เชื้อราบนหนังศีรษะ ในทางการแพทย์มักหมายถึงโรคกลากที่หนังที่ศีรษะ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กอายุตั้งแต่ 4-14 ปี แต่บางครั้งอาจสามารถเกิดในผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคเอดส์ หรือในกลุ่มคนไข้มะเร็ง ได้เช่นกัน นอกจากนี้เชื้อราบนหนังศีรษะยังอาจเกิดในเด็กเล็กได้บ้าง ในผู้ที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดี อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด หรือในแถบประเทศที่มีอากาศร้อนขึ้น
เชื้อราบนหนังศีรษะมักจะแสดงอาการภายใน 7-14 วันหลังจากสัมผัสกับเชื้อ โดยมิใช่ทุกคนที่สัมผัสเชื้อจะเกิดโรค ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคล
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
เชื้อราที่หนังศีรษะ เกิดจากเชื้อกลุ่มที่เรียกว่า Dermatophytes (เช่น Microsporum spp., Trichophyton spp.) ซึ่งสามารถก่อโรคที่บริเวณชั้นตื้นของหนังศีรษะ ผิวหนัง หรือเล็บ โดยเชื้อประเภทนี้สามารถแพร่กระจายมาจากคน สัตว์ หรือดิน (การพบเชื้อในสัตว์มักพบในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว รวมทั้งสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์ม เช่น วัว ควาย) โดยสปอร์ของเชื้อราจะกระจายโดยการสัมผัสผ่านทางคนที่เป็นโรค หรืออยู่ในเส้นผมที่หลุดร่วง หรือสิ่งของที่ใช้กับศีรษะซึ่งมีเชื้อติดไป เช่น หวี หมวก โซฟา เตียงนอน เสื้อผ้า เป็นต้น
การสัมผัสเชื้อจากสิ่งเหล่านี้อย่างเดียวอาจไม่ก่อให้เกิดโรค แต่หากหนังศีรษะมีการบาดเจ็บอยู่แม้จะเล็กน้อย เช่น การเกาศีรษะ หรือแม้แต่การถักเปียที่แน่นจนเกินไป ก็อาจทำให้สปอร์ของเชื้อราเข้าสู่เส้นผมผ่านทางผิวหนังชั้นนอกสุดบริเวณศีรษะได้ ซึ่งเชื้อ Dermatophytes ก็จะเข้าไปย่อยทำลายเคอราตินและทำให้เกิดโรคขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่บางรายยังสามารถเป็นพาหะนำเชื้อแพร่กระจาย โดยตนเองไม่มีอาการ
ลักษณะหรืออาการเชื้อราบนหนังศีรษะ เป็นอย่างไร?
ลักษณะอาการของเชื้อราบนหนังศีรษะหรือกลากที่หนังศีรษะมีได้หลากหลายแบบ แต่โดยส่วนใหญ่มักมีอาการแดง มีสะเก็ดหรือขุยที่หนังศีรษะ มักมีอาการคันมาก โดยกลากที่หนังศีรษะเป็นสาเหตุของผมร่วงในเด็กได้ถึง 50% นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจมีต่อมน้ำเหลือที่คอหรือหลังหูโต หรือเด็กบางรายอาจมีไข้สูงได้
รูปแบบของอาการแสดงจะขึ้นอยู่กับเชื้อ และการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่สัมผัสเชื้อ ซึ่งจะเกิดอาการแสดงในรูปแบบต่างๆ ได้แก่
- กลากที่หนังศีรษะประเภทที่เป็นจุดดำ มักเกิดจากเชื้อ Trichophyton spp. โดยจะเกิดการติดเชื้อภายในเส้นผม ทำให้เส้นผมเปราะบางและขาดได้ง่าย จึงเหลือเส้นผมที่เห็นเป็นจุดสีดำที่รูขุมขนที่หนังศีรษะ และผมร่วงเป็นวงตามจุดที่มีการติดเชื้อได้
- กลากที่หนังศีรษะประเภทที่เป็นผื่นสีเทา มักเกิดจากเชื้อ Microsporum spp. การติดเชื้อรูปแบบนี้จะเริ่มด้วยจุดสีแดงเล็กๆ รอบเส้นผม จากนั้นผื่นจะขยายวงออกเป็นผื่นแดงกลมและมีขุย ซึ่งจะแห้งและไม่อักเสบ เส้นผมในบริเวณทีมีการติดเชื้อจะดูเป็นสีเทาและไม่เงางาม ขาดง่าย มักทำให้เกิดผมร่วงในหลายๆ พื้นที่บนศีรษะ และมักมีอาการคันมาก
- กลากที่หนังศีรษะประเภทอักเสบ กลากประเภทนี้มักเกิดจากเชื้อราที่มาจากสัตว์หรือดิน ซึ่งอาการแสดงจะมีอาการอักเสบจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มากเกินไปของผู้ป่วย โดยอาจเป็นลักษณะตุ่มหนองเล็กๆ หรือฝี หรือมีลักษณะคล้ายก้อนที่ยกตัวขึ้นมาจากหนังศีรษะ และมีหนองออกมาจากตัวก้อน ร่วมกับมีผมหักหลุดร่วง มักมีไข้ เจ็บ คัน และต่อมน้ำเหลืองโตได้บ่อย ผลที่ตามมาจากการเป็นกลากที่หนังศีรษะประเภทอักเสบนี้สามารถทำให้เกิดแผลเป็นที่หนังศีรษะ และผมร่วงอย่างถาวรได้ ซึ่งยิ่งปล่อยให้เป็นนานโดยไม่ได้รับการรักษา โอกาสที่จะผมร่วงถาวรจะยิ่งมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดอาการในรูปแบบนี้ในบางครั้งจะมีการใช้ยากดภูมิร่วมด้วย โดยขึ้นกับความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตาม ก็อาจไม่ได้ลดความเสี่ยงในการเกิดผมร่วงอย่างถาวร
ลักษณะอาการของกลากที่หนังศีรษะ อาจดูคล้ายกับอาการของโรคอื่นบางโรค เช่น สะเก็ดเงิน ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบบางชนิด (Seborrheic dermatitis) ดังนั้นการตรวจโดยแพทย์จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
วิธีรักษาโรคเชื้อราบนหนังศีรษะทำอย่างไร?
การรักษาเชื้อราบนหนังศีรษะหรือกลากที่หนังศีรษะ จะต้องใช้เวลาประมานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน แต่โดยทั่วไปมักไม่ได้เป็นภาวะเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ควรได้รับการตรวจโดยแพทย์เพื่อการรักษาอย่างเหมาะสม โดยทั่วไปจะต้องทำการรักษาด้วยยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน เนื่องจากยาชนิดรับประทานจะสามารถดูดซึมเข้าสู่เส้นผมได้ดี โดยการรับประทานยาให้ครบตามช่วงเวลาที่แพทย์แนะนำเป็นสิ่งสำคัญ โดยทั่วไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ ร่วมกับแชมพูที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อรา เช่น Selenium sulfide (1%-2.5%), Zinc pyrithione (1%-2%) หรือ Ketoconazole shampoo โดยใช้วันเว้นวันจนกว่าโรคจะหาย ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคไปยังคนใกล้ชิด เนื่องจากคนใกล้ชิดอาจเป็นพาหะนำเชื้อได้ แพทย์บางรายจึงแนะนำให้คนใกล้ชิดหรือบุคคลในครอบครัวใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อราหรือมารับการตรวจด้วย เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของโรค สำหรับในผู้ป่วย การใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของเชื้อราอย่างเดียวไม่เพียงพอในการรักษาโรค จะต้องได้ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทานร่วมด้วย นอกจากนี้ยังต้องกลับมาติดตามการรักษาตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินประสิทธิภาพในการรักษาและติดตามผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด
สิ่งที่ผู้คนมักสงสัยเมื่อเป็นเชื้อราบนหนังศีรษะ
ผู้มีอาการเชื้อราบนหนังศีรษะอาจสงสัยว่าหากเป็นโรคนี้แล้วควรโกนผมออกหรือไม่ หรือเคยได้ยินว่าสามารถใช้น้ำส้มสายชู หรือ Tea tree oil รักษาตัวเองได้
ความจริงคือ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องโกนผม เพียงแต่ควรทำความสะอาดเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับศีรษะ เช่น หวี โดยแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ทุก 3 วัน หลังเริ่มการรักษา ส่วนน้ำส้มสายชู หรือ Tea tree oil นั้น ไม่พบว่าสามารถรักษาเชื้อราหรือกลากที่หนังศีรษะได้ และมิได้ป้องกันการแพร่กระจายของโรค รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่หนังศีรษะและทำให้โรคแย่ลงอีกด้วย
หลังรักษา เส้นผมสามารถงอกเป็นปกติได้ตามการเติบโตตามปกติของเส้นผม โดยทั่วไปมักใช้เวลาหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือนหลังรักษา
การป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นโรคเชื้อราบนหนังศีรษะ
โรคเชื้อราบนหนังศีรษะหรือกลากที่หนังศีรษะสามารถป้องกันได้โดยรักษาความสะอาดของหนังศีรษะอยู่เสมอ และไม่ใช้สิ่งของที่ใช้กับศีรษะร่วมกัน เช่น หมวก หวี รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรค
หนังศรีษะแห้งมากควรทำยังไงดีค่ะ