รู้จักกับอาการกล่องเสียงอักเสบ
กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis) คือ อาการอักเสบของกล่องเสียง (Larynx) ซึ่งจะส่งผลต่อการพูด ทำให้มีเสียงแหบ เสียงหาย เจ็บคอ พูดไม่ชัด หรือรู้สึกระคายเคืองในคอ ผู้ป่วยบางรายอาจมีเสมหะหรืออาการไอร่วมด้วย
อาการกล่องเสียงอักเสบอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือเป็นแบบเรื้อรังก็ได้ โดยส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการใช้เสียงมากเกินไปหรือการติดเชื้อไวรัส และมักไม่มีอาการรุนแรงแต่อย่างใด
สาเหตุของอาการกล่องเสียงอักเสบ
- การติดเชื้อไวรัส โดยเริ่มจากอาการเป็นหวัดหรือเจ็บคอ แล้วลามไปถึงกล่องเสียง เมื่อเส้นเสียงระคายเคืองจากการติดเชื้อ ก็จะเกิดการบวมและไม่สามารถสั่นสะเทือนเพื่อให้เกิดเสียงได้
- การติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ป (Strep) หรือแบคทีเรียอื่นๆ
- การดื่มสุรา
- การดื่มเครื่องดื่มร้อนจัด
- การสูดฝุ่นควันหรือควันบุหรี่เข้าไป
- การตะโกนหรือการส่งเสียงดัง
การใช้เสียงและมีพฤติกรรมผิดๆ เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดอาการกล่องเสียงอักเสบ รวมถึงทำให้เกิดตุ่มที่สายเสียง ซึ่งเป็นสาเหตุให้สายเสียงเสียอย่างถาวรได้อีกด้วย
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
กล่องเสียงอักเสบมีอาการอย่างไร
อาการกล่องเสียงอักเสบมักเริ่มด้วยอาการไอแห้งๆ เสียงแหบ และเจ็บคอ แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากอาจไม่มีเสียงพูดเลย รวมถึงกลืนน้ำลายหรือหายใจก็ทำได้ลำบากเช่นกัน
การวินิจฉัยกล่องเสียงอักเสบ
แพทย์จะเริ่มจากการตรวจคอโดยใช้ไม้กดลิ้นไว้และใช้ไฟส่องไปในลำคอเพื่อดูอาการบวมแดง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ จากนั้นอาจมีการเก็บเสมหะเพื่อส่งตรวจดูเชื้อ บางรายอาจใช้กล้องส่องใส่เข้าไปทางคอ (Laryngoscopy) เพื่อดูว่ามีเนื้องอก ติ่งเนื้อ หรือตุ่มที่เป็นสาเหตุทำให้เสียงแหบหรือไม่ และอาจตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมาตรวจวิเคราะห์ด้วย
การรักษากล่องเสียงอักเสบ
- อาการที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะต้องรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาแอมพิซิลลิน (Ampicillin) หรือยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) เป็นเวลานาน 10 วัน
- อาการที่เกิดจากการใช้เสียงมากเกินไปหรือจากการระคายเคือง แพทย์จะแนะนำให้พักผ่อน หรืองดใช้เสียงจนกว่าอาการจะดีขึ้น
- อาการที่เกิดจากภูมิแพ้ ผู้ป่วยอาจต้องพ่นยาจำพวกอิพิเนฟริน (Epinephrine) ชนิดสเปรย์โดยตรงที่เส้นเสียง
- อาการที่เกิดจากการมีเนื้องอก มีติ่งเนื้อหรือมีตุ่มที่เส้นเสียง อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งระหว่างที่รับการรักษา ผู้ป่วยควรงดใช้เสียง ดื่มน้ำอุ่นมากๆ เคี้ยวหมากฝรั่ง และอาจใช้เครื่องพ่นละอองน้ำเย็นเพื่อช่วยให้เส้นเสียงได้พักและลดการอักเสบด้วย
การดูแลตนเองเมื่อกล่องเสียงอักเสบ
- พักการใช้เสียง และอยู่ในบริเวณที่มีความชื้นเพียงพอ
- หากมีเสมหะ ให้ดื่มน้ำ 2-3 ลิตรต่อวันเพื่อละลายเสมหะ และช่วยให้เสมหะไม่เหนียว
- หมั่นสังเกตอาการดังต่อไปนี้ หากมีอาการข้างต้น ให้ไปพบแพทย์อีกครั้งเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่
- เสียงหาย
- เจ็บคอ
- กลืนน้ำลายลำบาก
- ไอเป็นเลือด
- หายใจมีเสียงแหบ
- มีการอักเสบของกล่องเสียงมากกว่า 5 วัน
การป้องกันกล่องเสียงอักเสบ
การป้องกันกล่องเสียงอักเสบสามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน เพียงเท่านี้คุณก็จะลดความเสี่ยงที่ตนเองจะเกิดอาการกล่องเสียงอักเสบได้แล้ว เช่น
- หลีกเลี่ยงการตะโกน หรือตะเบ็งเสียงดังๆ
- งดสูบบุหรี่
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ คือ 8 แก้ว (ประมาณ 2 ลิตร) ต่อวัน และควรเป็นน้ำอุ่น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
- ไม่อยู่ในสถานที่ที่เป็นมลภาวะทางอากาศมากๆ เช่น ฝุ่น ควัน
- ถ้าเป็นหวัดหรือเกิดเสียงแหบ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา อย่าปล่อยให้เรื้อรังไว้
- หลีกเลี่ยงการขากเสมหะ เพราะจะทำให้เส้นเสียงสั่นผิดปกติจนเกิดการอักเสบได้
อาการกล่องเสียงอักเสบสามารถลุกลามไปถึงภาวะเส้นเสียงเป็นอัมพาตได้ รวมถึงโรคหลอดลมอักเสบหรือโรคปอดอักเสบ ดังนั้นผู้ที่มีอาการคล้ายกับเป็นกล่องเสียงอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ จะได้ทำการรักษาได้ทันก่อนที่อาการจะรุนแรงขึ้น
สอบถามเรื่อง ผลกระทบของบุหรี่ ที่ส่งผลไปถึงการเป็น มะเร็งกล่องเสียงครับ ( อยากได้เป็นข้อความเสียง มาใส่ ใน โปรเจคงาน เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องบุหรี่อะครับ )