การะเกด

รวมข้อมูล สรรพคุณ และประโยชน์ของต้นการะเกด
เผยแพร่ครั้งแรก 21 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 2 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
การะเกด

การะเกด เป็นพืชชนิดหนึ่งที่พบได้มากในประเทศไทย ดอกมีกลิ่นหอม จึงนิยมนำไปใช้ทำเครื่องหอมมาตั้งแต่สมัยโบราณ ต้นการะเกดมีชื่อเรียกอีกชื่อว่าลำเจียกหนู จึงทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดคิดว่าเป็นต้นเดียวกับต้นลำเจียก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus tectorius Parkinson ex Du Roi

ชื่อวงศ์ PANDANACEAE

ชื่อท้องถิ่น   การะเกด การะเกดด่าง ลำเจียกหนู (กรุงเทพมหานคร) เตยด่าง เตยหอม (ภาคกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของการะเกด

การะเกดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น สูง 3-7 เมตร ลำต้นมักแตกกิ่งสาขา มีรากอากาศค่อนข้างใหญ่และยาว ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับกันเป็นสามเกลียวที่ปลายกิ่ง ใบรูปรางน้ำ ค่อยๆ เรียวแหลมไปหาปลาย ขอบใบมีหนามแข็ง แผ่นใบด้านล่างมีสีนวล ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้นกัน ออกตามปลายกิ่ง มีจำนวนมากติดบนแกนของช่อดอก ดอกย่อยแต่ละดอกไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกตัวผู้ตั้งตรง ยาว 25-60 เซนติเมตร มีกาบสีนวลหุ้ม มีกลิ่นหอม เกสรตัวผู้ติดรวมอยู่บนก้านยาว ช่อดอกตัวเมียค่อนข้างกลม มีเกสรตัวเมียเชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม 5-12 กลุ่ม กลุ่มละ 3-5 อัน ผลเบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-20 เซนติเมตร เมื่อสุกจะหอม โคนสีเหลือง ตรงกลางสีแสด ตรงปลายยอดสีน้ำตาลอมเหลือง

หมายเหตุ : ต้นการะเกดที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นลำเจียก ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pandanus odorifer (Forssk.) Kuntze (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pandanus odoratissimus L.f.) แต่เนื่องจากเป็นพืชตระกูลเดียวกัน จึงนิยมนำมาใช้ประโยชน์ใกล้เคียงกัน

ถิ่นกำเนิดของการะเกด

ทั้งการะเกดและลำเจียกมีถิ่นกำเนิดตามชายหาดทั่วคาบสมุทรในแถบเส้นศูนย์สูตรรอบโลก จึงพบได้ในหลายประเทศ ตั้งแต่หมู่เกาะของฟิลิปปินส์ เวียดนาม หมู่เกาะฮาวาย อินเดีย และออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบได้มากทางภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดตรังและสตูล

สรรพคุณทางยาของการะเกด

  • ดอกการะเกดมีกลิ่นหอม รสสุขุม ใช้ปรุงเป็นยาหอม ใช้เป็นยาแก้โรคในอก เจ็บอก เจ็บคอ แก้เสมหะ บำรุงหัวใจ และบำรุงธาตุ
  • ยอดอ่อนใช้ต้มกับน้ำ ให้สตรีดื่มตอนหลังคลอดบุตรใหม่ๆ
  • ในประเทศฟิลิปปินส์ แพทย์พื้นบ้านจะนำส่วนเปลือกของต้นลำเจียกนำไปฝนกับขิงต้มกับน้ำร้อน รับประทานเป็นยานอนหลับ ส่วนรากของต้นลำเจียก นำไปต้มน้ำดื่มเพื่อขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร

ประโยชน์อื่นๆ ของการะเกด

  • กลิ่นหอมของดอกการะเกดทำให้สตรีโบราณนิยมนำมาใส่หีบ เพื่ออบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอม
  • นำดอกไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวหรือมันหมู แล้วปรุงเป็นน้ำมันใส่ผม ซึ่งในสมัยก่อนนิยมใช้กันมาก
  • ผลแก่สามารถนำมารับประทานเป็นอาหารได้ มีรสชาติคล้ายสับปะรด
  • ใบการะเกดและใบลำเจียกมีลักษณะคล้ายกัน จึงสามารถนำมาใช้ในงานจักสานทำเป็นเครื่องมือใช้สอยต่าง ๆ ได้ดี เช่น กระสอบ เสื่อ หมวก กระเป๋า
  • การะเกดเป็นไม้ที่มีรูปทรงเฉพาะตัวที่สวยงามแปลกตา ดอกมีกลิ่นหอม มีความทนทาน จึงสามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้

4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก.
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “การะเกด”

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)