ทำความเข้าใจ “ระบบผิวหนัง”

รู้จักโครงสร้างและหน้าที่ของผิวหนัง อวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายมนุษย์
เผยแพร่ครั้งแรก 8 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ทำความเข้าใจ “ระบบผิวหนัง”

หลายคงยังไม่ทราบว่า อวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายก็คือผิวหนัง โดยผิวหนังไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่ป้องกันอันตรายภายนอก หรือควบคุมสมดุลและอุณหภูมิ แต่ยังมีหน้าที่อีกหลายอย่างที่สำคัญมากต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย แม้จะเห็นเหมือนว่าเป็นเพียงชั้นบางๆ แต่ความจริงผิวหนังมีโครงสร้างซับซ้อนอย่างยิ่ง เราจะมาทำความเข้าใจโครงสร้างและหน้าที่ของผิวหนังของเรากันมากขึ้น ตามมาดูกันนะครับ

ผิวหนังของคนเรามีกี่ชั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง?

ผิวหนังหนังของคนเราประกอบด้วย 3 ชั้นหลัก ได้แก่ ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ชั้นหนังแท้ (Dermis) และชั้นไขมัน (Subcutis) ผิวหนังทั้ง 3 ชั้นนี้มีองค์ประกอบและหน้าที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทำให้มีความสำคัญต่อร่างกายต่างกัน ดังนี้

1.ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (Epidermis)

เป็นชั้นที่บางที่สุดในบรรดาชั้นผิวหนังทั้งสามชั้น ผิวหนังชั้นนี้เป็นชั้นที่อยู่นอกที่สุด ติดกับสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย จึงเปรียบเสมือนเป็นปราการด่านแรกหากมีอันตรายเข้ามาสู่ร่างกาย เซลล์ผิวหนังแต่ละเซลล์ในชั้นนี้ถูกเรียกว่าเคราติโนไซต์ (Keratinocyte) โดยส่วนใหญ่ผิวหนังในชั้นนี้ประกอบด้วย 4 ชั้นย่อย แต่หากเป็นบริเวณฝ่ามือหรือฝ่าเท้าจะประกอบด้วย 5 ชั้นย่อย ชั้นย่อยแต่ละชั้นมีความสำคัญ องค์ประกอบ และโครงสร้างที่แตกต่างกัน โดยแต่ละชั้นประกอบด้วย

a.สตราตัมเบซาเล (Stratum basale) 

เป็นชั้นย่อยของชั้นหนังกำพร้าในชั้นล่างสุด ประกอบด้วยเซลล์ต้นกำเนิดที่สามารถแบ่งตัวได้ตลอดเวลา (Stem cell) ซึ่งเซลล์ผิวหนังในชั้นนี้จะเป็นเซลล์ที่เรียงตัวเป็นแถวเดียว เซลล์ต้นกำเนิดจะทำหน้าที่ในการแบ่งตัว เซลล์ที่ถูกสร้างใหม่จะเคลื่อนตัวขึ้นด้านบนในทิศทางออกสู่สิ่งแวดล้อมและเปลี่ยนหน้าที่ไปตามการเจริญเติบโตของเซลล์ หากเซลล์ในชั้นนี้ได้รับอันตรายจนเซลล์ต้นกำเนิดข้างเคียงไม่สามารถแบ่งเซลล์มาช่วยเหลือได้ จะเกิดเป็นแผลเป็น (Scar) ตามมา ในชั้นนี้นอกจากจะเป็นที่อยู่ของเซลล์ต้นกำเนิดแล้ว ยังมีเซลล์อีกชนิดหนึ่งซึ่งแทรกอยู่ในแถวของเซลล์ต้นกำเนิด นั่นคือ เซลล์ผลิตเม็ดสี (Melanocyte) ซึ่งเซลล์ชนิดนี้มีปริมาณน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับปริมาณของเซลล์ต้นกำเนิด แต่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเซลล์เม็ดสีจะทำหน้าที่ในการผลิตเม็ดสี (Melanin pigment) โดยบรรจุอยู่ในถุงเก็บเม็ดสี (Melanosome) 

หลังจากผลิตเม็ดสีแล้ว เซลล์ดังกล่าวจะส่งต่อเม็ดสีไปยังเซลล์ผิวหนังที่อยู่ชั้นบนเพื่อให้เซลล์ดังกล่าวมีเม็ดสีสะสมอยู่ โดยเม็ดสีมีหน้าที่สำคัญคือเป็นสารดูดซับรังสีจากภายนอก โดยเฉพาะรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet ray หรือ UV ray) ซึ่งเป็นรังสีที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อสารพันธุกรรม โดยเฉพาะในชั้นเซลล์ต้นกำเนิด ทำให้เกิดการผ่าเหล่า (Mutation) จนทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ตามมามากมาย โดยหนึ่งในนั้นคือโรคมะเร็งผิวหนัง (Skin cancer) ดังนั้นการมีเม็ดสีสะสมอยู่ในชั้นเซลล์ผิวหนังที่เหมาะสม จึงเป็นการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตที่จะลงมาทำลายผิวหนังในชั้นล่างลงไป

b.สตราตัมสไปโนซัม (Stratum spinosum) 

เป็นชั้นย่อยของชั้นหนังกำพร้าที่ถัดขึ้นมาจากชั้นสตราตัมเบซาเล เซลล์ผิวหนังในชั้นนี้มีรูปร่างเป็นเหลี่ยมมุม เป็นชั้นที่มีการสร้างสารที่ใช้ในการเชื่อมติดของเซลล์แต่ละเซลล์ (Intercellular junctions) ที่บริเวณผิวเซลล์ค่อนข้างมาก สารเชื่อมต่อมีหน้าที่ทำให้เซลล์ในชั้นหนังกำพร้าสามารถยึดติดกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

c.สตราตัมแกรนูโลซัม (Stratum granulosum) 

เป็นชั้นที่ถัดขึ้นมาจากชั้นสตราตัมสไปโนซัม หน้าที่สำคัญของผิวหนังชั้นนี้คือผลิตสารที่ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว เช่น เซราไมด์ (Ceramide) ลอริคริน (Loricrin) และลิพิด (Lipid) ซึ่งเป็นสารให้ความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ (Natural moisturizing factors) และสารผลัดผิวเพื่อให้ขี้ไคลสามารถหลุดออกไปได้ สารทั้งหมดถูกผลิตเก็บไว้เป็นถุง (Granules) เตรียมพร้อมส่งออกจากเซลล์สู่ชั้นนอกสุด คือชั้นสตราตัมคอร์เนียม (Stratum corneum)

d.สตราตัมคอร์เนียม (Stratum corneum) 

เป็นชั้นนอกสุดของหนังกำพร้า หรืออีกชื่อหนึ่งคือชั้นขี้ไคล ผิวหนังในชั้นนี้จะหนาตัวเป็นพิเศษในบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ประกอบเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วคงเหลือไว้แค่ซากของผนังของเซลล์ (Cornified envelop) ระหว่างซากของเซลล์แต่ละเซลล์ถูกผสานด้วยไขมันและสารให้ความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ ที่สร้างจากชั้นสตราตัมกรานูโลซัม (Stratum granulosum) โดยจะผสานกันคล้ายกับซากของเซลล์เป็นอิฐ และไขมันเป็นปูน (Brick and mortar) ความสำคัญของผิวหนังชั้นนี้คือเป็นชั้นที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ดังนั้นหากผิวหนังในชั้นนี้เสียสมดุลไป จะทำให้เกิดภาวะผิวขาดความชุ่มชื้นซึ่งเป็นอาการของโรคผิวหนังในหลายโรค นอกจากนี้แล้วผิวหนังชั้นนี้ยังทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันที่สำคัญจากอันตรายภายนอก เช่น เชื้อโรค สารเคมี หรือแม้แต่มลภาวะในสิ่งแวดล้อม

e.สตราตัมลูซิดัม (Stratum lucidum) 

เป็นชั้นพิเศษที่เพิ่มขึ้นมาเหนือชั้นสตราตัมเบซาเล (Stratum basale) พบเฉพาะผิวหนังบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าเท่านั้น

โดยทั่วไปผิวจากชั้นล่างสุดจะเคลื่อนตัวจนถึงชั้นบนสุด ใช้เวลาทั้งสิ้น 28 วัน นอกจากเซลล์ที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น ในผิวหนังชั้นหนังกำพร้ายังมีเซลล์อีก 2 เซลล์ ได้แก่ เซลล์เมอร์เกิล (Merkle’s cell) ซึ่งทำหน้าที่ในการรับแรงกระทำต่อผิวหนัง (Mechanoreceptor) ทำให้เกิดความรู้สึกเมื่อมีการสัมผัส และเซลล์แลงเกอร์ฮานส์ (Langerhans cell) ทำหน้าที่เป็นเซลล์คอยดักจับเชื้อโรค เพื่อให้ร่างกายรู้จักกับเชื้อโรคและสามารถกำจัดเชื้อโรคที่บุกรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หน้าที่สำคัญของชั้นหนังกำพร้าอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นชั้นที่สามารถสังเคราะห์วิตามินดี (vitamin D) ให้แก่ร่างกายได้ เมื่อผิวหนังได้รับแสงแดดที่เหมาะสม

2.ผิวหนังชั้นหนังแท้ (Dermis) 

เป็นชั้นที่หนาเป็นลำดับสองในทั้งสามชั้นของผิวหนัง โดยอยู่ใต้ต่อชั้นหนังกำพร้า มีชั้นบางๆ เรียกว่าเบสเมนต์เมมเบรน (Basement membrane) ในชั้นเบสเมนต์เมมเบรนประกอบด้วยสารต่างๆ มากมาย ทำหน้าที่คล้ายแผ่นกาวสองหน้าเป็นตัวเชื่อมและขอเกี่ยวระหว่างผิวหนังชั้นหนังกำพร้ากับชั้นหนังแท้เข้าไว้ด้วยกัน 

ผิวหนังชั้นหนังแท้สามารถแบ่งเป็นชั้นหนังแท้ส่วนบน (Upper dermis หรือ Papillary dermis) กับชั้นหนังแท้ส่วนล่าง (Lower dermis หรือ Reticular dermis) โดยทั้งสองชั้นมีส่วนประกอบ 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนที่ไม่ใช่เซลล์และส่วนที่เป็นเซลล์ 

ส่วนที่ไม่ใช่เซลล์ ได้แก่ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) เช่น คอลลาเจน (Collagen) อิลาสติน (Elastin) และสารอินทรีย์อื่นๆและอนุพันธ์ของสารอินทรีย์นั้นในช่องว่างระหว่างเซลล์ (Ground substances) ส่วนที่เป็นเซลล์ ได้แก่ หลอดเลือดฝอย หลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ ท่อน้ำเหลือง เส้นประสาท กล้ามเนื้อ และเซลล์ต่างๆ เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์ที่ทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรคเพื่อให้ร่างกายรู้จักเชื้อและกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเซลล์ที่ใช้ในการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Fibroblast) นอกจากส่วนประกอบที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ผิวหนังในชั้นนี้ยังเป็นที่อยู่ของอวัยวะต่างๆของผิวหนัง (Skin appendages) ไม่ว่าจะเป็น เส้นขนหรือเส้นผม (Hair) กล้ามเนื้อเรียบ (Arrector pili muscle) ต่อมไขมัน (Sebaceous glands) ต่อมเหงื่อ (Eccrine gland และ Apocrine gland) อวัยวะต่างๆ ของผิวหนังจะมีสัดส่วนไม่เท่ากันในแต่ละตำแหน่งของร่างกาย 

โดยทั่วไปแล้วหนังแท้ในส่วนที่ไม่ใช่เซลล์จะทำหน้าที่ในการเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ผิว ทำให้ผิวยืดหยุ่นและคงรูปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหลอดเลือดและระบบน้ำเหลืองทำหน้าที่ให้อาหารและขับถ่ายของเสีย รวมถึงเป็นทางลำเลียงเม็ดเลือดขาวมาต่อสู้ก้บเชื้อโรคหากเกิดการติดเชื้อ ส่วนเส้นประสาทและกล้ามเนื้อใช้ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากสิ่งแวดล้อม อวัยวะต่างๆของผิวหนังตามที่ได้กล่าวข้างต้นต่างมีหน้าที่จำเพาะในแต่ละด้าน ซึ่งหากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไปหรือมีองค์ประกอบบางส่วนเกินมาจะทำให้เกิดการขาดความสมดุล เกิดการทำงานของผิวหนังบางอย่างบกพร่องไป นำมาสู่โรคทางผิวหนังมากมาย และหากชั้นหนังแท้ได้รับการบาดเจ็บจะทำให้เกิดแผลเป็นตามมาในที่สุด

3.ชั้นไขมัน (Subcutis) 

เป็นชั้นล่างสุดและเป็นชั้นที่หนาที่สุดของผิวหนังทั้งสามชั้น (อย่างไรก็ตาม ในผิวหนังบางตำแหน่งชั้นไขมันอาจบางกว่าชั้นหนังแท้ได้) เป็นชั้นที่ประกอบไปด้วยเซลล์ไขมัน (Adipocyte หรือ Fat cell) เป็นส่วนใหญ่ และมีระบบหลอดเลือดและน้ำเหลืองสำหรับให้อาหารและขับถ่ายของเสีย ชั้นไขมันมีหน้าที่หลักในการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยทำหน้าที่เป็นเสมือนฉนวนความร้อน ป้องกันอุณหภูมิจากภายนอกที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานสำรองของร่างกาย ช่วยลดแรงกระแทรกที่เกิดจากแรงกระทำจากสิ่งแวดล้อม รวมถึงการผลิตฮอร์โมนบางชนิดเพื่อช่วยในการรักษาสมดุลและควบคุมการทำงานของร่างกายอีกด้วย

อวัยวะอื่นๆ ที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับผิวหนัง ได้แก่ ขน ผม เล็บ ริมฝีปาก อวัยวะเพศ เยื่อบุต่างๆ ของร่างกาย (Mucosa) เช่น เยื่อบุตา (Conjuctiva) หรือเยื่อบุในช่องปาก (Oral mucosa) เป็นต้น

โดยสรุป ผิวหนังเป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อนทั้งทางด้านโครงสร้างและการทำงาน ในแต่ละชั้นของผิวหนังนั้นมีหน้าที่แตกต่างกันตามโครงสร้างและส่วนประกอบในแต่ละชั้น ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันอันตรายจากสิ่งแวดล้อม รังสี เชื้อโรค การควบคุมอุณหภูมิการ การรับสัมผัสความรู้สึก หรือแม้แต่การสร้างวิตามินและการควบคุมการทำงานของฮอร์โมนบางชนิดล้วนเป็นหน้าที่ของผิวหนังทั้งสิ้น ดังนั้นการดูแลผิวหนังอย่างถูกต้องเหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็น


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Bolognia JL. et al. Dermatology. 4th. 2018
Kang S, et al. Fitzpatrick’s Dermatology. 9th ed. 2019.
Griffiths C, et al. Rook’s Textbook of Dermatology. 9th ed. 2016.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป