ลีลาวดี ข้อมูล สรรพคุณ ประโยชน์ และวิธีใช้เพื่อสุขภาพ

ลีลาวดี ไม้ประดับตกแต่งบ้าน ส่วนยางลีลาวดีมีพิษ แต่แท้จริงทั้งดอก ใบ ลำต้น มีสรรพคุณทางยาซ่อนอยู่
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ลีลาวดี ข้อมูล สรรพคุณ ประโยชน์ และวิธีใช้เพื่อสุขภาพ

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ลีลาวดี มีชื่อเดิมว่า “ลั่นทม” เป็นต้นไม้ที่ออกดอกได้ตลอดปี สีสันสวยงาม มีกลิ่นหอม จึงนิยมปลูกกันค่อนข้างมาก
  • สามารถนำดอกลีลาวดี 5-12 กรัม มาตากแห้ง ต้มกับน้ำ 500 ซีซี มีสรรพคุณช่วยแก้ไอ ชุ่มคอ บำรุงปอด แก้ท้องผูก ท้องบิดได้ และไข้มาลาเรียได้
  • เปลือกลำต้น สามารถบดเป็นผง 60 กรัม ชงกับน้ำร้อน 4 ลิตร ร่วมกับน้ำมะขามเปียก มีฤทธิ์ช่วยการขับถ่าย
  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานดอกลีลาวดี เนื่องจากอาจทำให้มดลูกบิดตัว เสี่ยงต่อการแท้งเด็กได้
  • แม้ลีลาวดีจะมีฤทธิ์เป็นยาระบาย แต่หากรับประทานแล้วไม่ดีขึ้น หรือยังคงมีอาการท้องผูก สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อทำการสวนล้างลำไส้ได้ (ดูแพ็กเกจ Detox สวนล้างลำไส้ได้ ที่นี่)

ลีลาวดี เป็นไม้ดอกที่ได้รับความนิยมและปลูกกันอย่างแพร่หลาย เพราะนอกจากจะเลี้ยงดูง่าย ให้ดอกสีสันสดใส มีกลิ่นหอม ยังออกดอกได้ตลอดปีแล้ว ทุกส่วนของลีลาวดี เช่น ดอก ใบ ลำต้น และราก ยังมีสรรพคุณและประโยชน์มากมายด้วย

ลีลาวดี หรือ ลั่นทม มีชื่อสามัญว่า Plumeria มีถิ่นกำเนิดมาจากเม็กซิโก อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ โดยเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 3-6 เมตร ทุกส่วนมียางสีขาว

นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายเพราะออกดอกตลอดปี ให้กลิ่นหอม เลี้ยงดูง่าย และสีของดอกลีลาวดียังมีสีสันสดใส สวยงาม เช่น สีขาว เหลืองอ่อน ชมพู และแดง เป็นต้น

ที่มาของชื่อลีลาวดี

ส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับชื่อ ลั่นทม แต่เนื่องจากพ้องกับคำว่า “ระทม” ที่มีความหมายว่าเศร้าโศกเสียใจ ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระราชทานนามให้ใหม่ว่า "ลีลาวดี" จึงทำให้เกิดความสนใจและนิยมปลูกมากขึ้น

สรรพคุณและประโยชน์ของลีลาวดี

นอกจากลีลาวดีเป็นไม้ที่นิยมใช้ในการจัดสวน เพื่อประดับตกแต่งบ้านและปรับภูมิทัศน์ ยังเป็นไม้ที่มีสรรพคุณและประโยชน์มากมายด้านสุขภาพ

โดยเฉพาะส่วนดอกลีลาวดี มีสรรพคุณและประโยชน์ ดังนี้

  • มีรสชุ่มคอ มีฤทธิ์แก้กระหาย ช่วยแก้อาการไอ และบรรเทาอาการเจ็บคอ ละลายเสมหะ และรักษาอาการร้อนใน
  • แก้อาการท้องผูก ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร ขับปัสสาวะ และป้องกันโรคริดสีดวงทวาร
  • บำรุงปอด และรักษาโรคหอบหืด
  • ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิดได้
  • ช่วยเสริมสร้างหัวใจให้แข็งแรง ป้องกันการอุดตันของคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน และลดน้ำตาลในเลือดได้
  • มีสารพวกอิริดอยด์ (Iridoid) คือ ฟูลโวพลูมิเอริน (Fulvophumierin) สามารถหยุดการเจริญของเชื้อที่ทำให้เกิดเนื้องอกได้

นอกจากนี้ส่วนอื่นๆ ของลีลาวดีก็มีประโยชน์อย่างมากเช่นกัน เช่น

  • ราก ช่วยรักษาไข้หวัด ขับเหงื่อ แก้ร้อนใน
  • ต้น สามารถนำมาใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคลำไส้พิการของม้า
  • เนื้อไม้ เป็นยาแก้ไอ ในประเทศกัมพูชาใช้เป็นยาถ่ายและขับพยาธิ
  • เปลือกต้น ช่วยขับระดู รักษาโรคโกโนเรียหรือโรคหนองในแท้ (Gonorrhea) แต่ถ้านำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว มันเนย และข้าว จะเป็นยาแก้ท้องเดินและยาขับปัสสาวะ
  • เปลือกราก ช่วยขับลมในกระเพาะ และใช้เป็นยารักษาโรคหนองใน
  • ยางและแก่น ช่วยถ่ายเสมหะและโลหิต รักษากามโรค และใช้ปรุงเป็นยาถ่ายพิษ
  • ใบ ถ้าเป็นใบสดใช้ชงกับน้ำร้อนรักษาโรคหิด แต่ถ้านำมาลนไฟประคบร้อนช่วยแก้อาการปวดบวม และถ้าเป็นใบแห้งช่วยรักษาโรคหืดหอบ
  • ยางจากต้น เป็นยาถ่าย รักษาโรคไขข้ออักเสบ ถ้าใช้ผสมกับไม้จันทร์และการบูรทำเป็นยาแก้อาการปวดฟัน และยาแก้คัน
  • ฝัก นำมาฝนเพื่อนำมาใช้ทาแก้ริดสีดวงทวารได้

วิธีการใช้ลีลาวดีเพื่อสุขภาพ

จากสรรพคุณและประโยชน์ต่างๆ ของลีลาวดี สามารถยกตัวอย่างการวิธีการใช้ลีลาวดีเพื่อประโยชน์สุขภาพ ได้ดังนี้

  • ส่วนดอก ใช้ดอกตากแห้ง 5-12 กรัม ต้มน้ำกินต่างชาได้ มีรสชุ่ม แก้ไอ บำรุงปอด รักษาอาการร้อนใน ท้องผูกและแก้บิด และใช้ดอกแห้งครั้งละ 10-15 กรัม ต้มน้ำประมาณ 500 ซีซี แล้วกรองเอาน้ำดื่ม วันละ 1-2 เวลา เช้าและเย็น หรือใช้ดอกรับประทานกับใบพลู จะช่วยแก้ไข้ และแก้ไข้มาลาเรีย
  • ส่วนเปลือกลำต้น ใช้เปลือกแห้ง บดเป็นผง ประมาณ 60 กรัม ชงกับน้ำร้อน 4 ลิตร ดื่มครั้งละ 250 มิลลิลิตร ร่วมกับน้ำมะขามเปียก วันละ 4-5 ครั้งติดต่อกัน จะช่วยขับปัสสาวะและถ่ายดีขึ้น
  • ส่วนเปลือกราก ใช้รักษาโรคหนองในและกามโรค ซึ่งจะมีสารฟัลโวพลูมีริน (Fulvoplumierin) สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อที่ทำให้เกิดเนื้องอกเป็นก้อน
  • ส่วนดอกแห้ง ใช้แก้ไข้ และแก้ไข้มาลาเรีย โดยใช้ดอกแห้งครั้งละ 10-15 กรัม ต้มน้ำประมาณ 500 ซีซี แล้วกรองเอาน้ำดื่ม วันละ 1-2 เวลา เช้าและเย็น หรือใช้ดอกรับประทานกับใบพลูก็ได้

ข้อควรระวังจากลีลาวดี

ถึงแม้ลีลาวดีจะเป็นไม้ที่มีสรรพคุณและประโยชน์มากมาย แต่หากไม่มีการศึกษาวิธีการนำไปใช้ก็อาจเกิดอันตรายได้ ดังนี้

  • ทุกๆ ส่วนของลีลาวดีจะมียางสีขาวขุ่นซึ่งเป็นพิษ นั่นคือ กรดพลูเมอริก (Plumeric acid) หากสัมผัสยางโดยตรงอาจทำให้เกิดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ และบวมแดงได้
  • ดอกลีลาวดีมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง ระคายกระเพาะอาหารและลำไส้
  • เวลาจะเก็บดอกลีลาวดี ควรเก็บดอกที่บานเต็มที่เกือบร่วงแล้ว จะได้ไม่มียาง
  • ห้ามสตรีมีครรภ์รับประทานดอกลีลาวดี เพราะอาจทำให้มดลูกบีบตัวและอาจแท้งได้

ดูแพ็กเกจ Detox สวนล้างลำไส้ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ลีลาวดี (http://www.forensicchula.net/subtitle/54_journal9017.pdf).
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ลั่นทมขาว (ลีลาวดีขาวพวง) (http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/resources/old-fragrant/plumeriao.html).
บ้านและสวน, สวยอันตราย พรรณไม้มีพิษ (https://www.baanlaesuan.com/78964/plant-scoop/toxic_plants).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)