หลักการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง

เผยแพร่ครั้งแรก 24 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
หลักการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง

หลักการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง มีดังนี้

1. ใช้เมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น

ยาปฏิชีวนะเป็นยาที่มีผลทำลายแบคทีเรีย การใช้ยากลุ่มนี้จึงเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้ในโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุติดเชื้อแบคทีเรีย เพราะนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ แล้ว ยังมีแต่ผลเสียกับผู้ใช้ยา เช่น เสียเงิน ร่างกายทำงานต่อยาโดยไม่จำเป็น ยายังไปมีผลต่อแบคทีเรียกลุ่มที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายที่เป็นภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายอ่อนแอเกิดการเจ็บป่วยบ่อยหรือติดเชื้อง่าย ตลอดจนเกิดการแพ้ยาหรืออาการข้างเคียงต่างๆ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ตัวอย่างอาการที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่พบว่ามีการนำยาปฏิชีวนะมาใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ ได้แก่ แผลร้อนในในช่องปาก การอักเสบจนมีอาการเขียว บวม ช้ำของข้อ กระดูกและกล้ามเนื้อที่มาจากการถูกกระแทก โดยผิวหนังไม่มีรอยเปิดหรือรอยแยกแต่อย่างใด
หรือแม้แต่อาการไข้ก็ไม่ได้หมายความว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเสมอไป อาจมาจากสาเหตุอื่น เช่น มะเร็ง จากยาบางชนิด หรือจากการติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะโรคหวัดระยะแรกที่ไม่ได้มีอาการไอ ไม่มีอาการของจมูกและต่อมทอนซิลบวมแดง หรือมีหนอง ซึ่งอาการไข้จากสาเหตุดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

อาการไข้ที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าน่าจะมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คือ อาการไข้ที่เกิดร่วมกับอาการแสดงเฉพาะที่ของร่างกายแต่ละระบบ
ตัวอย่างอาการไข้ที่มีสัญญาณติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่

    • ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการไข้ร่วมกับอาการท้องเดิน
    • ระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ อาการไข้ร่วมกับอาการเจ็บคอ ผนังคอแดง มีจุดหนอง
    • ระบบผิวหนัง ได้แก่ อาการไข้ร่วมกับผิวหนังอักเสบเป็นหนอง บวมแดง

2. เมื่อพบว่าผู้ป่วยมีอาการแสดงชัดเจนว่าติดเชื้อแบคทีเรีย

และจำเป็นต้องใช้ยาให้นึกถึงเชื้อที่พบบ่อยของโรคที่เป็นและสถิติการดื้อยาของเชื้อนั้นๆ เพื่อพิจารณาการใช้ยาที่เหมาะสมเจาะจงต่อเชื้อเป้าหมายเพื่อไม่ให้มีผลต่อจุลชีพเจ้าถิ่นที่เป็นภูมิคุ้มกันโรคให้ร่างกาย

3. ลำดับขั้นการเลือกใช้ยา

มีแนวทางคร่าวๆ ดังนี้ กรณีที่ติดเชื้อของร่างกายส่วนบนในระยะเริ่มต้นมักเป็นแบคทีเรียแกรมบวกเป็นส่วนใหญ่ ยาอันดับแรกที่ใช้ควรเป็นยาที่มีประสิทธิภาพทำลายแกรมบวกเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องเป็นยาที่มีขอบเขตกว้าง เพื่อไม่ให้ยามีผลต่อแบคทีเรียอื่นในร่างกายที่มีประโยชน์ แต่ถ้าเป็นเรื้อรังเป็นมานานแล้วหรือรุนแรง หรือใช้ยาดังกล่าวข้างต้นไม่หาย ให้นึกถึงว่า อาจมีแบคทีเรียแกรมลบหรือแบคทีเรียกลุ่มแอนแอโรปส์หรือกลุ่มที่ทนต่อเอนไซม์เพนิซิลิเนสแทรกซ้อนขึ้นมา ยาที่ใช้จึงควรเป็นยาที่มีขอบเขตทำลายแกรมลบ ทนต่อเอนไซม์เพนิซิลิเนสและครอบคลุมแบคทีเรียกลุ่มแอนแอโรปส์

4. จำนวนระยะเวลาการใช้ยาขึ้นกับลักษณะเฉพาะตัวของเชื้อแบคทีเรีย

โดยทั่วไปควรใช้ประมาณ 5-7 วัน ยกเว้นบางกรณี เช่น ถ้าเป็นแบคทีเรียที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วจะใช้ยาเพียงระยะเวลาสั้นๆในขนาดสูงครั้งเดียว เช่น เชื้อหนองใน (N. gonorrhoeae) ในทางตรงกันข้ามถ้าเชื้อนั้นแบ่งตัวช้าหรือหยุดนิ่งไม่แบ่งตัว ก็จะต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานาน เช่น เชื้อวัณโรค (Mycoplasma tuberculosis) ต้องใช้ยาเป็นเวลาหลายเดือน เป็นต้น

5. ยาปฏิชีวนะที่สามารถนำมาใช้กับหญิงตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย

ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

    • กลุ่มเพนิซิลลิน
    • กลุ่มเซฟาโลสปอริน
    • อิริโธรมัยซินสเตียเรต หรือ อิริโธรมันซินเบส
    • เอซิโธรมัยซิน
    • เมโทรนิดาโซล อนุโลมให้ใช้ได้ในระยะที่ตั้งครรภ์ผ่านไปแล้ว 3 เดือน

6. ควรใช้ยาเพียงชนิดเดียวในการรักษาแต่ละครั้ง ไม่ควรใช้หลายชนิดร่วมกัน เพราะอาจเกิดผลเสียตามมา

เช่น

    • ถ้าเลือกใช้ยาร่วมกันไม่ถูกต้อง อาจเกิดการต้านฤทธิ์กัน ทำให้ไม่ได้ผลในการรักษาและเชื้อเกิดการดื้อยา
    • ผู้ป่วยมีโอกาสแพ้ยาได้มากขึ้น
    • เกิดการดื้อยาง่ายขึ้นหรือดื้อยาหลายชนิดพร้อมกันทำให้ใช้ยาไม่ได้ผล
    • มีโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนง่ายกว่าเดิม
    • สิ้นเปลืองเงินมากขึ้นโดยไม่จำเป็น

7. คำนึงถึงผู้ป่วยในด้านต่างๆ ดังนี้

    • ประวัติการแพ้ยา
    • ยาปฏิชีวนะเป็นยาที่ทำให้เกิดการแพ้ยาได้ง่ายก่อนการใช้จึงควรซักถามประวัติการแพ้ยาทุกครั้ง กรณีแพ้ยาตัวใดตัวหนึ่งก็ไม่ควรใช้ยาตัวอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน

8. ฐานะการเงินของผู้ป่วย

ถ้ามียาหลายชนิดที่ให้ผลในการรักษาใกล้เคียงกัน อาการข้างเคียงไม่ต่างกันแต่ราคายาต่างกัน ควรคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่ายาของผู้ป่วยและเลือกใช้ยาในราคาที่เหมาะสมกับฐานะผู้ป่วย หรือพิจารณาความสามารถที่จะใช้ยาได้ครบตามจำนวนเวลาที่ต้องใช้ยาเป็นหลัก

9. พิจารณาถึงอายุของผู้ป่วยและผู้ป่วยลักษณะพิเศษบางกลุ่ม

เช่น ถ้าผู้ป่วยเป็นเด็ก ยาที่สามารถใช้ในเด็กได้ค่อนข้างปลอดภัย ได้แก่ ยากลุ่มเพนิซิลลิน และยากลุ่มเซฟาโรสปอริน ส่วนยาที่ไม่ให้ใช้ในทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ได้แก่ เตต้าซัยคลิน เพราะยายับยั้งการสร้างกระดูกและฟัน ทำให้กระดูกไม่แข็งแรงและฟันมีสีน้ำตาลถาวร

กลุ่มซัลโฟนาไมด์ไม่ควรนำมาใช้ในทารกเพราะทำให้เด็กตัวเหลืองและสมองถูกทำลาย เนื่องจากยากลุ่มนี้จะไปจับกับอัลบูมินแทนที่บิริลูบิน ทำให้มีบิริลูบินอยู่ในรูปที่เป็นอิสระมากขึ้น บิริลูบินในรูปอิสระนี้จะทำให้ทารกตัวเหลืองและทำลายสมองของทารก

นอกจากนี้ เรายังไม่ควรใช้คลอแรมเฟนิคอลและอิริโธรมัยซินในทารกและเด็กเล็ก เพราะตับและไตยังทำงานไม่สมบูรณ์ กรณีหญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในระยะให้นมบุตร ยาที่สามารถใช้ได้ค่อนข้างปลอดภัย ได้แก่ กลุ่มเพนิซิลลินและยากลุ่มเซฟาโลสปอริน

10. สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

การเลือกใช้ยาควรคำนึงถึงสุขภาพของผู้ป่วยด้วย ถ้าผู้ป่วยปกติไม่มีโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลไกการป้องกันตัวอยู่ในสภาพสมบูรณ์ อาจเลือกใช้ยากลุ่มที่ทำให้แบคทีเรียหยุดเจริญเติบโต หยุดขยายพันธุ์ เพราะร่างกายแข็งแรงพอที่จะสามารถกำจัดแบคทีเรียที่อ่อนแรงออกไปได้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันบกพร่องไม่ค่อยแข็งแรง ควรเลือกใช้ยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียโดยตรงมากกว่าที่จะออกฤทธิ์เพียงยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

11. โรคประจำตัวของผู้ป่วย

ผู้ป่วยบางรายอาจมีโรคประจำตัวอื่นๆอยู่ก่อนแล้ว และจำเป็นต้องใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วย จึงอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาจนทำให้อาการของผู้ป่วยเลวลง เช่น ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับไตทำงานบกพร่องหรือเป็นโรคไตก็ต้องปรับขนาดยาลงถ้ายานั้นถูกขับออกจากร่างกายโดย หรือควรใช้ยาที่ไม่ต้องถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับ และปรับขนาดยาลงถ้ายานั้นขับออกทางตับ กรณีผู้ป่วยมีภาวะตับทำงานบกพร่อง เป็นต้น

12. พิจารณาสภาพบริเวณที่ติดเชื้อ

บริเวณที่มีการติดเชื้ออาจมีสภาพที่ทำให้การออกฤทธิ์ของยาลดลงหรือเสียไป เช่น บริเวณนั้นมีหนอง มีเศษของเซลล์ที่ตายแล้ว สภาพเช่นนี้จะทำให้ยาออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ เนื่องจากหนองหรือเศษของเซลล์เหล่านั้นจะจับกับยา ทำให้ฤทธิ์ของยาลดลง ในกรณีเหล่านี้ต้องเอาหนองและเศษของเซลล์ที่ตายออกด้วย
ความเป็นกรด-ด่างบริเวณที่มีการติดเชื้อก็มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยา ยาบางอย่าง เช่น คลอร์เตตร้าซัยคลิน ไนโตรฟูแรนโตอิน จะออกฤทธิ์ได้ดีในสภาวะเป็นกรด หรือค่า pH ต่ำ แต่บางชนิด เช่น อะมิโนกลัยโคไซด์ อิริโธรมัยซิน คลินดามัยซิน จะมีประสิทธิภาพลดลงในภาวะที่เป็นกรด เป็นต้น
สภาพการมีออกซิเจนหรือไม่มีออกซิเจนก็มีผลต่อประสิทธิภาพของยาเช่นกัน เช่น บริเวณที่เป็นโพรงหนองจะไม่มีออกซิเจนและไม่ค่อยมีเลือดมาเลี้ยง ทำให้ยาบางกลุ่ม เช่น กลุ่มอะมิโนกลัยโคไซด์ออกฤทธิ์ไม่ดีเท่าที่ควร

13. พิจารณาถึงขนาดและระยะเวลาในการให้ยา

การรักษาจะได้ผลหรือไม่ ขึ้นกับระยะดับยาในบริเวณที่มีการติดเชื้อ ซึ่งจะต้องมีระดับสูงพอที่ยาจะออกฤทธิ์ทำลายเชื้อได้ การให้ยาจึงควรให้ในขนาดที่เพียงพอไม่ต่ำเกินไป เพราะถ้าให้ขนาดต่ำเกินไปนอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังกระตุ้นให้เชื้อดื้อยา ขนาดยาที่ใช้จึงควรเป็นขนาดที่กำจัดเชื้อได้มากที่สุดและทำให้เกิดอาการพิษหรืออาการข้างเคียงต่ำที่สุด

โดยปกติผู้ป่วยมีสภาพแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันปกติ การติดเชื้อไม่รุนแรง ควรจะใช้ยานานติดต่อกันประมาณ 5-7 วัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่และป้องกันเชื้อดื้อยาด้วย หรือกรณีที่โรคนั้นรักษาได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น หนองใน สามารถใช้ยาขนาดสูงเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอในการรักษา แต่บางกรณีโรคบางอย่างอาจต้องใช้ยานานกว่า 7 วัน เช่น โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน ควรให้ยานา 14 วัน แต่ถ้าอาการนั้นเรื้อรังก็อาจต้องใช้ยานานถึง 6 สัปดาห์ เป็นต้น

ขอให้ระลึกไว้เสมอว่าการใช้ยาไม่ครบตามระยะเวลาที่เหมาะสมจะทำให้โรคไม่หายขาด อาจมีอาการเกิดขึ้นมาอีกหลังหยุดยาและทำให้เชื้อโรคมีโอกาสดื้อยาได้ง่าย ดังนั้นจึงควรแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงระยะเวลาในการรักษาและเหตุผลที่ควรรับประทานยาให้หมด แม้ว่าอาการแสดงของโรคจะหายแล้วก็ตาม

14. เวลาที่เหมาะสมในการรับประทานยา

การรับประทานยามีทั้งประเภทที่ให้ก่อนอาหารและให้หลังอาหาร ดังนั้นจึงควรใช้ให้ถูกต้องสำหรับยาแต่ละชนิด เช่น ยากลุ่มเพนิซิลลินต้องให้ก่อนอาหาร หมายความว่าต้องให้ก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ส่วนการรับประทานหลังอาหาร ควรให้หลังรับประทานอาหารเสร็จแล้วไม่น้อยกว่า 15 นาทีถึงครึ่งชั่วโมง หากลืมรับประทานยามื้อใดควรรับประทานทันทีที่นึกได้ หากยามื้อที่ลืมใกล้เวลาที่จะรับประทานอาหารมื้อต่อไป ให้งดมื้อที่ลืม ในกรณีที่เวลาเข้านอนห่างจากมื้ออาหารเย็นตั้งแต่ 4 ชั่วโมงขึ้นไป ควรเพิ่มการรับประทานยาก่อนเข้านอนอีกครั้ง


16 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Antibiotics Side Effects, Resistance, Types & Drug Interactions. eMedicineHealth. (Available via: https://www.emedicinehealth.com/antibiotics/article_em.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)