โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection หรือ UTI) หมายถึง โรคที่มีการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะต่างๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ สาเหตุสำคัญของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ คือ แบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบคทีเรีย E.coli ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนเรา โดยจะมีการเคลื่อนที่ของแบคทีเรียจากลำไส้ออกมาปนเปื้อนบริเวณส่วนนอกของรูก้น จากนั้นเข้าสู่บริเวณช่องเปิดของท่อปัสสาวะและเคลื่อนที่เข้าสู่ทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดการติดเชื้อในบริเวณที่เคลื่อนที่ไปถึง
หากผู้ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้การติดเชื้อมีความรุนแรงขึ้น จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับอาการแสดงของการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ น้ำปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะมีเลือดปน ปวดท้องน้อย ปวดหลังบริเวณสีข้าง เป็นต้น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
วิธีการป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ดังนี้
- ผู้ที่มีการไหลของปัสสาวะผิดปกติ เช่น ผู้ที่กลั้นปัสสาวะมากกว่า 4 ชั่วโมง ผู้ที่มีนิ่วหรือเนื้องอกอุดตันในทางเดินปัสสาวะ มีการบีบตัวของท่อไตหรือกระเพาะปัสสาวะที่ผิดปกติ ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงไม่สามารถลุกขึ้นมาปัสสาวะได้ ผู้ที่คาสายสวนปัสสาวะ จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
เนื่องจากโดยปกติร่างกายมีกลไกการไหลของปัสสาวะออกสู่ภายนอกตามแรงโน้มถ่วงของโลกในปริมาณที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ การไหลออกของน้ำปัสสาวะจะช่วยขับเอาเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนออกสู่นอกร่างกาย เมื่อกลไกการไหลของปัสสาวะผิดปกติ จึงส่งผลให้แบคทีเรียบางส่วนมีการสะสมและก่อให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้
วิธีป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติในการไหลของปัสสาวะ ในเบื้องต้น คือ หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ สำหรับผู้ที่มีการอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะจากสาเหตุต่างๆ หรือ มีการบีบตัวของท่อไตและกระเพาะปัสสาวะที่ผิดปกติ ควรเข้ารับการรักษาเพื่อแก้ไขสาเหตุนั้นๆ และหมั่นสังเกตอาการแสดงเบื้องต้นของการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อจะได้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม กรณีผู้ป่วยที่นอนติดเตียงไม่สามารถลุกปัสสาวะเองได้ ผู้ดูแลอาจต้องช่วยพลิกตะแคงตัวเพื่อป้องกันการคั่งค้างของปัสสาวะลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะและควรใส่ใจในการทำความสะอาดในบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์อย่างถูกวิธีและไม่ปล่อยให้อวัยวะสืบพันธุ์เกิดการอับชื้นเป็นเวลานาน
- ลักษณะกายภาพของท่อปัสสาวะที่สั้น เช่น เพศหญิง มีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่าเพศชาย จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ แม้ว่าจะเป็นลักษณะกายภาพที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตาม การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีจะช่วยลดโอกาสของการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะในเพศหญิงได้ เช่น ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-12 แก้ว ทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธ์อย่างถูกวิธีด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งหลังการขับถ่าย โดยล้างจากบริเวณรูเปิดของทางเดินปัสสาวะไปยังรูก้น และเช็ดทำความสะอาดโดยไม่ย้อนกลับไปมา ไม่ปล่อยให้เกิดการอับชื้นหรือหมักหมมในบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ใช้ผ้าอนามัยขณะมีรอบเดือน หรือ ผู้ที่สวมใส่กางเกงอนามัยรองซับปัสสาวะ ควรมีการเปลี่ยนผ้าอนามัยหรือ กางเกงอนามัยทุก 4-6 ชั่วโมง
- ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้มีการติดเชื้อในร่างกายรวมถึงการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้สูงอายุ เมื่อได้รับเชื้อ กลไลการป้องกันของร่างกายที่ไม่แข็งแรงพอจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายและมีโอกาสลุกลามรุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อในบุคคลกลุ่มนี้ ควรประกอบกันทั้งการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม เช่น การไม่กลั้นปัสสาวะ การทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์อย่างถูกวีธีตามที่ได้กล่าวไปแล้ว การสังเกตอาการผิดปกติตั้งแต่แรกและรับการรักษาก่อนโรคจะลุกลาม เป็นต้น
- ผู้ที่มีการติดเชื้อของอวัยวะใกล้เคียงกับรูเปิดทางเดินปัสสาวะ ซึ่งการติดเชื้อในบริเวณอวัยวะใกล้เคียงดังกล่าวอาจลุกลามไปสู่ทางเดินปัสสาวะได้ เช่น การติดเชื้อหนองใน ดังนั้น ผู้ที่มีการติดเชื้อของอวัยวะใกล้เคียงกับรูเปิดทางเดินปัสสาวะควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์เพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อดังกล่าว
- ผู้ที่ดื่มน้ำน้อย มีโอกาสเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้จากมีการผลิตน้ำปัสสาวะน้อย ปัสสาวะจึงคั่งค้าง เชื้อโรคในปัสสาวะจึงเจริญได้ดี ดังนั้น คนทั่วไปที่ไม่มีข้อควรระวังในการดื่มน้ำ จึงควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-12 แก้ว
- ผู้มีประวัติการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหลังการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรงอาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้เนื้อเยื่อมีความไวต่อการติดเชื้อ ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์ ป้องกันได้โดยให้ดื่มน้ำมากๆ ทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น