วัคซีน IPD สำคัญอย่างไร จำเป็นต้องฉีดหรือไม่?

IPD เป็นวัคซีนเสริม ราคาสูง แต่ผู้มีภาวะเสี่ยงอาจควรฉีดไว้ เพื่อจะได้ไม่เป็นโรคที่อาการรุนแรง
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
วัคซีน IPD สำคัญอย่างไร จำเป็นต้องฉีดหรือไม่?

ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง และคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยวัยไม่เกิน 2 ปี ย่อมต้องเคยได้ยินชื่อ “วัคซีนไอพีดี” กันเกือบทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อคุณแม่ที่ไปใช้บริการจากสถานบริการสุขภาพของเอกชน เช่น โรงพยาบาลเอกชน หรือ คลินิก หากไม่เคยหาข้อมูลมาก่อน อาจเกิดความสงสัยว่าวัคซีน ไอพีดี (วัคซีน IPD) คือวัคซีนป้องกันโรคอะไร และจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ลูกของคุณได้ฉีดวัคซีนที่จัดว่าเป็นวัคซีนทางเลือกชนิดนี้

วัคซีนไอพีดี (IPD) คืออะไร?

วัคซีน ไอพีดี หรือ วัคซีน IPD โดย IPD ย่อมาจาก Invasive pneumococcal disease เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Streptococcus pneumonia หรือ แบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อาศัยอยู่ในโพรงจมูกของคนทั่วไป ทั้งวัยเด็กและผู้ใหญ่ พบว่าในผู้ใหญ่แม้จะมีแบคทีเรียชนิดนี้ในโพรงจมูก จะไม่ทำให้เกิดโรคใดๆ แต่จะเป็นพาหะที่จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ส่วนในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจติดเชื้อได้ง่าย และหากติดเชื้ออาการอาจลุกลามและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ภาวะแทรกซ้อนที่กล่าวถึงแม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย แต่หากเกิดขึ้นก็จะเป็นอันตรายและรุนแรงมาก ได้แก่ ปอดอักเสบอย่างรุนแรง ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบเฉียบพลัน 

จากข้อมูลทางการแพทย์หลายแหล่ง โรคไอพีดีก่อให้เกิดอันตราย ที่แม้จะไม่พบไม่บ่อย แต่หากเกิดขึ้นจะรุนแรงมากจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

เพราะเหตุใด ประเทศไทยจึงยังจัดให้วัคซีนไอพีดีเป็นวัคซีนในกลุ่มวัคซีนทางเลือกหรือวัคซีนเสริม?

คำอธิบายมีดังนี้ วัคซีนในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ วัคซีนทางเลือกหรือวัคซีนเสริม (Optional vaccine) กับวัคซีนพื้นฐาน

วัคซีนทางเลือก เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดี มีประโยชน์ในการป้องกันโรค แต่ไม่ได้อยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข (วัคซีนพื้นฐาน) ดังนั้นผู้ปกครองจะเลือกฉีดให้ลูกหลานหรือไม่ก็ได้ ส่วนใหญ่วัคซีนเสริมนี้จะมีราคาค่อนข้างสูง

สำหรับวัคซีน ไอพีดี เป็นวัคซีนทางเลือก 1 รายการ จากวัคซีนทางเลือกทั้งหมด 7 รายการ ได้แก่ วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนโรต้า วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนฮิบ และวัคซีน ไอพีดี หรือวัคซีนนิวโมคอคคัส

กรณีการฉีดวัคซีนไอพีดี โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) แนะนำให้บุคคลสองกลุ่มที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนไอพีดี ได้แก่ เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบ และผู้ที่มีอายุมากกว่า 2 ขวบขึ้นไปที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคัสมากกว่าคนทั่วไป เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้ป่วยที่มีการทำงานของม้ามผิดปกติ หรือเคยผ่าตัดตัดม้ามออก
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว 
  • ผู้ป่วยหัวใจวาย โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยที่มีน้ำไขสันหลังรั่ว
  • ผู้ป่วยปลูกถ่ายคอเคลียร์ (Cochlear)

แนะนำให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 2 ขวบขึ้นไป ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 5 ปี และ ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีน 1 เข็ม สำหรับเด็กเล็กจะมีช่วงเวลาและความถี่ในการฉีดแตกต่างกันไปตามอายุที่เริ่มฉีด

ฉีดวัคซีนไอพีดีแล้วจะป้องกันการติดเชื้อได้ 100% หรือไม่?

ฉีดวัคซีนไอพีดีเพียงไม่กี่เข็ม จะป้องกันการติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus penumoniae ได้ 100% หรือไม่? นี่อาจเป็นคำถามถัดไปที่อาจเกิดขึ้นหลังจากทราบถึงความจำเป็นของวัคซีนไอพีดีแล้ว

คำตอบคือ วัคซีนไอพีดีก็เหมือนวัคซีนส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ 100% เพราะเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus penumoniae มีทั้งหมด 90 สายพันธุ์ จากการเก็บข้อมูลในประเทศไทยพบว่า มีสายพันธุ์ที่พบบ่อย 5 สายพันธุ์ คือ 6B, 19A, 14, 18C และ 6A ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี พบอุบัติการณ์ของการเกิดโรคจากแบคทีเรีย Streptococcus penumoniae สายพันธุ์ 19A เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า  ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนไอพีดีที่นิยมใช้กัน อยู่ 3 ชนิด ดังนี้

  1. วัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ 23 สายพันธุ์ (Polysaccharide vaccine 23 serotype หรือ PS23) วัคซีนชนิดนี้ครอบคลุมเชื้อก่อโรคในเด็กได้ครอบคลุม 80% ของสายพันธุ์ที่ก่อโรค แต่สามารถป้องกันเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้ทางกระแสเลือดเท่านั้น สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ดังนั้นในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี และมีโอกาสได้รับเชื้อผ่านช่องทางอื่นๆ เช่นทางเดินหายใจ วัคซีนชนิด PS23 ชนิดนี้จึงไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคได้
  2. วัคซีนนิวโมคอคัส คอนจูเกต 10 สายพันธุ์ (Pneumococcus conjugate vaccine 10 serotypes หรือ PCV 10) เป็นวัคซีนที่ครอบคลุมเชื้อก่อโรค 10 สายพันธุ์ ซึ่งมากกว่า 50% ครอบคลุมเชื้อก่อโรคในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี วัคซีนชนิดนี้เหมาะสำหรับเด็กที่อายุ 6 สัปดาห์ ถึง 2 ปี
  3. วัคซีนนิวโมคอคัส คอนจูเกต 13 สายพันธุ์ (Penumococcus conjugate vaccine 13 serotypes หรือ PCV 13) เป็นวัคซีนที่ครอบคลุมเชื้อก่อโรค 13 สายพันธุ์ วัคซีนชนิดนี้เหมาะสำหรับเด็กที่อายุ 6 สัปดาห์ ถึง 5 ปี และผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดนี้

วัคซีน IPD เป็นวัคซีนเสริม หรือวัคซีนทางเลือก แม้กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยยังไม่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนชนิดนี้ แต่ผู้ที่พิจารณาตนเองแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษาการรับวัคซีน เพราะการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ แม้มีโอกาสเกิดน้อย แต่หากเจ็บป่วยขึ้นแล้วจะเป็นการเจ็บป่วยที่รุนแรง มีภาวะแทรกซ้อนมาก ที่อาจนำมาซึ่งความพิการและการเสียชีวิตในที่สุด สำหรับค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีน โดยส่วนใหญ่จะมีราคาประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป สามารถสอบถามข้อมูลก่อนตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน), Optional vaccine: วัคซีนทางเลือก (http://nvi.go.th/index.php/vaccine-knowledge/optional-vaccine), สืบค้น 13 สิงหาคม 2562.
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช, ตารางฉีดวัคซีนป้องกันโรคสำหรับเด็ก อายุแรกเกิด ถึง 18 ปี (https://medium.com/sara-pahamor/ว่าด้วยเรื่องวัคซีนเด็ก-ฉีดอันไหน-ยังไง-ราคาเท่าไร-แม่ซาร่าจัดให้-376374be610b), สืบค้น 13 สิงหาคม 2562.
ภก. ผศ. ดร. วิสิฐ ตั้งเคียงศิริสิน, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัคซีน. (http://www.pharmacy.su.ac.th/biop/htdocs/vaccine/generalknowledge/46-basic), สืบค้น 13 สิงหาคม 2562.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)