อาหารเสริมผิวขาว...ดีจริงหรือ?

อาหารเสริมผิวขาวที่วางขายในปัจจุบันช่วยให้ผิวขาวขึ้นได้จริงไหม ส่วนผสมของมันมีอะไรบ้าง มีผลวิจัยใดยืนยันสรรพคุณได้บ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 28 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 15 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
อาหารเสริมผิวขาว...ดีจริงหรือ?

ปัจจุบันในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถบำรุงให้ผิวขาวใสขึ้นได้ แต่ในการจะเลือกซื้อหามารับประทานนั้น คุณควรพิจารณาจากสารสำคัญที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ว่าจะให้ประโยชน์ต่อผิวและมีผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรบ้าง สารสำคัญในอาหารเสริมผิวขาว ได้แก่ กลูต้าไธโอน วิตามินซี สารสกัดจากเมล็ดองุ่น ซึ่งสารแต่ละตัวมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. กลูต้าไธโอน

เป็นสารที่คนส่วนใหญ่รู้จักว่าช่วยทำให้ผิวดูขาวขึ้น นิยมใส่ในอาหารเสริมสำหรับผิวขาว ทั้งแบบเม็ด แคปซูล และแบบชงดื่ม ความจริงแล้วกลูต้าไธโอนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่ปกป้องเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายจากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ กลูต้าไธโอนเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีมากชนิดหนึ่ง ซึ่งร่างกายสามารถผลิตเองได้ และมีการค้นพบว่ากลูต้าไธโอนมีคุณสมบัติในการลดการสร้างเม็ดสีผิวหรือเมลานินได้ (Antimelanogenic properties) ดังนั้นจึงอาจทำให้ผิวขาวขึ้นได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

แต่ก็ยังมีข้อโต้เถียงถึงประสิทธิภาพและการใช้สารนี้ในด้านการปรับสีผิวอยู่เรื่อยๆ เริ่มแรกกลูต้าไธโอนได้เป็นที่รู้จักในด้านสารที่มีสมบัติทำให้ผิวขาว และพบว่าสีผิวของผู้ได้รับการฉีดดูขาวขึ้นเนื่องจากกลูต้าไธโอนไปยับยั้งการเกิดเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) และส่งผลให้เม็ดสีผิวจากสีน้ำตาลกลายเป็นสีชมพู จากนั้นมา กลูต้าไธโอนจึงเป็นที่รู้จักกันในยาฉีดที่ทำให้ผิวขาวเร็ว แต่กฏหมายไทยและอเมริกายังถือว่าการฉีดกลูต้าไธโอนเป็นสิ่งผิดกฏหมาย หลังจากนั้น มีการนำกลูต้าไธโอนมาผสมในอาหารเสริม และอ้างสรรพคุณว่าทำให้ผิวขาว

ซึ่งจากผลงานวิจัยหลายชิ้นที่มีการทดลองทั้งในสัตว์ทดลองและในมนุษย์พบว่า เมื่อสัตว์ทดลองได้กินกลูต้าไธโอนไปแล้ว สารกลูต้าไธโอนจะถูกย่อยสลายทั้งหมดที่ไต และการทดลองในคนก็พบว่ากลูต้าไธโอนจะถูกย่อยสลายไปเป็นกรดอะมิโนและจะสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่เองโดยเซลล์ในร่างกาย แต่บางการทดลองในมนุษย์ก็พบว่าการรับประทานกลูต้าไธโอนปริมาณ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว ทำให้ระดับกลูต้าไธโอนเพิ่มขึ้นได้จริง

มีการทดลองของนักวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่ทำการทดลองถึง 6 เดือนในผู้ใหญ่ 54 คน พบว่าการรับประทานกลูต้าไธโอนปริมาณ 250-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับกลูต้าไธโอนและส่วนใหญ่จะลดลงเหลือเท่าเดิมหลังจากหยุดยา 1 เดือน แต่ก็มีการพบว่าระดับกลูต้าไธโอนไม่ต่างจากปกติ เช่น การทดลองของนักวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่ทดลอง 1  เดือนในผู้เข้าร่วมการวิจัย 40 คน พบว่าการรับประทานกลูต้าไธโอนปริมาณ 1000 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับกลูต้าไธโอน 

ดังนั้นกลูต้าไธโอนจากการรับประทานอาจไม่มีผลต่อระดับกลูต้าไธโอนในร่างกาย และอาจไม่ส่งผลให้ผิวมีสีขาวขึ้น อาจสังเกตได้ว่าในอาหารเสริมที่มีกลูต้าไธโอนมักมีวิตามินซี วิตามินอี Alpha-lipoic acid, N-acetyl cysteine, Grape seed extract ผสมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้รับประทานอาหารเสริมแล้วผิวขาวขึ้น อาจเป็นเพราะวิตามินและสารสกัดอื่นๆ เหล่านี้

2. วิตามินซี

ป็นวิตามินที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มาก และนิยมใช้ในอาหารเสริม ทั้งเป็นแบบวิตามินซีล้วนๆ หรือผสมกับสารอาหารบำรุงผิวอื่นๆ วิตามินซีและอนุพันธ์ของวิตามินซีมีผลการวิจัยว่าช่วยลดการสังเคราะห์เม็ดสีผิวได้ ซึ่งวิตามินซีจะไปช่วยลดการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างเม็ดสีผิวหรือเมลานิน (Melanogenesis)

ดังนั้นวิตามินซีจึงนิยมใช้เป็นสารลดการสร้างเม็ดสีและรักษาผิวจากโรคที่เกี่ยวกับการสร้างเมลานิน เช่น ฝ้า หรือจุดด่างดำ

3. Grape seed extract (สารสกัดจากเมล็ดองุ่น)

เป็นหนึ่งในสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง และประกอบด้วยสาร Oligomeric proanthocyanidic  หรือเรียกกว่า OPC นักวิจัยได้พบว่าสารนี้มีฤทธิ์ปกป้องเซลล์จากการทำร้ายจากแสงยูวี และช่วยลดรอยแดงของเซลล์ที่ถูกทำลาย เช่นการอักเสบของสิว นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการสังเคราะห์คอลลาเจนซึ่งเป็นสารสำคัญของชั้นผิวหนังอีกด้วย

ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือที่เรียกกันติดปากว่าอาหารเสริมบางอย่างนั้น มีผลช่วยให้ผิวดูขาวแลกระจ่างใสได้ แต่ก่อนจะรับประทานจะเราต้องพิจารณาเลือกเฉพาะอาหารที่มี อย. และสามารถตรวจสอบได้ สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกลูต้าไธโอน นอกจากจะมีงานวิจัยยืนยันว่าไม่ได้ส่งผลต่อเม็ดสีผิวแล้ว การรับประทานกลูต้าไธโอนในผู้ป่วยมะเร็งจะต้องระวังเนื่องจากจะทำให้เซลล์มะเร็งต้านยารักษาได้สารที่ช่วยให้ผิวขาวขึ้นนั้นอาจมาจากวิตามินซี วิตามินอี สารสกัดเมล็ดองุ่น หรือสารอื่นๆ ที่ประกอบอยู่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรืออาหารเสริมนั้นๆ มากกว่า

อย่างไรก็ตาม คุณสามารถดูแลผิวให้กระจ่างใสได้จากการทาครีมกันแดด ออกกำลังกาย พักผ่อนอย่างเหมาะสม ทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคู่ไปด้วย จะให้ผลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ดร.นัฏฐกาล ลีลารุ่งระยับ วท.ด(ชีวเคมี), ดร.นพ.ประสงค์ เทียนบุญ พบ,PhD (nutrition) กลูตาไทโอนและผลต่อสุขภาพ, วารสารคลินิกอาหารและโภชนาการ พ.ศ. 2550 ปีที่ 1 ฉบับที่ 1, 20-29
Choi YK, Rho YK, Yoo KH, Lim YY, Li K, Kim BJ, Seo SJ, Kim MN, Hong CK,& Kim DS.Effects of vitamin C vs. multivitamin on melanogenesis: comparative study in vitro and in vivo.Int J Dermatol. 2010 Feb;49(2):218-26
Hong-Xin Cui., Fang-Fang Duan., Shan-Shan Jia., Fang-Rong Cheng., & Ke Yuan. Antioxidant and Tyrosinase Inhibitory Activities of Seed Oils from Torreya grandis Fort. ex Lindl.Biomed Res Int. 2018

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)