แมลงก้นกระดก...อันตรายในหน้าฝน

วิธีป้องกันตัวเองให้ไกลจากแมลงก้นกระดก และวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อโดนพิษของแมลงชนิดนี้
เผยแพร่ครั้งแรก 25 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
แมลงก้นกระดก...อันตรายในหน้าฝน

ฤดูฝนเป็นช่วงที่ใครหลายๆ คนชอบ เพราะสภาพอากาศเหมาะแก่การพักผ่อนยามค่ำคืน แต่ช่วงนี้นอกจากต้องระวังและดูแลตัวเองให้ไกลจากอาการไข้หวัดที่ชอบมักมาพร้อมกับฝนแล้ว ปัจจุบันยังต้องคอยระวังพิษจากแมลงก้นกระดกที่ระบาดหนักอีกด้วย พิษของแมลงก้นกระดกทำให้เกิดแผลไหม้ แสบร้อน และอาการคันระคายเคืองผิวหนังได้ ยิ่งหากพิษแมลงสัมผัสดวงตาแล้ว อันตรายถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ทีเดียว

รู้จักแมลงก้นกระดก

แมลงก้นกระดกเป็นแมลงขนาดเล็ก มีขนาดประมาณ 7-10 มิลลิเมตร ลักษณะเรียวยาว ตัวสีส้มสลับสีดำเหลือบน้ำเงิน มีขนอ่อนเล็กๆ ปกคลุมตลอดทั้งตัว มีขาสามคู่ ปีกสองคู่ โดยคู่หน้าจะสั้น ส่วนคู่หลังจะพับเป็นจีบอยู่ข้างใต้ สามารถบินได้ แมลงก้นกระดกที่จริงมีหลายร้อยชนิด ในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียวคือ Paederus Fuscipes Curtis เรียกกันว่า “แมลงก้นกระดก” หรือ “ด้วงก้นกระดก” ที่มาของชื่อมาจากพฤติกรรมการเดินของแมลงที่จะส่ายก้นไปมา และจะยกหางขึ้น พบมากในเขตร้อนชื้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สาเหตุที่พบแมลงชนิดนี้ในฤดูฝนมากกว่าปกติ เป็นเพราะแมลงดังกล่าวชอบอาศัยในบริเวณที่มีอาการชื้น เช่น พื้นที่ชื้นแฉะตามหนองน้ำ

ส่วนไหนของแมลงที่มีพิษและอาการหลังสัมผัสเป็นอย่างไร?

แมลงก้นกระดกมีของเหลวที่เป็นสารพิษอยู่ในบริเวณลำตัวชื่อว่า พีเดอริน (Pederin) มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน สามารถทำลายเซลล์เยื่อผิวหนังได้ แมลงชนิดนี้จะไม่กัดและไม่ต่อย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราไปบี้ ขยี้ หรือขยำแมลง น้ำพิษจะออกมาทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เมื่อสัมผัสสารพิษ ลักษณะแผลส่วนใหญ่จะมีอาการเป็นผื่นแดงมีขอบชัดเจน คัน ปวดแสบปวดร้อน ทั้งนี้อาการผิวหนังอักเสบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษที่สัมผัส หากสัมผัสสารพิษปริมาณมากจะพุพอง เป็นตุ่มนูนใส มีอาการแสบร้อน โดยจะเริ่มมีอาการทั้งหมดหลังสัมผัสแมลงแล้วประมาณ 8-10 ชั่วโมง ดังนั้นต้องรีบลางน้ำสะอาดทันที หรือใช้สบู่ซึ่งมีฤทธิ์เป็นเบสช่วยเจือจางสารพิษของแมลง พยายามล้างแผลให้สะอาดทุกวันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการเกาเพราะจะทำให้บริเวณที่ถูกพิษกว้างขึ้น และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ อาจประคบเย็นเพื่อลดอาการอักเสบ และสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังสม่ำเสมอ ถ้ามีอาการรุนแรงมากขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ ส่วนมากหลังอาการอักเสบหายจะมีรอยดำหลังแผลหายระยะเวลาสั้นๆ สามารถใช้วุ้นใสของว่านหางจระเข้ทารักษารอยดำได้ และมักจะไม่ทิ้งรอยแผลเป็น

พิษของแมลงก้นกระดกถึงขั้นตายได้หรือไม่?

การถูกสารพิษจากแมลงก้นกระดกนั้นไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการระคายเคือง เป็นผื่นบริเวณผิวหนัง และอาการจะหายได้เองภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้อาจจะมีอาการบวมมากว่าปกติหรือเป็นไข้ร่วมด้วยได้

วิธีป้องกันแมลงก้นกระดก

  1. ควรปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น เพราะแมลงก้นกระดกจะชอบเล่นไฟในเวลากลางคืน และควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันแมลง
  2. ก่อนเข้านอน ควรปัดฟูก หมอน ผ้าห่ม ทุกครั้ง
  3. หากเจอแมลงก้นกระดกควรใช้ไม้กวาดกวาดแมลงใส่ถุงพลาสติกปิดปากถุง หรือใช้ภาชนะครอบและนำไปทิ้ง

พิษของแมลงก้นกระดกไม่อันตรายอย่างที่คิด หากไม่สัมผัสบริเวณดวงตาและไม่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง และต้องรู้จักวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่เหมาะสม เพียงเท่านี้อาการระคายเคืองผิวหนังจะหายภายในหนึ่งสัปดาห์


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
AMARIN TVHD, พิษของแมลงก้นกระดกทำให้ตายได้จริงหรือ? (https://www.youtube.com/watch?v=qsVa_v0qvAY), 15 มกราคม 2661.
กรกช กังวาลทัศน์, ผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก (https://pharm.tu.ac.th/uploads/pharm/pdf/articles/20181002_2.pdf), เข้าถึงเมื่อ 11 กรกฎาคม 2562.
Prawpan Suriwong, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ผิวหนังอักเสบจาก “แมลงก้นกระดก” ทำอย่างไรดี (https://www.thaihealth.or.th/Content/34258-.html), 1 ธันวาคม 2559.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป