“ฟองน้ำอนามัย” ไม่ใช่ “ฟองน้ำคุมกำเนิด” นะจ๊ะ

เผยแพร่ครั้งแรก 20 ธ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
“ฟองน้ำอนามัย” ไม่ใช่ “ฟองน้ำคุมกำเนิด” นะจ๊ะ

เวลาว่าง ๆ ดิฉันชอบท่องไปในโลกอินเตอร์เน็ต เพื่อหาแรงบันดาลใจหรือเรื่องที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งระบบเก็บข้อมูลของกูเกิ้ลก็จะประมวลผลว่าดิฉันมักจะสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับสิ่งไหน เพื่อจะได้แสดงโฆษณาขายสินค้าในหมวดที่ดิฉันน่าจะยอมควักกระเป๋าตังค์จ่ายมาให้เลือกสรร

และคงเพราะเรื่องที่ดิฉันมักจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ก็มักจะเป็นเรื่องเซ็กส์และการคุมกำเนิด เพราะฉะนั้น บรรดาโฆษณาประดามีที่แสดงตัวมาให้ดิฉันเลือกชม จึงมักจะหนีไม่พ้นพวกถุงยางอนามัยและสินค้าประเภทอึดทน หรือแข็งยาวใหญ่!!!

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

นี่ถ้าใครมาใช้คอมพิวเตอร์ของดิฉันท่องโลกอินเตอร์เน็ต คงอดคิดไม่ได้ว่าเจ้าของคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ช่างหมกมุ่นในเรื่องพรรค์อย่างว่าเสียจริง (ฮ่า)

บ่นไปเรื่อยเปื่อยเสร็จแล้วก็มาคุยกันเรื่องเซ็กส์และการคุมกำเนิดต่อดีกว่าค่ะ (ฮ่า)

จากการท่องโลกอินเตอร์เน็ต ดิฉันได้พบว่ามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “ฟองน้ำอนามัย” หรือ Menstrual sponge หรือบางทีก็เรียกว่า Sea sponge ว่าสามารถใช้คุมกำเนิดได้

เอิ่ม... ขนาด “ฟองน้ำคุมกำเนิด” หรือ Contraceptive sponge ที่ผลิตมาเพื่อใช้คุมกำเนิดโดยเฉพาะ ยังมีประสิทธิภาพไม่สูงมากเลยค่ะ ขืนเอาฟองน้ำอนามัยมาคุมกำเนิดล่ะก้อ... แหม... ไม่อยากจะคิด!

ฟองน้ำอนามัย หรือที่บางคนเรียกซะน่าเอ็นดูว่า “ลูกเจี๊ยบ” (ดูแล้วก็เหมือนลูกเจี๊ยบจริง ๆ นะคะ) มีวัตถุประสงค์เพื่อซับเลือดประจำเดือน ไม่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด

ในอดีตกาลอันนานโพ้น มีการใส่ฟองน้ำเข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับเลือดประจำเดือนกันอยู่แล้วในบางวัฒนธรรมค่ะ แต่ต่อมาก็มีการใช้ร่วมกับสารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออสุจิเพื่อหวังผลในการคุมกำเนิดด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ซึ่งฟองน้ำอนามัยที่มีใช้ในบางประเทศในปัจจุบัน (ตามภาพตัวอย่าง) ไม่ได้ทำจากฟองน้ำจริง ๆ นะคะ แต่เป็นวัสดุประเภทโพลียูรีเทน และจะมีการเคลือบยาฆ่าเชื้ออสุจิมาเลย เพื่อให้สะดวกในการใช้

ผู้ใช้จะใส่ฟองน้ำคุมกำเนิดเข้าไปบริเวณปากมดลูกเพื่อกั้นไม่ให้อสุจิผ่านเข้าไปผสมกับไข่ และให้ตัวยาที่เคลือบไว้ก็จะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้ออสุจิ โดยสามารถใส่ทันทีก่อนมีเพศสัมพันธ์ หรือใส่ล่วงหน้าไว้ก่อนหลายชั่วโมงก็ได้ ซึ่งจะมีผลคุมกำเนิดได้นาน 12 ชั่วโมง และไม่ต้องเปลี่ยนใหม่หากมีเพศสัมพันธ์ซ้ำในช่วงเวลาดังกล่าว

หากเป็นฟองน้ำคุมกำแบบที่ต้องใส่ยาฆ่าอสุจิเอง สามารถนำมาทำความสะอาดแล้วใช้ซ้ำได้ แต่เนื่องจากพบความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานได้สูง ในปัจจุบันจึงนิยมใช้แบบที่เคลือบยาฆ่าอสุจิมาอยู่แล้ว และใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง เพื่อความสะดวกและสุขอนามัยที่ดี

ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ในหญิงที่ไม่เคยคลอดบุตร จะสูงกว่าหญิงที่เคยคลอดบุตรมาแล้วค่ะ นั่นคือ ถ้าใช้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์แบบ หญิงที่ไม่เคยคลอดบุตรจะมีโอกาสตั้งครรภ์ 9% ส่วนหญิงที่เคยคลอดบุตรแล้วจะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงขึ้นเป็น 20%

แต่ถ้าเป็นการใช้โดยปกติทั่วไป หญิงที่ไม่เคยคลอดบุตรจะมีโอกาสตั้งครรภ์ 12% ส่วนหญิงที่เคยคลอดบุตรแล้วจะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงถึง 24%

จะเห็นได้ว่า การใช้ฟองน้ำคุมกำเนิด มีโอกาสคุมกำเนิดล้มเหลวและตั้งครรภ์ได้สูงกว่าวิธีคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนนะคะ และข้อเสียอื่น ๆ นอกเหนือจากประสิทธิภาพที่ไม่สูงมากแล้ว ก็คือตัวยา Nonoxynol-9 ที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้ออสุจิอสุจิ อาจทำให้ระคายเคืองหรือแพ้ได้ค่ะ และมีการศึกษาที่ชี้ว่าอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีได้ง่ายด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ในขณะที่ฟองน้ำอนามัยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ซับเลือดประจำเดือน แต่ฟองน้ำคุมกำเนิดไม่แนะนำให้ใช้ในช่วงที่มีประจำเดือนนะคะ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการช็อกจากการติดเชื้อ หรือ Toxic Shock Syndrome (TSS) เช่นเดียวกันเมื่อใส่ไว้ในช่องคลอดนาน ๆ ค่ะ

จะเห็นได้ว่า แม้ “ฟองน้ำอนามัย” และ “ฟองน้ำคุมกำเนิด” จะมีชื่อคล้าย ๆ กัน และใส่ไว้ในช่องคลอดเหมือนกัน แต่วัตถุประสงค์ในการใช้ต่างกันมากเลยนะคะ

ในบ้านเราไม่มีฟองน้ำคุมกำเนิดจำหน่ายค่ะ มีแต่ฟองน้ำอนามัย ซึ่งแม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อซับเลือดประจำเดือน แต่คงไม่มีใครใช้แทนผ้าอนามัยกันแล้วนะคะ เพราะความสะดวกในการใช้และประสิทธิภาพในการซึมซับแตกต่างกัน เท่าที่เห็นก็มักจะใช้เพื่อกิจกามอันจำเป็นในเวลาที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ (ฮ่า)

แต่ในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน ไม่ใช่ช่วงที่เหมาะสมสำหรับการมีเพศสัมพันธ์เลยค่ะ ดังนั้นใครที่ใคร่ใช้ “ลูกเจี๊ยบ” เพื่อการนี้ ก็ต้องระวังปัญหาการติดเชื้อในช่องคลอดและอุ้งเชิงกรานกันด้วยนะคะ 


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
CPG Sec. 345.300 Menstrual Sponges. U.S. Food and Drug Administration (FDA). (https://www.fda.gov/regulatory-information/search-fda-guidance-documents/cpg-sec-345300-menstrual-sponges)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป