นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล แพทย์ทั่วไป
เขียนโดย
นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล แพทย์ทั่วไป

ก้อนเนื้อที่คอ แบบไหนปกติ แบบไหนอันตราย?

ก้อนที่คอมีหลากหลายขนาดและเกิดจากหลายสาเหตุ มีทั้งสิ่งที่ไม่รุนแรง รักษาหายได้ ไปจนถึงเนื้อร้ายต้องกำจัดและรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
เผยแพร่ครั้งแรก 25 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ก้อนเนื้อที่คอ แบบไหนปกติ แบบไหนอันตราย?

ก้อนที่คอมีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กมากจนแทบไม่รู้ว่ามีก้อนอยู่จนถึงขนาดใหญ่จนคนรอบข้างสังเกตเห็น ก้อนบางก้อนไม่เป็นอันตราย และอาจหายไปได้เอง แต่บางก้อนอาจเป็นอันตรายเสี่ยงที่จะเป็นเนื้อร้ายได้ ควรรีบไปพบแพทย์ บางท่านอาจศึกษาหาความรู้เรื่องก้อนที่คอมาจากหลายบทความในอินเทอร์เน็ตมาบ้างแล้ว ในบทความนี้จะกล่าวถึงก้อนที่คอในทางการแพทย์ ซึ่งอาจมีเนื้อหาที่ละเอียดและเข้าใจได้ยากกว่าบทความอื่นๆ แต่จะสามารถหาคำตอบได้ว่า ก้อนที่พบในตำแหน่งต่างๆ ของคอบ่งบอกถึงอะไร เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง เมื่อคลำพบก้อนที่คอแล้วต้องทำอย่างไร อันตรายหรือไม่ และควรจะถามคำถามใดบ้างเมื่อไปพบแพทย์

ก้อนเนื้อที่คอ ตรงกลาง ข้างซ้าย ข้างขวา ด้านหลัง คืออะไร?

กายวิภาคบริเวณคอ (Neck anatomy) แบ่งคอออกเป็นสองฝั่งจากตำแหน่งกึ่งกลาง คือ ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ทั้งสองฝั่งสมมาตรกัน แต่ละฝั่งจะแบ่งโดยกล้ามเนื้อที่ยึดส่วนบนของกระดูกอก (Sternum) และกระดูกไหปลาร้า (Clavicle) ไปยังกระโหลกศีรษะด้านหลังใบหู (Mastoid process of the skull) กล้ามเนื้อนี้มีชื่อเรียกว่า “Sternocleidomastoid muscle” การแบ่งโดยกล้ามเนื้อนี้ทำให้แบ่งคอออกเป็นพื้นที่ใหญ่ๆ ด้วยกัน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่สามเหลี่ยมด้านหน้า (Anterior triangle) และพื้นที่สามเหลี่ยมด้านหลัง (Posterior triangle) การแบ่งพื้นที่เช่นนี้จะทำให้แพทย์สามารถทำนายสาเหตุของก้อนที่คลำได้บริเวณต่างๆ ของลำคอ เนื่องจากบ่งบอกถึงอวัยวะ การไหลเวียนของระบบเลือดและระบบน้ำเหลืองภายใต้พื้นที่นั้นๆ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ยกตัวอย่างเช่น การคลำพบก้อนบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมส่วนหน้าใต้ขากรรไกร อาจเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ หรือมีเนื้อร้ายบริเวณลิ้นส่วนหน้า ด้านล่างของช่องปาก เหงือกและกระพุ้งแก้ม การคลำพบก้อนบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมส่วนหลังเหนือกระดูกไหปลาร้า อาจมีเนื้อร้ายของระบบทางเดินอาหารและระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น

ก้อนที่คอเกิดจากสาเหตุอะไร?

ก้อนที่คอเกิดได้จากหลายสาเหตุ สามารถแบ่งตามระยะเวลาในการพบก้อนที่คอได้ดังนี้

  1. ก้อนที่คอเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน (Acute neck masses) พบก้อนที่คอในทันทีหรือพบในระยะเวลาไม่กี่วัน ส่วนใหญ่จะมีอาการร่วม เช่น เจ็บบริเวณก้อน เจ็บคอ กลืนเจ็บ เป็นต้น สาเหตุที่เป็นไปได้ คือ อาจเกิดจากการได้รับการกระทบกระแทกทำให้มีการช้ำ มีเลือดออกใต้ผิวหนัง (Hematoma) ทำให้เกิดก้อนขึ้นมา หรืออาจเกิดจากการอักเสบติดเชื้อของต่อมน้ำเหลือง (Lymphadenitis) หรือต่อมน้ำลาย (Acute sialadenitis) ซึ่งการติดเชื้อเป็นไปได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
  2. ก้อนที่คอเกิดขึ้นกึ่งเฉียบพลัน (Subacute neck masses) พบก้อนที่คอในระยะเวลาประมาณหลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือน สาเหตุที่เป็นไปได้ คือ การอักเสบเรื้อรังของต่อมน้ำลาย (Chronic sialadenitis) ซึ่งมักจะมีอาการเจ็บหลังจากทานอาหาร มะเร็งของระบบน้ำเหลือง (Lymphoma) มะเร็งของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (Upper aerodigestive tract squamous cell carcinoma) มะเร็งที่กระจายมาจากอวัยวะหรือระบบอื่น (Metastatic cancer) เป็นต้น
  3. ก้อนที่คอที่เกิดขึ้นมานานแล้ว (Chronic neck masses) พบก้อนที่คอในระยะเวลานาน เป็นมาหลายปี หรือเป็นมาตั้งแต่กำเนิด สาเหตุที่เป็นไปได้คือ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (Enlarged thyroid) ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodules) ก้อนไขมัน (Lipoma) ก้อนซีสต์ที่เกิดจากการพัฒนาผิดปกติของต่อมไทรอยด์ (Thyroglossal duct cyst) ซึ่งจะพบก้อนนี้ตั้งแต่กำเนิด ก้อนจะขยับขึ้นลงได้ตามการกลืน เป็นต้น

ถ้าคลำเจอก้อนที่คอต้องทำอย่างไร?

ก้อนบางก้อนไม่เป็นอันตรายมาก เมื่อกำจัดหรือรักษาที่สาเหตุแล้วก้อนอาจหายไปได้เอง โดยส่วนใหญ่จะเป็นก้อนที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลันซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ แต่บางก้อนอาจอันตราย เช่น ก้อนที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณคอทำให้อาจส่งผลกระทบต่อทางเดินหายใจ นอกจากนี้ก้อนที่คอบางก้อนเสี่ยงที่จะเป็นเนื้อร้ายได้ หรือบางก้อนทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายผิดปกติ เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ ทำให้มีอาการใจสั่น อารมณ์แปรปรวน และคลื่นไส้อาเจียนได้ ดังนั้นเมื่อคลำเจอก้อนที่คอควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเกิดจากสาเหตุใด และให้การรักษาที่ตรงกับสาเหตุ

ถ้าเป็นก้อนกลิ้งได้ กดเจ็บ กดไม่เจ็บ แบบไหนอันตราย?

ก้อนที่มีลักษณะกลิ้งได้ เจ็บบริเวณก้อน และมีขนาดเล็ก จะมีโอกาสที่จะเป็นเนื้อร้ายและมีความอันตรายที่น้อยกว่าก้อนที่ฝังติดอยู่กับผิวหนังหรืออวัยวะใกล้เคียง ขยับไม่ได้ ไม่มีความรู้สึกเจ็บบริเวณก้อน และมีขนาดใหญ่ นอกจากนี้ก้อนที่สงสัยว่าจะเป็นเนื้อร้ายจะมีลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • เป็นก้อนที่เกิดขึ้นมานานมากกว่า 2-3 สัปดาห์
  • ก้อนมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หรือมีขนาดเล็กลง แต่ไม่หายไปเมื่อผ่านไปนานๆ
  • ก้อนทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืน เช่น กลืนลำบาก หรือกลืนติด
  • พบก้อนร่วมกับมีอาการเสียงแหบ หายใจติดขัด หรือมีน้ำหนักลดผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยนั้นต้องอาศัยประวัติอื่นๆ ร่วมด้วย และไม่จำเป็นต้องมีอาการเหล่านี้เพียงอย่างเดียว รวมถึงต้องมีการตรวจร่างกาย รวมถึงการส่งตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิ (Pathological diagnosis) เพิ่มเติม ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นเนื้อร้าย

ควรจะถามคำถามใดบ้างเมื่อไปพบแพทย์?

เมื่อเข้าพบแพทย์ มีคำถามที่คุณควรถามดังต่อไปนี้

  • ก้อนที่เป็นอยู่เกิดจากสาเหตุอะไร?
  • ก้อนนี้สงสัยว่าจะเป็นเนื้อร้ายหรือไม่?
  • เป็นอันตรายหรือไม่?
  • มีแนวทางการตรวจรักษาเพิ่มเติมอย่างไร?

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
James Haynes, Evaluation of Neck Masses in Adults, (https://www.aafp.org/afp/2015/0515/p698.html#afp20150515p698-f1), 15 May 2015.
American Academy of Otolaryngology–Head and Neck Surgery Foundation, Neck Mass in Adults, (https://www.enthealth.org/conditions/evaluation-of-neck-mass-in-adults/) August 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
อาหารและเมนูสำหรับกรดไหลย้อน (Heartburn)
อาหารและเมนูสำหรับกรดไหลย้อน (Heartburn)

แค่ปรับอาหารและพฤติกรรมการรับประทานให้เหมาัะสม ก็สามารถรักษาอาการกรดไหลย้อนได้

อ่านเพิ่ม