กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ. วรรณวนัช เสถียนธรรมมณี แพทย์ทั่วไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ. วรรณวนัช เสถียนธรรมมณี แพทย์ทั่วไป

วัคซีน MMR (วัคซีนโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน) คืออะไร จำเป็นหรือไม่ ใครควรฉีดบ้าง?

โรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน เป็นโรคติดต่อเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจที่ร้ายแรง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก การฉีดวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่จะป้องกันโรคดังกล่าวได้
เผยแพร่ครั้งแรก 21 พ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 30 พ.ย. 2022 ตรวจสอบความถูกต้อง 17 ธ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
วัคซีน MMR (วัคซีนโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน) คืออะไร จำเป็นหรือไม่ ใครควรฉีดบ้าง?

โรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน เป็นโรคติดต่อที่พบได้ทุกประเทศทั่วโลก โดยก่อนที่จะมีการคิดค้นวัคซีนโรคหัดในปี พ.ศ. 2506 โรคเหล่านี้พบบ่อยมากในประเทศสหรัฐอเมริกา

ส่วนในประเทศไทยเริ่มมีการเก็บข้อมูลโรคหัดและหัดเยอรมันเพื่อการเฝ้าระวังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2518 ตามลำดับ พบว่ายังคงมีการระบาดของโรคสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2527 กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มวัคซีนป้องกันโรคหัดเข้ามาเป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยควรได้รับ หลังจากนั้นตัวเลขการระบาดของโรคหัดจึงมีแนวโน้มลดลง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีน MMR วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 475 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

หลังจากปี พ.ศ. 2553 มีการระบุให้ฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน หรือ MMR ตั้งแต่เข็มแรกในเด็กอายุ 9 เดือน และแนะนำให้เปลี่ยนเวลาฉีดวัคซีน MMR เข็มที่ 2 จากอายุ 4-6 ปีเป็น 2 ปีครึ่ง เพื่อเพิ่มความครอบคลุมของวัคซีน และเป็นมาตรการในการป้องกันโรคดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การรักษาโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน

เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสหัด คางทูม และหัดเยอรมันโดยเฉพาะ การรักษาจึงจะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้ ไอ แพทย์ก็จะให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอละลายเสมหะ

อาจมีการให้วิตามินเอเสริมในผู้ป่วยโรคหัด เนื่องจากมีข้อมูลพบว่า วิตามินเอทำให้ลดอัตราการป่วยและการเสียชีวิตจากภาวะโรคหัดได้ รวมไปถึงการแยกผู้ป่วยจนถึง 9 วันหลังเริ่มมีอาการบวมของต่อมน้ำลายในผู้ป่วยโรคคางทูม

ส่วนสตรีตั้งครรภ์ที่สัมผัสโรคหัดเยอรมัน ควรได้รับการตรวจเลือดทันทีเพื่อดูว่าเคยเป็นและมีภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมันหรือไม่

การป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน ด้วยวัคซีน MMR

การป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมันที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การฉีดวัคซีน MMR ซึ่งย่อมาจากชื่อภาษาอังกฤษว่า Measles-Mumps-Rubella Vaccine เป็นวัคซีนรวมที่มีคุณสมบัติสามารถป้องกันได้ครอบคลุมทั้ง 3 โรคดังกล่าว

วัคซีนกลุ่มนี้จะผสมรวมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อนำมาฉีดในครั้งเดียว โดยภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นไม่ได้มีประสิทธิภาพน้อยกว่าการฉีดวัคซีนแยกแต่ละโรค ข้อดีของการฉีดวัคซีนรวม MMR คือลดความเจ็บปวดจากการฉีดวัคซีนหลายเข็ม นอกจากนี้ยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีน MMR วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 475 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ใครบ้างที่ต้องฉีดวัคซีน MMR?

โดยทั่วไป เด็กทุกคนควรได้รับวัคซีน MMR อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่ออายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง แนะนำโดยกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กที่ได้รับวัคซีนครั้งแรกแล้วไม่ได้ผล หรืออาจพลาดโอกาสในการฉีดวัคซีนครั้งแรกนั่นเอง

ส่วนคนอื่นๆ ที่ควรรับวัคซีน MMR ได้แก่

  • ในกรณีที่มีการระบาดหรือเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหัดในเด็กเล็ก สามารถให้วัคซีนเข็มแรกได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ในกรณีนี้ควรให้วัคซีนซ้ำเมื่ออายุ 12 เดือน และอายุ 2 ปีครึ่งตามปกติ)
  • สตรีวัยเจริญพันธุ์ทุกคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนนี้มาก่อนในวัยเด็ก ควรได้รับวัคซีน MMR อย่างน้อย 1 ครั้ง และแนะนำให้ฉีดโดยไม่ต้องเจาะเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันก่อน
  • บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน MMR มาก่อนควรได้รับเร็วที่สุด
  • ผู้ที่จะเข้าสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และผู้ที่จะเข้าเป็นทหารเกณฑ์ทุกคนที่ไม่เคยมีประวัติว่าได้รับวัคซีนหรือเป็นโรคมาก่อน ควรฉีดวัคซีนโดยไม่ต้องเจาะเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันก่อน

อาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน MMR

วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) จัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูง แต่ยังมีอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน ดังนี้

  • อาการไข้ พบได้ประมาณ 5% มักเกิดในระยะเวลา 5-12 วันหลังฉีดวัคซีน และมีไข้นาน 1-2 วัน เด็กที่มีไข้สูงอาจเกิดอาการชักได้
  • ผื่น คล้ายโรคหัด แต่จะขึ้นน้อยกว่า พบได้ 5% และมักเกิดในระยะเวลา 7-10 วันหลังฉีดวัคซีน โดยจะขึ้นมาเพียง 1-2 วันแล้วหายไปเอง
  • ต่อมน้ำเหลืองโต ต่อมน้ำลายอักเสบ แต่เป็นอาการที่พบได้น้อยมาก
  • ปวดข้อ ข้ออักเสบ มักจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เพศหญิง ซึ่งพบอาการปวดข้อ 25% และข้ออักเสบ 10% โดยจะพบอาการเหล่านี้ในระยะ 1-3 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน
  • อาการแพ้ เช่น ลมพิษหรือผื่นบวมแดงบริเวณที่ฉีด พบได้น้อย ส่วนปฏิกิริยาแพ้เฉียบพลันพบน้อยมาก
  • ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทและสมอง พบได้น้อยมากเช่นกัน

ใครบ้างที่ไม่ควรฉีดวัคซีน MMR

ผู้ที่อยู่ในเงื่อนไขต่อไปนี้ไม่ควรฉีดวัคซีน MMR

  • สตรีมีครรภ์ หรือคิดว่ากำลังจะตั้งครรภ์ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์อาจได้รับเชื้อจากวัคซีนและเป็นอันตรายได้
  • ผู้ที่มีประวัติการแพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบของวัคซีนชนิดนี้อย่างรุนแรง ไม่ควรฉีดเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเนื่องจากโรค เช่น มะเร็ง หรือเอชไอวี หรือจากการรักษา เช่น การฉายรังสี การรักษาด้วยการกดภูมิคุ้มกัน หรือเคมีบำบัด เนื่องจากการป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคขึ้นมาเอง หากผู้รับวัคซีนมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากจะไม่ทำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว ผู้รับวัคซีนอาจติดเชื้อโรคได้
  • ผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ยาดังกล่าวมีฤทธิ์ลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้รับวัคซีนเพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้
  • ผู้ที่เพิ่งทำการถ่ายเลือด หรือได้รับผลิตภัณฑ์เลือดอื่น ๆ เนื่องจากร่างกายอาจตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่ดี (คุณอาจได้รับคำแนะนำให้เลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปเป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป)
  • ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย รู้สึกไม่สบาย เช่น ไข้หวัด เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ จึงส่งผลให้การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนตอบสนองได้ไม่ดีเท่าที่ควร

วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) ราคาเท่าไร?

เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) เป็นหนึ่งในวัคซีนขั้นพื้นฐานที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้บริการให้ฟรีแก่เด็กแรกเกิดจนถึงอายุไม่เกิน 12 ปี ทุกคนสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลรัฐหรือสถานีอนามัยทุกแห่งโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สำหรับผู้ใหญ่ที่ต้องการฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันก็สามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลรัฐ เอกชน และคลินิกชั้นนำทั่วไป

ราคาวัคซีนจะตกอยู่ที่ 227 บาทต่อเข็ม (อ้างอิงจาก คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ราคาดังกล่าวไม่รวมค่าบริการทางการแพทย์และค่าบริการโรงพยาบาล)


21 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
วัคซีน MMR คืออะไร? ฉีดกี่เข็ม? ฉีดตอนไหน? | HDmall (https://hdmall.co.th/c/vaccine-mmr).
What would happen if we stopped vaccinations? (2014). (http://www.cdc.gov/vaccines/vac-gen/whatifstop.htm)
Uno U, et al. (2012). The combined measles, mumps, and rubella vaccines and the total number of vaccines are not associated with development of autism spectrum disorder: The first case-control study in Asia [Abstract]. (http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22521285)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)