เมื่อพูดถึงประกันสุขภาพ หลายคนมักเข้าใจว่า ต้องซื้อประกันชีวิตก่อนจึงจะซื้อประกันสุขภาพได้ แต่ในปัจจุบัน เมื่อความต้องการประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย (บริษัท ประกันภัย) จึงได้ออกประกันสุขภาพอย่างเดียวขึ้นมาแบบไม่ต้องซื้อประกันชีวิตก่อน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่มีความต้องการประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้รูปแบบประกันสุขภาพมีหลากหลายขึ้นอยู่กับความต้องการและงบประมาณของลูกค้า
ประกันสุขภาพในปัจจุบันมีรูปแบบไหนบ้าง
แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้
- ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน (IPD) ประกันจะคุ้มครองก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 6 ชั่วโมงขึ้นไป
- ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก (OPD) คือ ประกันจะคุ้มครองก็ต่อเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่คลินิก หรือโรงพยาบาล โดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
บทความนี้จะพูดถึงประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก (OPD) เป็นหลัก เพราะเชื่อว่า หลายๆ คนยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประกันสุขภาพมากมาย อยากได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และเข้าใจได้ง่าย
OPD คืออะไร
OPD ย่อมาจาก Out Patient Department หมายถึง ผู้ป่วยนอก หรือ ผู้ป่วยที่รับการรักษาที่คลินิกหรือโรงพยาบาล โดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล คนทั่วไปมักถามถึงการรักษาแบบ OPD บ่อย เพราะกังวลเกี่ยวกับค่ารักษา เนื่องจากประกันสุขภาพผู้ป่วยนอกนั้น หากเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถใช้ประกันได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินเลย (หากไม่เกินวงเงินที่ระบุไว้) ทำให้คนส่วนใหญ่สนใจอยากจะทำประกันสุขภาพผู้ป่วยนอกกันมาก แต่โดยทั่วไปแล้ว ประกันสุขภาพจำเป็นต้องทำแบบแพ็คคู่คือ รวมทั้ง IPD และ OPD ทำให้หลายคนกังวลในเรื่องเบี้ยประกันที่สูงขึ้น อาจสู้จ่ายไม่ไหว
แล้วถ้าอยากซื้อแบบ OPD อย่างเดียวล่ะ จะมีขายไหม
คำตอบคือ หายากมาก แทบไม่มีบริษัทไหนทำแบบประกันออกมาขาย OPD อย่างเดียว แต่ก็มีบางบริษัทที่เล็งเห็นถึงคำเรียกร้องของหลายๆ คน ซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย
ประกันที่พูดถึงนี้ เป็นบัตร ATM (บัตรเดบิต) ที่มีประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพด้วย ดูรายละเอียดตามตารางด้านล่าง ได้เลย
ความคุ้มครอง | วงเงินคุ้มครองสูงสุด |
ค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยในฐานะผู้ป่วยนอก (OPD) ต่อครั้งต่อวัน (สูงสุด 10 ครั้งต่อปี) | 1,000 บาท |
ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ ต่ออุบัติเหตุ (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) | 5,000 บาท |
การบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต อันเนี่องมาจากการขับขี่ หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ รวมถึงฆาตกรรมและลอบทำร้าย | 50,000 บาท |
การเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ | 100,000 บาท |
ข้อดีของประกันนี้คือ ไม่ต้องสำรองจ่ายเมื่อเข้ารักษาในสถานพยาบาลคู่สัญญากว่า 300 แห่งทั่วประเทศ (รับประกันโดย บริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน))
ค่าธรรมเนียม
ค่าธรรมเนียมรายปี คือ 3,999 บาท ต่อบัตรต่อปี สามารถซื้อได้สุงสุด 3 กรมธรรม์ ต่อคน ซึ่งผู้ที่สามารถสมัครประกันนี้ได้ ต้องมีอายุ 15 - 65 ปี
- ค่าเบี้ย OPD 1000/ครั้ง เบี้ยประกัน 3,999
- ค่าเบี้ย OPD 2000/ครั้ง เบี้ยประกัน 7,998
- ค่าเบี้ย OPD 3000/ครั้ง เบี้ยประกัน 11,997
จากข้อมูลข้างต้น ประกันตัวนี้ ถือว่าคุ้มค่าพอสมควรสำหรับราคาเบี้ยที่จ่ายไป เหมาะสำหรับผู้ที่สุขภาพแข็งแรงดีแต่อยากมีประกันสุขภาพ (OPD) ติดไว้เผื่อฉุกเฉิน หรือประสบอุบัติเหตุ เนื่องจากประกันตัวนี้เป็นประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) ด้วยในตัวเดียว แถมยังไม่ต้องซื้อประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพผู้ป่วยใน (IPD) ก่อน อีกด้วย หรือผู้ที่มีประกันสุขภาพ (OPD) อยู่แล้ว แต่คิดว่า ไม่น่าจะพอต่อการรักษาในแต่ละครั้งก็สามารถซื้อประกันตัวนี้เพิ่มได้
อย่างไรก็ตาม ประกันสุขภาพตัวนี้ มีข้อเสียเล็กน้อยคือ การจำกัดจำนวนครั้งในการเข้ารักษาได้เพียง 10 ครั้งต่อปี ซึ่งจะต่างจากประกัน OPD ทั่วไป ที่เข้ารับการรักษา ได้ถึง 30 ครั้งต่อปี ดังนั้นหากผู้ใดสนใจในประกันตัวนี้ แนะนำให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อตัวคุณเอง