อาการหน้าอกบุ๋มรั้งขณะหายใจ เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ อาจเกิดจากโรคบางชนิด หรือสำลักสิ่งแปลกปลอม หากพบผู้ป่วยภาวะนี้ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
กล้ามเนื้อที่ยึดระหว่างซี่โครง (Intercostal Muscles) เป็นส่วนหนึ่งของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ ขณะที่หายใจเข้า กล้ามเนื้อชนิดนี้จะหดตัวและทำให้ซี่โครงยกตัวขึ้น ขณะเดียวกันกล้ามเนื้อกระบังลม (Diaphragm) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่แยกระหว่างทรวงอกและช่องท้องออกจากกัน จะลดตัวต่ำลงขณะหายใจเข้า และอากาศจะเข้ามาอยู่ภายในปอด
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ถ้ามีการอุดกั้นบางส่วนของทางเดินหายใจส่วนบนหรือทางเดินหายใจเล็กๆ ในปอด จะทำให้อากาศไม่สามารถหมุนเวียนได้ดี ทำให้ความดันภายในร่างกายส่วนนี้ลดต่ำลง เป็นผลให้กล้ามเนื้อที่ยึดระหว่างซี่โครงนี้ดึงรั้งเข้าด้านในอย่างรวดเร็ว จึงเรียกภาวะนี้ว่า หน้าอกบุ๋มรั้งขณะหายใจ (Intercostal Retractions หรือ Intercostal Recession)
หน้าอกบุ๋มรั้งขณะหายใจ เป็นภาวะที่บ่งชี้ว่ามีบางสิ่งบางอย่างอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ เช่น การสำลักสิ่งแปลกปลอม โรคหอบหืด (Asthma) โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) และโรคของระบบหายใจอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ทั้งสิ้น
สาเหตุของอาการหน้าอกบุ๋มรั้งขณะหายใจ
มีหลายภาวะ ที่สามารถทำให้เกิดอาการหน้าอกบุ๋มรั้งขณะหายใจได้ โดยสามารถจำแนกตามช่วงอายุได้ดังนี้
โรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่
- ภาวะกดการหายใจในทารกแรกคลอด (Respiratory Distress Syndrome) : เป็นภาวะที่ทางเดินหายใจขนาดเล็กในปอดของทารกแรกเกิดมีการตีบตันเกิดขึ้น ทำให้หายใจลำบากอย่างรุนแรง มักพบในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด ภาวะนี้เป็นอันตรายต่อสมองทารก และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
- หนองในช่องหลังคอหอย (Retropharyngeal Abscess) : เป็นภาวะที่มีหนองและการติดเชื้อเกิดขึ้นภายในช่องหลังคอหอยเด็ก มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี หากพบต้องทำการรักษาโดยด่วน และในบางครั้งอาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อป้องกันการอุดกั้นทางเดินหายใจ
- หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) : ภาวะที่มีการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจขนาดเล็ก หรือหลอดลมฝอยในปอด (Bronchioles) ซึ่งพบในปอดของเด็ก มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน และพบได้บ่อยในช่วงอากาศหนาวเย็น
- กล่องเสียงและหลอดลมอักเสบ (Croup) : ภาวะที่หลอดลมและเส้นเสียงในเด็กเกิดการบวมอักเสบ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย เด็กจะมีอาการไอก้องเหมือนเสียงสุนัขเห่า โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี
โรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยในผู้ใหญ่ ที่สามารถพบในเด็กได้เช่นกัน ได้แก่
- หอบหืด (Asthma) : โรคเรื้อรังที่มีการอักเสบและการตีบแคบของทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการหายใจมีเสียงหวีด (Wheezing) หายใจลำบาก หอบเหนื่อย และแน่นหน้าอก
- ปอดอักเสบ (Pneumonia) : โรคที่เกิดขึ้นเมื่อปอดมีการอักเสบจากการติดเชื้อ อาการจะมีตั้งแต่รุนแรงน้อย ไปจนถึงรุนแรงมากจนเป็นอันตรายต่อชีวิต และยังเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ (Epiglottitis) : เกิดขึ้นเมื่อกระดูกอ่อนที่ปิดอยู่ด้านบนหลอดลมมีอาการบวม ทำให้อากาศไม่สามารถผ่านไปยังปอดได้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่อันตรายถึงชีวิต
- ภาวะแอนาฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) หรืออาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีบางสิ่งบางอย่างกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ทำให้ทางเดินหายใจหดตัว และเป็นสาเหตุของปัญหาการหายใจอย่างรุนแรง จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ทำให้เสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษา
นอกจากนี้ การสำลักที่เกิดขึ้นเมื่อมีการหายใจหรือกลืนเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดอยู่ ก็ทำให้เกิดอาการหน้าอกบุ๋มขณะหายใจได้ มักพบในเด็กเล็กเพราะเป็นช่วงวัยที่มีโอกาสหายใจหรือกลืนเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปโดยอุบัติเหตุ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
การรักษาอาการหน้าอกบุ๋มรั้งขณะหายใจ
เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้ว แพทย์และเจ้าหน้าที่ทำการปฐมพยาบาลด้วยการให้ออกซิเจนกับผู้ป่วยก่อน ระหว่างนี้จะมีการซักถามผู้ป่วย (ในกรณีที่ยังตอบได้) และญาติของผู้ป่วย เพื่อให้วินิจฉัยอาการได้เร็วที่สุด ซึ่งจะได้มีการรักษาให้ตรงตามสาเหตุต่อไป
การป้องกันอาการหน้าอกบุ๋มขณะหายใจ
ไม่มีวิธีที่ป้องกันการเกิดอาการหน้าอกบุ๋มขณะหายใจได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดอาการดังกล่าวได้ ด้วยการดูแลสุขอนามัยให้ดี ไม่ควรเข้าใกล้ผู้ป่วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ในกรณีที่เป็นภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแอนาฟิแล็กซิส
ในกรณีที่มีบุตรหลานอยู่ในบ้าน ควรเก็บสิ่งของขนาดเล็กให้พ้นมือเด็ก และควรแบ่งอาหารออกเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อป้องกันการติดคอและสำลักอาหาร
ที่มาของข้อมูล
Amanda Delgado, What Causes Intercostal Recession? (https://www.healthline.com/symptom/intercostal-recession), March 15, 2018.