พญ. ศศิวิมล จันทรศรี จักษุแพทย์
เขียนโดย
พญ. ศศิวิมล จันทรศรี จักษุแพทย์

ขี้ตาเยอะ ในโรคเยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ

ขี้ตาเยอะ ขี้ตาเหลือง ขี้ตาเขียว สาเหตุที่พบได้บ่อยอย่างหนึ่งคือ เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ ซึ่งได้แก่เชื้อแบคทีเรีย คลามีเดีย และไวรัส
เผยแพร่ครั้งแรก 8 เม.ย. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ขี้ตาเยอะ ในโรคเยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ขี้ตา คือเซลล์ผิวหมดอายุที่ดวงตาขับออกมา โดยปกติขี้ตาจะปรากฎให้เห็นในตอนเช้าหลังตื่นนอน มีสีขาวหรือใส เนื่องจากดวงตาไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ
  • ในกรณีผิดปกติคือมีขี้ตาเกิดขึ้นระหว่างวันปริมาณมาก มีสีเขียวหรือเหลือง ร่วมกับความผิดปกติของดวงตา เช่น ตาบวม ตาแดง อาจเป็นอาการของโรคเยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อ
  • หากติดเชื้อแบคทีเรีย อาจมีอาการตาแดงจัด ตาบวม ปวดตามาก มีขี้ตาปนหนอง ต้องใช้ยาปฏิชีวนะหยอดตา จึงจะช่วยให้หายจากอาการไวขึ้น
  • หากติดเชื้อไวรัส จะมีอาการเคืองตาเป็นหลัก ตาแดง ขี้ตาเยอะจนเป็นน้ำ เช่น โรคตาแดง ในกรณีเกิดการอักเสบ อาจมีฝ้าขาขึ้นที่กระจกตา
  • แม้การติดเชื้อที่ดวงตาหลายชนิดจะสามารถหายได้เอง แต่ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยให้ชัดเจนเสียก่อน เพราะหากเป็นเชื้อที่รุนแรง จะได้รับการรักษาได้ทันเวลา (ดูแพ็กเกจตรวจตาได้ที่นี่)

ทุกคนมีขี้ตาด้วยกันทั้งนั้น ขี้ตาประกอบไปด้วยเซลล์ผิวตาที่หมดอายุแล้วหลุดลอกออกมา รวมกับเมือกและไขมันอันเป็นองค์ประกอบของน้ำตา อีกทั้งยังมีสิ่งสกปรกอื่นๆ ที่น้ำตาชะล้างออกมารวมกัน

สังเกตได้ว่าตอนตื่นนอน คนเรามักจะมีขี้ตาตรงหัวตา เป็นเพราะเวลาที่เรานอนหลับ ร่างกายจะอยู่นิ่งๆ ไม่มีการกะพริบตา การไหลเวียนของน้ำตาก็น้อย สิ่งสกปรกต่างๆ จึงมากองรวมกันอยู่บริเวณรูเปิดของทางระบายน้ำตาออกจากตา ซึ่งอยู่บริเวณหัวตานั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

แต่ช่วงกลางวันในภาวะปกติ เราจะไม่รู้สึกว่ามีขี้ตา เพราะเมื่อร่างกายเคลื่อนไหว ระบบไหลเวียนต่างๆ ทำงานอย่างแข็งขัน สิ่งสกปรกในปริมาณปกติจะถูกระบายออกไปอย่างรวดเร็ว

ขี้ตาปกติอาจจะเหนียวๆ แห้งๆ หรือเป็นสะเก็ดแข็งๆ ขึ้นอยู่กับว่าส่วนประกอบที่เป็นน้ำในขี้ตานั้นระเหยออกไปแล้วหรือไม่

ขี้ตาแบบไหนปกติ แบบไหนผิดปกติ จะสังเกตจากอะไรได้บ้าง?

การสังเกตว่าขี้ตาปกติหรือไม่นั้น สามารถดูได้ดังนี้

1. ปริมาณขี้ตา

ถ้าเป็นเพียงขี้ตาแข็งๆ หรือเป็นเมือกเล็กน้อยติดหัวตาเฉพาะเวลาตื่นนอน แต่ในระหว่างวันไม่มีขี้ตาออกมา ถือว่าเป็นภาวะปกติ

แต่หากระหว่างวันมีขี้ตาออกมาเรื่อยๆ แม้เช็ดออกแล้วประเดี๋ยวก็ยังออกมาอีก อย่างนี้แสดงว่าขี้ตามากผิดปกติ

อาจเกิดจากมีสิ่งสกปรกมากเกินจนการชะล้างออกตามธรรมชาติทำไม่ทัน หรือมีการอักเสบจนเยื่อบุตาผลิตเมือกออกมามากเกินไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

2. สีของขี้ตา

ขี้ตาปกติมักจะมีลักษณะใสๆ หรือสีขาวๆ เป็นก้อนเล็กๆ แต่หากขี้ตามีสีออกเขียวหรือเหลืองเข้ม มีลักษณะข้นเหนียว หรือเป็นสีขาวก็จริง แต่เป็นเส้นยาวยาวยืดๆ นั่นไม่ใช่ขี้ตาปกติ

3. มีอาการผิดปกติทางตาเกิดขึ้นด้วย

อาการผิดปกติทางตา เช่น ตาบวม เจ็บตา ตาแดง ระคายเคืองเหมือนมีเศษผงอยู่ในตา ตามัวลง หรือมีอาการแพ้แสง การมีขี้ตาในกรณีนี้ย่อมไม่ใช่ขี้ตาปกติ

4. ตาแฉะหรือมีน้ำตามาก

หากอยู่ดีๆ ขี้ตาก็ไหลล้นออกมาโดยไม่ได้เศร้าเสียใจ อาจจะเป็นในตาข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ กรณีนี้ไม่ปกติ สามารถพบมากในผู้สูงอายุ

บางคนมีการระคายเคืองตามากๆ ทำให้น้ำตาไหลออกมามาก แม้จะมีขี้ตา แต่เป็นน้ำจน ไม่เห็นว่าเป็นขี้ตาก็ได้

5. มีอาการผิดปกติของร่างกายส่วนอื่นๆ ร่วมด้วย

เช่น มีไข้ เจ็บคอ เป็นผื่น หรือปัญหาทางผิวหนัง แพ้ยา ใช้ยาเคมีบำบัดบางชนิด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บางคนมีขี้ตามากกว่าปกติเล็กน้อยเป็นประจำจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา โดยอาจเกิดจากการใส่คอนแทคเลนส์ ต่อขนตา สักขอบตา หรือใช้เครื่องสำอางรอบตาปริมาณมาก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ขี้ตาเยอะ บ่งบอกถึงโรคอะไร?

เมื่อมีปัญหาขี้ตาเยอะ โรคตาที่เป็นน่าจะเกี่ยวข้องกับเยื่อบุตา ผิวกระจกตา หรือเปลือกตา อันเป็นส่วนของผิวและผนังด้านนอกของดวงตา

หากเป็นโรคตาอื่นๆ ซึ่งความผิดปกติอยู่ภายในลูกตา เช่น ต้อกระจก ม่านตาอักเสบ จอประสาทตาผิดปกติ จะไม่มีอาการขี้ตาเยอะ

โดยเยื่อบุตา คือเยื่อใสที่คลุมส่วนของดวงตาส่วนตาขาว และบุอยู่ด้านในของเปลือกตา เยื่อบุตาทำหน้าที่ผลิตเมือก อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของน้ำตา ทำหน้าที่เกลี่ยให้น้ำตากระจายไปทั่วลูกตา

หากเยื่อบุตา เปลือกตา หรือผิวตามีความผิดปกติ จะผลิตเมือกออกมามาก หากมีการอักเสบหรือมีการติดเชื้อ เกิดมีเซลล์ตายมากขึ้น ขี้ตาย่อมมากขึ้น เชื้อโรคต่างๆ ก็จะทำให้สีของขี้ตาออกมาไม่เหมือนกัน ปริมาณก็ต่างกัน

เยื่อบุตาอักเสบ เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อย ที่ทำให้มีอาการขี้ตาเยอะ โดยเชื้อโรคที่ทำให้เกิดเยื่อบุตาติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส

เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial conjunctivitis)

เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่

1. เชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่วๆไป

เชื้อส่วนใหญ่เป็นเชื้อโรคที่อยู่บริเวณผิวหนัง เชื้อเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบรุนแรง สามารถหายได้เองภายในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ สาเหตุเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสิ่งสกปรก เช่น ชอบเอามือที่สัมผัสสิ่งต่างๆ รอบตัวแล้วมาขยี้ตาโดยยังไม่ได้ล้างมือก่อน

อาการ มักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในวันหรือสองวัน ตาจะแดง แสบตา มีขี้ตาสีเขียวๆ เหลืองๆ ออกมาเรื่อยๆ ตลอดวันจนตาแฉะ

เมื่อตื่นนอนตอนเช้าจะพบขี้ตามากจนขนตาบนล่างมาติดกันจนลืมตายาก และอาจมีกระจกตาอักเสบร่วมด้วย

การรักษา ส่วนใหญ่ใช้ยาปฏิชีวนะหยอดตา โดยหยอดตาข้างที่เป็นวันละ 4 ครั้ง ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์

แม้ตามตำราจะบอกว่าสามารถหายได้เอง แต่การให้ยาปฏิชีวนะหยอดตาช่วยให้สบายตาและหายเร็วขึ้น

2. เชื้อแบคทีเรียที่ร้ายแรง

ได้แก่ เชื้อหนองใน (Gonococcal Conjunctivitis: GC) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อหนองใน ปัจจุบันพบไม่บ่อยแล้ว ที่มาเกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น ใช้มือที่สัมผัสอวัยะวะที่มีเชื้อแล้วมาสัมผัสตา

อาการ รุนแรงกว่าเชื้อแบคทีเรียทั่วไปมาก คนไข้จะปวดตามาก เปลือกตาบวมเป่ง และเยื่อบุตาแดงจัด มีขี้ตาเป็นหนองปริมาณมากเหมือนนมข้น เกิดแผลติดเชื้อที่กระจกตาได้ แม้กระจกตาจะไม่มีแผล

การรักษา ต้องได้รับยาปฏิชีวนะยาฉีดหรือยากินรักษาเชื้อหนองใน ต้องล้างตาด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ ช่วยล้างขี้ตาที่เป็นหนองออก และเนื่องจากเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงต้องแจ้งให้คนไข้รวมถึงคู่นอนทราบด้วย เพื่อให้การรักษา

คุณสามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้โดยใส่ใจเรื่องล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการขยี้ตา

เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อคลามีเดีย (Adult chlamydial conjunctivitis)

เชื้อคลามีเดียนี้เป็นเชื้อที่มักพบในโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ชนิดโรคหนองในเทียม จากการสัมผัสที่อวัยวะเพศที่ติดเชื้อแล้วเอามาสัมผัสตา

อาการ ได้แก่ ตาแดง น้ำตาไหลมาก ขี้ตาเป็นหนองเขียวๆ เหลืองๆ แต่อาการมักจะเกิดขึ้นช้าๆ ในเวลาเป็นสัปดาห์ ไม่เป็นภายในวันสองวันเหมือนอย่างในเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส อาจจะอักเสบข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาการอาจหายได้เองในเวลาหลายเดือน

การรักษา ต้องกินยาปฏิชีวนะรักษาโรคหนองในเทียม และมักให้ยาหยอดตาซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะร่วมด้วย แต่ถึงจะให้ยารักษาอย่างถูกต้องก็มักจะใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะหายสนิท

เนื่องจากเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงต้องชี้แจงให้คนไข้แจ้งให้คู่นอนทราบและแนะนำให้มาตรวจรักษาด้วย รวมถึงอาจส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินปัสสาวะหรือนรีเวช

เยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส (Viral conjunctivitis)

เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาการติดเชื้อทั้งหลาย มีการติดต่อกันง่ายและรวดเร็วมาก

โดยการติดเชื้อแพร่ผ่านฝอยละออง (Droplets) ที่กระจายออกมาจากคนไข้ จึงสามารถติดต่อกันในครอบครัวหรือที่ทำงานเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นไวรัสรูปแบบใด อาการจะเหมือนๆ กันคือ เริ่มต้นด้วยตาแดง เคืองตา แสบตาแพ้แสง มีขี้ตามากจนเป็นน้ำ อาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในวันเดียว อาจเป็นตาเดียวหรือสองตา มักจะเป็นตาข้างหนึ่งก่อน โดยตาอีกข้างจะเป็นตามมาใน 2-3 วัน และตาข้างที่เป็นภายหลังอาการมักจะไม่รุนแรงเท่าตาแรก

อาการตาแดงจากเชื้อไวรัสมีหลากหลายรูปแบบย่อยๆ ได้แก่

1. เชื้อ Adenovirus

เป็นเชื้อที่พบบ่อยที่สุด ที่มักรู้จักกันดีว่าเป็นโรคตาแดงระบาด (Epidemic Keratoconjunctivitis: EKC) ในบ้านเราพบได้ตลอดปี แต่มักจะระบาดช่วงฤดูฝนและหลังน้ำท่วม

2. เชื้อ Pharyngoconjunctival Fever (PCF)

นอกจากตาแดง มีขี้ตาแฉะๆ เป็นน้ำแล้ว จะมีอาการไข้หวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการเจ็บคอ พบบ่อยในเด็กและคนในครอบครัว อาการตาแดงมีขี้ตาไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อตาแดงระบาด

3. โรคตาแดงที่มีเลือดออกใต้เยื่อบุตา (Acute hemorrhagic conjunctivitis)

อาการ ได้แก่ เจ็บตา ตาแดง ตาบวม จะรุนแรงและเกิดขึ้นรวดเร็วที่สุด มีอาการเลือดออกใต้เยื่อบุตา เริ่มต้นจากตาขาวด้านบน จนตาขาวแดงเป็นสีเลือดดูน่ากลัว เป็นลักษณะเฉพาะของไวรัสชนิดนี้

ระยะของโรคเยื่อบุตาอักเสบจากไวรัส อาการตาแดงมีขี้ตามากจะเป็นอยู่เป็นสัปดาห์แล้วหายไปได้เอง

แต่หากพ้น 7-10 วันแล้วยังไม่หาย จะเข้าสู่ระยะเกิดกระจกตาอักเสบ โดยจะมีจุดขาวๆ บนกระจกตา ยิ่งเคืองตามากกว่าเดิม และตามัวลงด้วย อาการเช่นนี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์

หลังจากนั้นกระจกตาจะเกิดฝ้าขาวๆ เหมือนไอน้ำจากการหายใจรดกระจก อันเกิดจากภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อไวรัส ระยะนี้ตาจะไม่แดงไม่มีขี้ตาแล้ว แต่ตาจะยังมัวอยู่อีกเป็นเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ

โรคเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อไวรัสสามารถหายได้เองโดยภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้นหากเริ่มมีอาการ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย

แพทย์จะให้ยาหยอดตาเพื่อช่วยทำให้สบายตาขึ้น อาจจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ในรายที่อาการรุนแรง โดยแพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการ คนไข้เองก็ควรจะพักผ่อนอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรงที่สุด อาการต่างๆจะทุเลาลงจนสามารถหายภายในสัปดาห์เดียว ไม่เข้าสู่ระยะกระจกตาอักเสบ เพราะหากเป็นเช่นนั้น จะใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 สัปดาห์กว่าจะหายเป็นปกติ

เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคเยื่อบุตาอักเสบ จำเป็นต้องแยกของใช้ ล้างมือบ่อยๆ หลังจากจับต้องสิ่งของในบริเวณที่ใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดในบริเวณที่คนไข้สัมผัส

คนไข้เองไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าก๊อซปิดตา เพราะการปิดตาในตาที่ติดเชื้อ ยิ่งทำให้ตาขาดออกซิเจน ไม่เป็นผลดีต่อการหายเลย

ดูแพ็กเกจตรวจตา เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Parson’s disease of eyes. 22nd edition, Reed Elsevier India Private Limited.2015
Kanski, Clinical Ophthalmology, 8th edition, Elsevier Limited.2016
Eye Manual , The Royal College of Ophthalmologists of Thailand.,2558

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป