นพ. ชาคริต หริมพานิช แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์
เขียนโดย
นพ. ชาคริต หริมพานิช แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์

หัดเยอรมัน (Rubella)

เผยแพร่ครั้งแรก 2 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที

หัดเยอรมัน เป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัส อาการไม่รุนแรง แต่อาจมีผลข้างเคียงอันตรายหากเกิดการติดเชื้อในสตรีมีครรภ์ เพราะโอกาสที่ทารกจะพิการแต่กำเนิดสูงมาก

ปัจจุบันทางการแพทย์มีวิธีป้องกันโรคนี้ที่ทรงประสิทธิภาพ ทำให้ลดความพิการได้เกือบหมด

โรคหัดเยอรมันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสรูเบลลา (Rubella) เป็นไวรัสพันธุกรรมสายเดี่ยวในกลุ่มไวรัสโทกาวิริดี (Togaviridae) ต้องเข้าไปแบ่งตัวและแพร่ขยายในเซลล์ของมนุษย์ ไวรัสชนิดนี้ติดต่อจากคนสู่คนเท่านั้น และก่อโรคในคน

ในช่วงแรกของการค้นพบ ผู้คนคิดว่าเป็นโรคเดียวกับโรคหัด (Measles) เพราะอาการคล้ายกัน เพียงแต่ความรุนแรงน้อยกว่า

แต่ต่อมาพบกลุ่มอาการพิการในทารกแรกเกิดที่ติดเชื้อนี้ แตกต่างจากโรคหัดที่จะไม่ค่อยพบความพิการแต่กำเนิด เป็นเหตุให้ค้นพบและแยกออกจากโรคหัด

หัดเยอรมันติดต่อได้ทางใดบ้าง?

หัดเยอรมันติดต่อได้ 2 ทางหลัก คือ ทางสารคัดหลั่งละอองฝอยจากจมูกและผ่านทางรก

เชื้อหัดเยอรมันจะเข้าสู่ร่างกายคนได้จากทางหลักคือ จากสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ที่ออกมาเป็นละอองเล็กๆ กระจายในอากาศหรือปลิวไปเกาะติดตามพื้นผิวต่างๆ แล้วปนเปื้อนกับการสัมผัสที่มือเข้าสู่จมูกและปากต่อไป

เชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจะมีการขยายพันธุ์และแบ่งตัวที่เยื่อบุหลังจมูกและคอเป็นหลัก จึงสามารถแพร่ออกทางนี้ได้มาก การสวมหน้ากากอนามัยให้ผู้ติดเชื้อและการล้างมือจึงเป็นมาตรการป้องกันโรคที่สำคัญมาก

ทางติดต่อที่สำคัญอีกอย่าง แม้จะพบน้อย แต่รุนแรงและสำคัญ คือติดต่อผ่านรก

เชื้อไวรัสหัดเยอรมันที่ติดจากเยื่อบุหลังคอจะแพร่ผ่านทางต่อมน้ำเหลืองและเข้ามาในกระแสเลือด ผ่านไปสู่รกและเข้าสู่ทารกได้ และหากเข้าสู่ทารกในช่วงที่กำลังสร้างอวัยวะ ประมาณไม่เกินสัปดาห์ที่ 11 ของการตั้งครรภ์ โอกาสที่เด็กจะติดเชื้อและพิการมีถึงประมาณ 90%

หากติดเชื้อในอายุครรภ์มากกว่านั้น โอกาสเกิดความพิการจะลดลง แต่ยังนับว่าสูงมากอยู่ดี

หลังจากร่างกายได้รับเชื้อโรคแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะเริ่มแสดงอาการของโรค แต่หากได้รับวัคซีนอาจจะไม่เกิดอาการ และกำจัดเชื้อได้เร็วหรือแทบไม่มีอาการเลย

อาการของโรคหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันแยกออกเป็น 2 อาการหลัก ตามระยะเวลาที่ได้รับเชื้อ ดังนี้

1. กลุ่มอาการหัดเยอรมันแต่กำเนิด (Congenital rubella syndrome)

เด็กจะได้รับเชื้อผ่านทางรกจากแม่ที่ได้รับเชื้อ และติดเชื้อในช่วงไม่เกิน 10-12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

เชื้อไปขัดขวางการแบ่งตัวของเซลล์ และเกิดหลอดเลือดอักเสบตีบตันที่อวัยวะต่างๆ ทำให้ทารกเกิดต้อกระจก หูไม่ได้ยิน หลอดเลือดแดงในปอดตีบตัน ผนังหัวใจรั่ว

สิ่งสำคัญคือ เด็กที่ติดเชื้อแต่แรกเกิดจะสามารถแพร่เชื้อไวรัสหัดเยอรมันได้ถึงอายุ 1 ปี ทั้งทางสารคัดหลั่งฝอยจากจมูกและจากปัสสาวะ

ดังนั้นต้องแยกโรคและตรวจสอบจนกว่าจะมั่นใจว่าโรคไม่แพร่กระจาย ก่อนจะให้เด็กที่เป็นหัดเยอรมันคลุกคลีกับเด็กคนอื่น

2. หัดเยอรมันที่ติดภายหลัง (Postnatal rubella infection)

นับตั้งแต่หลังคลอดเป็นต้นไป เมื่อได้รับเชื้อหัดเยอรมันแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการนำของการติดเชื้อไวรัสทั่วไปเช่น ไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะปวดข้อ

มีอาการนำอยู่ 1-3 วันจะเริ่มมีต่อมน้ำเหลืองบวมโตที่บริเวณท้ายทอยและที่หลังใบหู อันเป็นตำแหน่งต่อมน้ำเหลืองโตที่พบได้บ่อยมากสำหรับโรคหัดเยอรมัน และเริ่มมีผื่นสีชมพูจางๆ กระจัดกระจาย เริ่มจากใบหน้าลงมาที่คอ แขน ลำตัว ผื่นจะหายไปในเวลา 3-4 วันเท่านั้น

ระยะติดต่อจะอยู่ที่ประมาณ 5 วันก่อนออกผื่น ไปจนถึง 7 วันหลังออกผื่น หลังจากนั้นจะหายเป็นปกติ

การตรวจยืนยันการวินิจฉัยโรคหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันใช้อาการและลักษณะการดำเนินโรคแยกจากไข้ออกผื่นชนิดอื่น เช่น โรคหัด ไข้กุหลาบ (Roseola)

การใช้ลักษณะเหล่านี้จะแยกยากพอสมควร ความจำเป็นในการแยกโรคจะพบในหญิงวัยเจริญพันธุ์หรือหญิงตั้งครรภ์ เพราะต้องระวังอันตรายต่อทารก วิธีแยกโรคและวินิจฉัยโรคที่นิยมมี 2 วิธี ดังนี้

1. วิธีตรวจหาตัวเชื้อ

การตรวจหาตัวเชื้อด้วยวิธีทางชีวโมเลกุลที่นิยมในปัจจุบันคือ RT-PCR ใช้ตัวอย่างที่เก็บจากเยื่อบุด้านหลังคอ มีความไวและความจำเพาะสูง ตรวจได้ตั้งแต่เริ่มมีผื่นขึ้น

สำหรับเด็กที่ติดเชื้อแต่กำเนิด จะสามารถตรวจจากสิ่งส่งตรวจปัสสาวะได้อีกทางหนึ่ง

2. วิธีตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ

วิธีตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ โดยเฉพาะ IgM จะพบได้ 30-60% ในวันที่เริ่มมีผื่น

ในกรณีตรวจไม่พบ แต่ยังสงสัย ให้ตรวจซ้ำในวันที่ 4 หรือ 5 จะมีโอกาสพบถึง 90%

ส่วนการตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่จะปกป้องจากโรค (specific IgG) จะใช้ตรวจว่าหญิงวัยเจริญพันธุ์มีภูมิต้านทานหรือไม่ เพื่อพิจารณาการให้วัคซีน

การรักษาโรคหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง จะใช้การรักษาประคับประคองตามอาการเท่านั้น เช่น ให้ยาลดไข้ ยาบรรเทาอาการปวด หรือยาลดอาการคันจากผื่น

โรคหัดเยอรมันไม่รุนแรงมาก และจะหายเองได้ ให้ระมัดระวังเพียงการติดเชื้อซ้ำซ้อนที่ผิวหนังเนื่องจากการเกา

หัดเยอรมัน ถ้าเคยเป็นแล้ว เป็นซ้ำได้ไหม?

หากเคยเป็นหัดเยอรมันแล้ว สามารถเป็นซ้ำได้ แต่โอกาสนั้นน้อยมาก เพราะเมื่อมีภูมิคุ้มกันแล้วจะได้รับการปกป้องยาวนาน

ความสำคัญของโรคหัดเยอรมันและการป้องกันโรค

อาการและความรุนแรงของโรคหัดเยอรมันไม่มากนัก อาการแทรกซ้อนที่สำคัญคือ อาการปวดข้อรุนแรง ที่มักจะหายเองเมื่อผื่นยุบลงแล้ว

สิ่งที่ต้องระมันระวังมากสำหรับโรคนี้ อยู่ที่หากเกิดการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ จะมีโอกาสเกิดทารกพิการสูงมาก

มาตรการในการป้องกันที่ดี นอกจากการควบคุมเขตระบาดสำหรับผู้ติดเชื้อแล้ว มาตรการการฉีดวัคซีนก็สำคัญเช่นกัน การฉีดวัคซีนหัดเยอรมันสามารถลดการติดเชื้อ ลดการเกิดโรครุนแรง และลดการแพร่เชื้อในผู้ที่ติดโรคแต่ไม่มีอาการ

ที่สำคัญคือ สามารถลดอัตราความพิการจากโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด (Congenital rubella syndrome: CRS) ได้มาก หากมีการฉีดวัคซีนแบบครอบคลุม

รายงานจากองค์การอนามัยโลกพบว่า อัตราการเกิดโรคลดลงถึง 86% ในช่วงปี ค.ศ. 2000-2012 ที่มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนทั้งโลก

ยิ่งประเทศที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมมาก เช่น ประเทศในแถบยุโรป สามารถลดอัตราการเกิดโรคและพิการลงมากกว่า 90% และเป็นความหวังที่จะกำจัดโรคนี้ได้ เพราะหัดเยอรมันติดต่อจากคนสู่คนเท่านั้น มีวัคซีนคุณภาพดี ประสิทธิภาพสูงมาก ราคาไม่แพง

หญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยเป็นโรคหัดเยอรมันจะต้องมีการตรวจเลือด ตรวจหาเชื้อและติดตามใกล้ชิด หากพบว่าติดเชื้อจะต้องได้รับการดูแลจากสหสาขาวิชาชีพ และอาจต้องพิจารณายุติการตั้งครรภ์หากติดเชื้อในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ดังนั้นการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคจึงมีความสำคัญมาก

วัคซีนหัดเยอรมันเป็นแบบไหน ควรฉีดตอนไหน?

สามารถเลือกฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันได้ ทั้งในรูปวัคซีนเดี่ยวหรือวัคซีนรวม หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม หรือ หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-สุกใส

ฉีดเข็มแรกในเด็กอายุ 1 ปีและเข็มที่สองตอนอายุ 6-7 ปี

สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ ควรรับวัคซีนหัดเยอรมันและชะลอการตั้งครรภ์หลังรับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเดือน ส่วนหญิงที่ตั้งครรภ์ ห้ามให้วัคซีนหัดเยอรมัน


17 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
The Healthline Editorial Team. Healthline (2016). German Measles (Rubella) (https://www.healthline.com/health/rubella)
Lambert, et al. (2015). Rubella. Lancet, 385(9984), pp. 2297-307. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25576992)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)