อาจมีปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของมือ และนิ้วมือ
อาการของอาการชาตามนิ้วมือ
โดยปกติ ผู้ที่มีอาการชาตามนิ้วมือจะมีอาการชา เจ็บแปล๊บคล้ายถูกเข็มทิ่มแทงใส่ผิวหนัง หรือรู้สึกเหมือนไฟฟ้าช็อต บางรายมีอาการปวดแสบปวดร้อนภายใน และบางรายอาจไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้ เนื่องจากมีอาการชาจนอ่อนแรง
นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นได้อีก เช่น
- มีอาการชาที่นิ้วใดนิ้วหนึ่งเพียงนิ้วเดียว
- มีอาการชาที่ปลายนิ้วบ่อยและถี่มากขึ้น บางครั้งกินเวลานานกว่าจะหาย
- เริ่มมีอาการชาลามจากนิ้วมือไปถึงมือ และแขน
- มีอาการชาตามนิ้วมือ จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ตามปกติ
สาเหตุของการชาตามนิ้วมือ
ส่วนมากสาเหตุสำคัญของอาการชาตามนิ้วมือ คือ เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของนิ้วมือ และเส้นเลือดที่เข้าไปหล่อเลี้ยงมือถูกกดทับจากปัญหาต่างๆ เช่น กระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ จากการเจ็บป่วยบางชนิด หรือพฤติกรรมในการใช้ชีวิต
เราสามารถจำแนกบริเวณที่ชาตามสาเหตุของโรคได้ ดังต่อไปนี้
- เกิดการชาเฉพาะนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วโป้ง มีสาเหตุมาจากการกดทับบริเวณเส้นประสาทข้อมือ หรืออาจเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกคอทับเส้นประสาท ซึ่งจะมีความรุนแรงกว่ามาก
- เกิดการชาเฉพาะนิ้วนาง และนิ้วก้อย มีสาเหตุจากการกดทับเส้นประสาทอัลนาร์ (Ulnar nerve)
- ชาบริเวณปลายนิ้วมือ และนิ้วเท้า มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน เมื่อผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลสูงเกิน น้ำตาลอาจจะสร้างความเสียหายให้กับเส้นประสาทส่วนปลายต่างๆ โดยเฉพาะเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของมือ และเท้า
- เกิดการชาตามมือและนิ้วมือ ร่วมกับการปวดแสบปวดร้อนตามกระดูกและข้อ มีสาเหตุมาจากโรคเก๊าท์ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ที่เกิดจากกรดยูริกในร่างกายสูงกว่าปกติ
แต่ก็ใช่ว่าจะมีโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการชาตามนิ้วมือจะมีเพียงเท่านี้ เพราะยังมีโรคร้ายอีกมากมายที่สัมพันธ์กับอาการดังกล่าว เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง การติดเชื้อไวรัส HIV กระดูกข้อมือแตกหรือหัก โรคซิฟิลิส โรคหลอดเลือดอักเสบ
ดังนั้นการพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการที่แท้จริง รักษาอาการให้ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่สมควรทำมากที่สุด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
วิธีรักษาอาการชาตามนิ้วมือ
หากยังมีอาการไม่มาก ผู้ป่วยสามารถรักษาอาการด้วยตัวเอง ดังนี้
- ประคบร้อนเพื่อให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น แต่ถ้าหากพบการอักเสบ หรือบวม ควรใช้การประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการแทน
- พยายามยืดเส้นยืดสายด้วยการขยับนิ้วมือบ่อยๆ ร่วมกับการสะบัดข้อมือ หมุนแขน หมุนไหล่ เพื่อไม่ให้เกิดการกดทับของเส้นประสาท
- หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวข้อมือมากเกินไป รวมถึงการรับแรงกระแทก การสั่นสะเทือนบริเวณข้อมือ
นอกจากนี้ ให้คุณพัก หรือหยุดทำกิจกรรมใดๆ ที่ส่งผลให้มีอาการเจ็บหรือชามากขึ้น เช่น การจับ หรือกำบ่อยๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือการยกของหนักโดยใช้มือ อีกทั้งพยายามอย่าให้นิ้วมือถูกกดทับเด็ดขาด
หากลองรักษาด้วยตนเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือแย่ลงกว่าเดิม ก็ควรรีบไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะรักษาตามอาการ คือ
- การให้ยา แพทย์อาจจ่ายยาต้านอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ (ยา NSAIDs) เป็นส่วนผสม เพื่อรักษาในระยะต้นๆ ซึ่งถ้าหากยังไม่ดีขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องฉีดสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบให้ได้ผลมากกว่าเดิม
- การผ่าตัด หากพบว่ามีบางสิ่งบางอย่าง เช่น เส้นเอ็น กระดูก หรือเนื้อเยื่อต่างๆ ที่กดทับเส้นประสาท และยาทั่วไปไม่สามารถรักษาได้ แพทย์อาจจะพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อเอาสิ่งที่กดทับออก
- อาจมีบางกรณีที่แพทย์เลือกใช้วิธีอื่นในการรักษา เช่น แนะนำการฝังเข็มแบบจีน หรือใส่เฝือกระยะสั้นๆ ให้ ซึ่งก็แล้วแต่อาการและสาเหตุของผู้ป่วยที่ต้องเลือกใช้วิธีการรักษาให้เหมาะสมมากที่สุดนั่นเอง
วิธีป้องกันอาการชาตามนิ้วมือ
อาการชาตามนิ้วมือสามารถป้องกันได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่น
- การเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 30-45 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อได้มีการคลายตัวลงจากการเกร็งนานๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดอาการชาตามนิ้วมือได้
- หมั่นยืดหยุ่นกล้ามเนื้ออยู่เสมอ แม้กระทั่งกล้ามเนื้อนิ้วมือ ด้วยการกางนิ้วให้สุด ดัดนิ้ว นวดนิ้ว จะช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น
- หาตัวช่วยเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับนิ้วมือ และข้อมือมากยิ่งขึ้น เช่น ใช้หมอนรองข้อมือเมื่อพิมพ์งาน หรือถ้าหากแป้นพิมพ์มีความแข็งเกินไป ก็ควรเปลี่ยนใหม่ให้พิมพ์สะดวกสบายยิ่งขึ้นโดยที่ไม่ต้องออกแรงมาก
- ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไป เพราะนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการชาตามนิ้วมือเช่นกัน
- เมื่อมีโรคประจำตัว ควรรีบเข้ารับการรักษาทัน และเชื่อฟังคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องการทานยา และการนัดหมายของแพทย์ในคราวต่อๆ ไป
เมื่อพบความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ถึงแม้ว่าอาการชาตามนิ้วมือจะเกี่ยวข้องกับโรคร้ายมากมาย แต่ก็ไม่ต้องกังวลใจไปหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับคุณ เพราะบางครั้งอาจมีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินบี และสารอาหารบางชนิดก็เป็นได้
เพราะฉะนั้น หากพบความผิดปกติก็ควรจะรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริง เพื่อที่จะได้รักษาให้ถูกต้องตามปัญหาของโรคนั้นๆ ต่อไป
อาการชาตามนิ้วมือ เป็นอาการที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรักษาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่อาการจะพัฒนาไปสู่ระดับรุนแรง
ที่มาของข้อมูล
นพ. สิทธิพงศ์ สุวรรณาพิสิทธิ์, ผังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) (https://meded.psu.ac.th/binla/class05/388_571_2/CarpalTunnel/index.html)
Bieneck T et al., Peripheral nerve compression neuropathy after fractures of the distal radius.J Hand Surg Br.2006
ปวดหลังกว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท