CRE หรือ Carbapenem-resistant Enterobacteriaceae คือเชื้อแบคทีเรียตระกูล superbug ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะแทบทุกตัว รวมถึงยา Carbapenem ด้วย จึงยากต่อการรักษาเป็นอย่างยิ่ง
ยา Carbapenem เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มหนึ่งที่ประกอบด้วยยาไอมิเพเนม (Imipenem) เมอโรพีเนม (Meropenem) เออร์ตาพีเนม (Ertapenem) และโดโรพีเนม (Doropenem) ซึ่งถือเป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะ “ที่พึ่งพิงสุดท้าย” เนื่องจากมีฤทธิ์ในการจัดการกับการติดเชื้อที่รุนแรง โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาสูงต่อยาปฏิชีวนะอื่นๆ แต่ล่าสุดกลับพบว่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิดเริ่มหันมาดื้อยา Carbapenem แล้วเช่นกัน แบคทีเรียเหล่านี้จะสร้างเอนไซม์ เช่น เอนไซม์ Klebsiella pneumoniae carbapenemase (KPC) เอนไซม์ New Delhi metallo-β-lactamase (NDM) และเอนไซม์ Verona integron-mediated metallo-β-lactamase (VIM) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความสามารถสลายยา Carbapenem ทำให้ตัวยาหมดประสิทธิภาพลง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ประเภทและอุบัติการณ์ของเชื้อ CRE
จากรายงานของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่าเชื้อ CRE ที่พบมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา คือ Carbapenem-resistant Klebsiella bacteria และ Carbapenem-resistant Escherichia coli (E. coli) โดยปกติเชื้อทั้งสองชนิดนี้จะอาศัยอยู่ตามลำไส้และไม่ก่อโรค แต่หากเชื้อเหล่านี้ไปอยู่ในที่อื่นในร่างกาย เชื้อจะสามารถก่อโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อในปอด โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง นอกจากนี้เชื้อ E.coli บางสายพันธุ์ที่อาศัยในปศุสัตว์ก็สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อในลำไส้คนได้เช่นกัน
รายงานของ CDC พบว่าในสหรัฐอเมริกา แต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากเชื้อ Carbapenem-resistant Klebsiella bacteria ประมาณ 7,900 ราย และ 520 รายตามลำดับ ในขณะจำนวนของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากเชื้อ Carbapenem-resistant Escherichia coli คือประมาณ 1,400 ราย และ 90 รายตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในผู้ติดเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้พบว่ามีเพียง 6% ของการติดเชื้อในกลุ่ม Enterobacteriaciae ซึ่งมีประมาณ 140,000 รายต่อปี จากข้อมูลตามสถานพยาบาลหลายๆ แห่งในสหรัฐอเมริกา
การแพร่กระจายของเชื้อ CRE
การติดเชื้อ CRE จะเกิดขึ้นเมื่อมีการสัมผัสกับเชื้อนี้ โดยคุณอาจได้รับเชื้อเมื่อใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อนี้ โดยเฉพาะการสัมผัสบาดแผลหรือได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนมาในอุจจาระ ซึ่งทันทีที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายก็จะก่อให้เกิดการติดเชื้อหลังจากนั้น
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ CRE
คนที่มีสุขภาพดีมักจะไม่ติดเชื้อ CRE โดยคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้จะมีความเสี่ยงมากกว่า
- ผู้ป่วยที่กำลังรักษาโรคอื่นอยู่
- ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ
- ผู้ที่ต้องรักษาโดยใส่เครื่องมือทางการแพทย์บางอย่าง เช่น การใส่สายสวน การส่องกล้อง การใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
- การใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด
การรักษาการติดเชื้อ CRE
หลายคนมีเชื้อ CRE อยู่ในร่างกายหรืออยู่ตามผิวหนัง แต่มีสุขภาพแข็งแรงดี จึงไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ แต่คนเหล่านี้จะกลายเป็นพาหะให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ ซึ่งคนที่เป็นพาหะนั้นไม่ต้องรับการรักษาแต่อย่างใด แต่หากเกิดการติดเชื้อ CRE ขึ้น แพทย์ก็จะให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อนี้
การป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ CRE
บุคลากรทางการแพทย์มีหลักปฏบัติเพื่อป้องกันการติดต่อและแพร่กระจายของเชื้อ และบางครั้งก็อาจแนะนำให้ญาติผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ด้วย
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังเข้าเยี่ยมผู้ป่วย รวมทั้งสวมถุงมือและเสื้อกาวน์เสมอ
- ให้ผู้ป่วยติดเชื้อ CRE แยกห้องจากผู้ป่วยรายอื่น
- ถอดถุงมือและเสื้อกาวน์ก่อนออกจากห้องของผู้ป่วย CRE
- ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
- ผู้ป่วยที่รักษาโดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่เสี่ยงก่อให้เกิดการติดเชื้อนี้ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วแพทย์จะถอดเครื่องมือนั้นออกทันที
ทั้งนี้ผู้ป่วยเองก็ต้องพยายามป้องกันการติดเชื้อด้วยตนเองเหมือนกัน โดยควรรับประทานยาปฏชีวนะตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์สั่ง ปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาอย่างเคร่งครัด และล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนและหลังเปลี่ยนผ้าพันแผล หลังใช้ห้องน้ำ และหลังสั่งน้ำมูกหรือหลังใช้มือปิดปากเมื่อจามหรือไอ
เป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดเดียวกันในช่วงๆเวลาใกล้กันได้หรือไม่คะ