สาเหตุและวิธีป้องกันรองเท้ากัด

รวมสาเหตุและวิธีรักษาแผลรองเท้ากัด พร้อมเคล็ดลับป้องกัน ทำอย่างไรไม่ให้รองเท้ากัด
เผยแพร่ครั้งแรก 21 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
สาเหตุและวิธีป้องกันรองเท้ากัด

เชื่อได้เลยว่าต้องมีคุณผู้ชายและคุณผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ซื้อรองเท้าแล้วต้องพบกับปัญหายอดฮิตอย่างการถูกรองเท้ากัด รวมไปถึงอาจรู้สึกเจ็บปวด หรือรู้สึกไม่สบายเท้าขณะเดิน และทำให้เราต้องกลับมาใส่รองเท้าคู่เก่าอีกครั้ง ในขณะที่รองเท้าคู่ใหม่ก็ต้องถูกเก็บเข้าตู้ไปอย่างน่าเสียดาย 

แผลรองเท้ากัดเกิดจากอะไร

หลายคนอาจสงสัยว่า ทั้งๆ ที่ตนเองเลือกซื้อรองเท้ามาในขนาดที่พอดีแล้ว หรือพื้นที่รองเท้ามีช่องว่างด้านในที่พอจะทำให้รองเท้าไม่กัดได้ แต่เมื่อได้ลองใส่รองเท้าใหม่ดู คุณกลับได้แผลรองเท้ากัดกลับมาจนได้ เรามาดูสาเหตุกันว่าทำไมถึงโดนรองเท้ากัด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

1. การเสียดสีระหว่างเท้ากับพื้นผิวรองเท้าใหม่ 

เพราะรองเท้าใหม่ส่วนมาก มักยังไม่มีความยืดหยุ่น หรือนุ่มพอที่จะปรับเข้ากับขนาดและรูปร่างเท้าของคุณได้ ทำให้ในขณะที่ใช้งานรองเท้าใหม่ๆ จึงเกิดการเสียดสีของพื้นรองเท้าที่ยังแข็งอยู่กับผิวเท้าจนทำให้เกิดแผลรองเท้ากัด วิธีนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการสวมถุงเท้าหรือถุงน่องระหว่างใช้รองเท้าใหม่ และคุณอาจต้องรอเวลาให้รองเท้าใหม่ถูกใช้งานไปสักระยะจนมีความอ่อนตัว แผลรองเท้ากัดจึงจะไม่เกิดขึ้น

2. ไม่ใส่ถุงเท้า 

ผู้ที่ไม่ใส่ถุงเท้าจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลรองเท้ากัดได้มากกว่า โดยเฉพาะกับรองเท้าผ้าใบ ซึ่งบางคนมักชอบใส่ด้วยเท้าเปล่าและไม่ใส่ถุงเท้าทับก่อน เนื้อผ้าของรองเท้าผ้าใบจะทำให้เกิดการเสียดสีและเกิดเป็นแผลรองเท้ากัดได้ ยิ่งกับรองเท้าผ้าใบที่เพิ่งซื้อใหม่ ยังไม่เคยมีการสวมใส่เพื่อให้เนื้อผ้ายืดหยุ่น ก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลรองเท้ากัดได้มากขึ้นกว่าเดิม

3. รองเท้ามีขนาดเล็ก หรือใหญ่เกินไป 

สำหรับผู้ที่เลือกรองเท้าคับเล็กเกินไป ย่อมทำให้ผิวรองเท้าด้านในมีโอกาสเสียดสีกับเท้าได้ง่าย จนทำให้เกิดเป็นแผลแสบ หรือเกิดเป็นตุ่มน้ำบวม และทำให้เกิดแผลเล็บขบได้ด้วย ส่วนผู้ที่เลือกรองเท้าขนาดใหญ่เกินไป จะทำให้เท้ามีการขยับถูกขอบรองเท้าบ่อยๆ ในขณะเดินเพราะพื้นที่ภายในรองเท้าที่มีเยอะเกินไป เมื่อเกิดการกระแทกและเสียดสีกันบ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดแผลรองเท้ากัดได้เช่นกัน

4. ขอบและพื้นของรองเท้ามีพื้นผิวที่หยาบ 

ขอบรองเท้า และพื้นรองเท้าเป็นตำแหน่งที่มักจะทำให้เกิดแผลรองเท้ากัดขึ้น หรือทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายเท้าขณะเดินได้ โดยเฉพาะในรองเท้าที่ถูกออกแบบมาด้วยวัสดุที่ไม่ได้คุณภาพ วิธีนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการหาซื้อพื้นรองเท้าหนัง หรือแผ่นรองรองเท้าซิลิโคนมาใส่เสริม เพื่อป้องกันการเสียดสีกันของขอบหรือพื้นรองเท้ากับผิวเท้าของคุณ

5. ความร้อน 

อุณหภูมิเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลรองเท้ากัดได้ เพราะเมื่อเกิดอากาศร้อน หรือพื้นที่ด้านในรองเท้ามีความร้อน ร่างกายของเราจะมีขยายตัวของหลอดเลือด และปล่อยสารน้ำเข้าสู่เนื้อเยื่อบริเวณขาและเท้าของเรา จนทำให้ขนาดเท้ามีการขยายตัวออกเล็กน้อย และไปสัมผัสเสียดสีกับพื้นรองเท้าจนเกิดเป็นแผลรองเท้ากัดได้

6. รองเท้าเปียก 

อาจเป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่การใส่รองเท้าที่เปียกชื้น หรือใส่ถุงเท้าเปียกก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดแผลรองเท้ากัดได้ เนื่องจากความชื้นที่เกิดขึ้นกับผิวจะทำให้ผิวหนังของเราอ่อนนุ่มและลื่นขึ้น จนอาจเกิดการเสียดสีกับพื้นรองเท้าและเกิดเป็นแผลรองเท้ากัดในที่สุด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

วิธีรักษาแผลรองเท้ากัด

ลักษณะแผลรองเท้ากัดที่พบส่วนมากมักเป็นตุ่มใส หรือตุ่มพองที่มีน้ำอยู่ข้างใน บางคนหากแผลไม่มีขนาดใหญ่มาก ก็อาจเป็นแผลที่ผิวหนังชั้นนอกถลอกและเปิดออก ซึ่งส่วนมากผู้ที่เป็นแผลรองเท้ากัดมักจะสงสัยว่า แล้วตุ่มใสที่เกิดขึ้นนั้นสามาระเจาะได้หรือไม่ หรือควรปล่อยทิ้งไว้ 

คำตอบ: หากแผลไม่ได้มีขนาดใหญ่และไม่ได้สร้างความระคายเคืองขณะเดินมาก ก็ควรหายาทาแล้วปล่อยให้แผลหายเอง แต่หากแผลเป็นตุ่มใสที่ทำให้คุณเดินอย่างลำบาก ก็ควรเจาะและมีการทำความสะอาดแผลอย่างถูกต้อง ซึ่งขั้นตอนการทำความสะอาดแผล มีดังต่อไปนี้

  1. ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ก่อนเจาะแผล เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียให้หมดเสียก่อน
  2. ใช้เข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ด้วยน้ำเดือด แอลกอฮอล์ หรือลนไฟให้ปลายเข็มร้อน หรืออาจเป็นชุดเข็มที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ปลอดเชื้อเจาะเข้าไปด้านข้างของแผล 
  3. ปล่อยให้น้ำหรือของเหลวข้างในแผลไหลออกมาให้หมด หากของเหลวเป็นสีขาวหรือเป็นน้ำสีเหลือง แสดงว่าแผลอาจมีการติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาเพิ่มเติม
  4. อย่าดึงผิวหนังบนแผลออก เพราะจะทำให้รู้สึกเจ็บแสบมากขึ้นและแผลอาจเกิดการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องผิวหนังด้านล่างที่จะเกิดขึ้นใหม่แทนที่ผิวหนังที่เสียหายไป
  5. ใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือโพวิโดน ไอโอดีน (Povidone iodine) ทาบริเวณแผล เพื่อฆ่าเชื้ออีกครั้ง
  6. ปิดแผล ด้วยผ้าก๊อซ พลาสเตอร์ ผ้าพันแผล เทปผ้าซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide tape) หรือโมเลสกิน (Moleskin) ซึ่งควรเป็นวัสดุที่ง่ายต่อการเปลี่ยนบ่อยครั้ง และไม่ทำให้แผลอับชื้นเกินไป 
  7. ถอดผ้าพันแผลออกบ้างหากคุณอยู่บ้านหรืออยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท เพื่อให้แผลได้สัมผัสอากาศ และยังช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้นด้วย
  8. หมั่นทำความสะอาดแผลและเปลี่ยนผ้าพันแผลบ่อยๆ รวมถึงเปิดดูแผลทุกวันว่าดีขึ้นหรือไม่

วิธีป้องกันรองเท้ากัด

หากคุณเป็นอีกคนที่กำลังประสบปัญหารองเท้ากัด ลองอ่านเคล็ดลับการป้องกันต่อไปนี้ เพื่อให้คุณได้ใส่รองเท้าใหม่ได้อย่างสบายมากขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลรองเท้ากัดด้วย

1. ใช้ผ้าพันแผล

การใช้ผ้าพันแผลถือเป็นวิธีแก้ปัญหาที่รวดเร็ว และสามารถทำได้ง่าย โดยให้ใช้ผ้าพันแผล หรือพลาสเตอร์ติดบริเวณที่อาจถูกรองเท้ากัด ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดแผลตามมาในภายหลังได้ และคุณควรใช้ผ้าพันแผลที่มีขนาดใหญ่พอที่จะปกปิดทั้งบริเวณที่เสียดสีกับรองเท้าได้ มิเช่นนั้นมันจะลอกออก หรือเลื่อนหลุดออกระหว่างเดิน และช่วยปกป้องผิวได้ไม่นานนัก

2. ใส่ถุงเท้าหนาและใช้เครื่องเป่าผม

วิธีนี้ถือเป็นเคล็ดลับที่ง่ายและมีประโยชน์มากทีเดียวสำหรับผู้ที่เพิ่งซื้อรองเท้าใหม่มา แต่กลัวจะเกิดแผลรองเท้ากัด วิธีการคือ ให้คุณใส่ถุงเท้าที่หนาที่สุดและใส่รองเท้าคู่ใหม่เอาไว้ จากนั้นให้ใช้เครื่องเป่าผมเป่าไปยังส่วนของรองเท้าที่คุณรู้สึกว่าคับมากที่สุด ลมร้อนจะช่วยทำให้รองเท้านุ่มขึ้น และขยายขนาดใหญ่ขึ้น โดยให้คุณทำซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง 

3. ใช้แป้งเด็ก

นอกจากเราจะใช้แป้งเด็กทาตามร่างกายแล้ว เราก็ยังสามารถนำมาใช้แก้ปัญหารองเท้ากัดได้อีกด้วย สำหรับวิธีใช้คือ ให้นำแป้งเด็กมาโรยบริเวณผิวเท้าที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลรองเท้ากัดหรือรู้สึกเจ็บ แป้งเด็กจะช่วยลดแรงเสียดสีและป้องกันไม่ให้เกิดตุ่มพุพองได้ นอกจากนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายชนิดแท่งก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

4. แผ่นซิลิโคน

หาก 3 วิธีที่กล่าวาใช้ไม่ได้ผล ให้ลองหาซื้อแผ่นซิลิโคนสำหรับป้องกันรองเท้ากัดมาลองใส่ โดยแผ่นซิลิโคนจะสามารถลดแรงเสียดสีระหว่างฝ่าเท้าและผิวรองเท้าได้ ทั้งยังช่วยลดอาการเจ็บฝ่าเท้าขณะเดินให้น้อยลงด้วย

5. ใช้ถุงน้ำร้อน

ให้นำถุงน้ำร้อนเล็กๆ ใส่เข้าไปในรองเท้า โดยให้แน่ใจด้วยว่าไม่มีการรั่วไหลของน้ำออกมา จากนั้นให้นำรองเท้าไปเก็บไว้ในช่องแช่แข็งข้ามคืน เมื่อน้ำแข็งตัวก็จะเกิดการขยายตัวในรองเท้าและทำให้รองเท้ามีขนาดใหญ่ขึ้น วิธีนี้จะทำให้คุณมีพื้นที่ข้างในรองเท้าที่ใหญ่ขึ้น และหากยังรู้สึกว่ารองเท้าคับเกินไปอีก ก็ให้ลองใช้วิธีนี้ซ้ำอีกครั้ง 

นอกจากวิธีป้องกันข้างต้นแล้ว ยังมีอีกเคล็ดลับการเลือกซื้อรองเท้าที่คุณอาจยังไม่เคยรู้ โดยเวลาเลือกซื้อรองเท้า ให้เลือกรองเท้าที่มีขนาดที่ว่างอย่างน้อย 1 เซนติเมตรระหว่างนิ้วเท้าและปลายรองเท้า นอกจากนี้ คุณควรเลือกซื้อรองเท้าที่ทำด้วยวัสดุที่มีคุณภาพ เพราะมันอาจทำให้คุณรู้สึกไม่เจ็บเท้ามากจนเกินไป และยังมีความคงทนต่อการใช้งานกว่า อีกทั้งรองเท้าเหล่านี้มักมีการบุและใช้แผ่นรองที่ดี ไม่ทำให้สุขภาพเท้าของคุณเสีย สามารถก้าวเดินได้อย่างสบายและช่วยเสริมความมั่นใจในทวงท่าการเดินของคุณด้วย


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)