การตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่คืออะไร ป้องกันโรคอะไรได้บ้าง ราคา วิธีการเตรียมตัว และวิธีการดูแลตัวเองหลังการตรวจ

เผยแพร่ครั้งแรก 27 ก.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
การตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่คืออะไร ป้องกันโรคอะไรได้บ้าง ราคา วิธีการเตรียมตัว และวิธีการดูแลตัวเองหลังการตรวจ

การตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องท้องอย่างเช่นมดลูกหรือรังไข่ที่ได้ผลแม่นยำนั้น การตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่นับว่าเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลและมีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากสามารถมองเห็นเนื้อเยื่อหรือชิ้นเนื้อเล็กๆ ได้อย่างถูกต้องชัดเจนและแม่นยำสูงนั่นเอง

การตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่คืออะไร

เป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อจับภาพเนื้อเยื่อ โดยการตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่สามารถตรวจได้ 2 วิธี คือการใช้เครื่องมืออัลตร้าซาวด์เคลื่อนผ่านหน้าท้องและการใช้หัวตรวจสอดผ่านเข้าช่องคลอด ทั้งสองวิธีจะใช้คลื่นเสียงจากเครื่องอัลตร้าซาวด์จะทำการแปรผลเป็นภาพส่งไปยังจอมอนิเตอร์

แต่การสอดผ่านเข้าช่องคลอดจะเป็นวิธีที่ให้ผลลัพธ์แน่นอนและแม่นยำกว่าวิธีใช้เครื่องมือตรวจเคลื่อนผ่านหน้าท้อง ซึ่งการตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่แพทย์อาจพิจารณาหลังพบความผิดปกติจากการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เช่น หลังการตรวจภายในด้วยนิ้วมือ หรือใช้กับผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน เป็นต้น

การตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่ป้องกันโรคอะไรได้บ้าง

การตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่สามารถใช้ตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับรังไข่ ไม่ว่าจะเป็นถุงน้ำรังไข่หรือเนื้องอกรังไข่ ซึ่งอาจเป็นเนื้อร้ายหรือเนื้อดีก็ได้ และใช้ตรวจว่ามีการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือไม่

การตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่อันตรายหรือไม่

การอัลตร้าซาวด์รังไข่เป็นการตรวจด้วยการใช้เพียงคลื่นเสียงความถี่สูงและไม่ใช้ยาชา สำหรับการตรวจผ่านหน้าท้องจะใช้เจลทาที่ท้องก่อนใช้หัวตรวจเคลื่อนผ่านหน้าท้อง ส่วนการตรวจด้วยการสอดช่องคลอดก็เป็นการใช้อุปกรณ์สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อดูรังไข่เหมือนกับการตรวจภายในปกติเท่านั้น

ดังนั้นการตรวจวิธีเหล่านี้จึงไม่มีความเจ็บปวดใดๆ แต่ขณะทำการตรวจในช่องคลอดอาจรู้สึกตึงๆ หน่วงๆ ไม่ค่อยสบายตัวบ้างเล็กน้อยในระยะเวลาที่ไม่นาน อันตรายที่เกิดจากการตรวจด้วยเครื่องชนิดนี้ก็ไม่มีเช่นกัน เพราะไม่ใช่การตรวจที่ใช้รังสี จึงนับว่ามีความปลอดภัยสูง

ราคาของการตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่

การตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่จะเหมือนกับการตรวจอัลตร้าซาวด์มดลูก โรงพยาบาลเอกชนราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1,500 – 3,000 บาทต่อครั้ง โรงพยาบาลรัฐบาลราคาจะอยู่ที่ประมาณ 600 – 1,000 บาทต่อครั้ง สำหรับคลินิกราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 2,000 บาทต่อครั้ง โดยขึ้นอยู่กับวัน เวลา สถานที่ที่ให้บริการ และการจัดโปรโมชั่นของสถานพยาบาลนั้นๆ

วิธีการเตรียมตัวก่อนการตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่

    1. ถ้าเป็นการตรวจผ่านหน้าท้องควรดื่มน้ำเปล่ามากๆ และกลั้นปัสสาวะก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นรังไข่ชัดเจนขึ้น แต่หากเป็นการสอดผ่านเข้าทางช่องคลอดก็ไม่ควรดื่มน้ำมากๆ และควรปัสสาวะออกให้เรียบร้อย เพื่อช่วยให้เครื่องตรวจได้ผลที่แน่นอนและแม่นยำ
    2. ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าตามที่สถานพยาบาลกำหนดไว้ เพราะเป็นชุดที่ทำให้สะดวกต่อการตรวจ
    3. ไม่ควรตรวจขณะที่มีประจำเดือน เนื่องจากไม่สะอาดและไม่สะดวกในการตรวจ
    4. หากพบว่ามีอาการแพ้น้ำยางที่ใช้เคลือบหัวตรวจของเครื่องอัลตร้าซาวด์สำหรับสอดเข้าช่องคลอด ควรแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาชนิดนั้น

    วิธีการดูแลตัวเองหลังการตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่

    ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าต้องมีการดูแลตนเองเป็นพิเศษหลังการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องคลอด เพราะใช้เวลาในการตรวจไม่นาน เมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อยก็สามารถกลับบ้านได้ทันที โดยไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเช่นเดียวกับการตรวจภายในทั่วไป อีกทั้งยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติหลังการตรวจ

    การตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคร้ายเกี่ยวกับกับรังไข่ได้ ถ้าสามารถรู้เท่าทันและเข้ารับการตรวจเจอโรคร้ายได้เร็ว นั่นหมายถึงเราจะมีเวลาวางแผนการรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ ทำให้โอกาสหายหรือปลอดภัยมีสูงมากขึ้น ดังนั้นการตรวจอัลตร้าซาวด์รังไข่จึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้หญิงทุกคน ซึ่งไม่ควรหลีกเลี่ยงหรือปล่อยปละละเลยจนสายเกินแก้นั่นเอง


    9 แหล่งข้อมูล
    กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
    Ultrasound: Pelvis (for Parents). Nemours KidsHealth. (https://kidshealth.org/en/parents/ultrasound-pelvis.html)
    Transvaginal Ultrasound: Purpose, Procedure, and Results. Healthline. (https://www.healthline.com/health/transvaginal-ultrasound)
    Pelvic Ultrasound. American Academy of Family Physicians. (https://familydoctor.org/pelvic-ultrasound/)

    บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

    ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

    ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
    (1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

    บทความต่อไป