Placebo effect และ Nocebo effect คืออะไร?
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า Placebo effect หรือปรากฏการณ์ยาหลอก เชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นหูกันมาบ้างว่าหมายถึง เมื่อเกิดความรู้สึกเชิงบวกต่อการรักษา ก็มีส่วนช่วยให้การรักษานั้น ๆ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดความรู้สึกเชิงลบต่อการรักษา ก็มีส่วนที่ทำให้การรักษานั้นไม่ได้ผลดี หรือเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้นได้นะคะ และนี่เองคือ Nocebo effect หรือปรากฏการณ์ยาหลอกในทางลบ ซึ่งคำนี้อาจยังไม่คุ้นหูกันนัก
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
งานวิจัยส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ยาหลอก จะศึกษาเกี่ยวกับ “ความรู้สึก” อย่างใดอย่างหนึ่งที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้น โดยไม่สอดคล้องกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เช่น ยาหลอกทำให้ปวดน้อยลง หรือยาหลอกทำให้ง่วงซึมมากขึ้น แต่ก็น่าสนใจที่ในหลายงานวิจัยมีหลักฐานชัดเจนจากการตรวจร่างกาย มายืนยันผลที่สอดคล้องกันกับความรู้สึกนั้น ๆ ด้วย
สรุปง่าย ๆ ก็คือ ไม่ใช่การ “มโน” ไปเอง แต่เป็นผลที่เกิดในลักษณะ “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” โดยเมื่อใจเชื่อว่าจะเกิดผลเช่นไร ก็สั่งให้ร่างกายมีการตอบสนองไปในทางนั้น
เราใช้ยาหลอกรักษาโรคได้ไหม?
แม้ว่าจะไม่สามารถใช้ยาหลอกรักษาโรคแทนยาจริง ๆ ได้ แต่ในบางกรณีก็มีอิทธิพลมากจนไม่ควรมองข้าม เนื่องจากผลจาก Placebo effect ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มความร่วมมือในการรักษามากขึ้นและได้รับผลการรักษาที่พึงพอใจ แต่ผลจาก Nocebo effect อาจทำให้ผู้ป่วยหยุดการรักษาก่อนกำหนด, เข้ารับการรักษาผลอันไม่พึงประสงค์มากขึ้น หรือไม่เกิดประสิทธิภาพในการรักษาตามที่ควรเป็น
จึงทำให้นักวิจัยใคร่รู้ว่ามีโรคหรือการรักษาใดบ้างที่ถูกกระทบด้วยปรากฏการณ์ยาหลอก แล้วทำอย่างไรจึงจะเพิ่ม Placebo effect และลด Nocebo effect ในการรักษาดังกล่าวได้
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิด Placebo effect หรือ Nocebo effect ได้
- ความเชื่อส่วนบุคคล และประสบการณ์การรักษาในอดีต
- สิ่งแวดล้อม (การจัดสถานที่และอุปกรณ์การแพทย์ในสถานพยาบาล)
- ผู้ให้การรักษา (การให้คำแนะนำ ความมั่นใจ และความเห็นอกเห็นใจจากแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง)
- วิธีรักษา (การสัมผัส การใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในระหว่างตรวจรักษา)
- ยา (รูปร่าง กลิ่น สี และรสของยา)
- ปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยหรือคนอื่น ๆ (การรับรู้ หรือแลกเปลี่ยนความเชื่อและประสบการณ์)
และจากที่กล่าวมา ผู้ให้การรักษา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ยาหลอกในทางบวกหรือทางลบ จากข้อมูลที่ส่งต่อไปยังผู้ป่วย ผ่านคำพูด, ทัศนคติ และพฤติกรรมการแสดงออก
แม้ว่าการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการรักษา นั่นคือเกิด Placebo effect แต่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากยา กลับเพิ่มการตอบสนองในเชิงลบ หรือเกิด Nocebo effect ได้ซะงั้น!
เมื่อศึกษาเปรียบเทียบผู้ป่วยที่ใช้ยา Finasteride เพื่อรักษาภาวะต่อมลูกหมากโต กลุ่มที่ได้รับคำเตือนว่ายาดังกล่าว อาจทำให้ความต้องการทางเพศลดลงหรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ มีรายงานการเกิดผลข้างเคียงนี้ 43.6% ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับคำเตือนพบรายงานเพียง 15.3%
และเนื่องจากผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้ยาได้ง่าย ผ่านหลายช่องทางในปัจจุบัน ดังนั้น ต่อให้ไม่บอกผลเสียหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น ก็อาจป้องกัน Nocebo effect ไม่ได้อยู่ดี จึงจำเป็นต้องพิจารณาหาวิธีจัดการที่เหมาะสมต่อไปค่ะ