โรคความดันโลหิตสูง หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะความดันโลหิตสูงนั้น เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ใหญ่ เฉลี่ยแล้วตกประมาณ 25-30% ของประชากรโลกที่อยู่ในกลุ่มผู้ใหญ่ทั้งหมด และมักพบบ่อยในกลุ่มของผู้ชายมากกว่ากลุ่มผู้หญิง ถือได้ว่าโรคความดันโลหิตเป็นโรคที่คุณควรใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากผลที่จะตามมานั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายเป็นอย่างมาก วันนี้เราได้นำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตมาฝากกัน
โรคความดันโลหิตสูงคืออะไร?
โรคความดันโลหิตสูง หรือในภาษาอังกฤษมีชื่อว่า Hypertension เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยใความดันอยู่ในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติอยู่ตลอดเวลา โดยความดันโลหิตจะประกอบไปด้วยสองค่า นั่นก็คือ ความดันช่วงหัวใจบีบและความดันช่วงหัวใจคลาย ซึ่งถือเป็นความดันสูงสุดและต่ำสุดที่เกิดขึ้นในระบบหลอดเลือดแดงตามลำดับ โดยความดันในช่วงหัวใจบีบนั้น จะเกิดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายเกิดการบีบตัวที่มากที่สุด ความดันในช่วงหัวใจคลายจะเกิดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายคลายตัวมากที่สุด ก่อนการบีบตัวในครั้งถัดไป
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน
ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ลักษณะอาการของโรคความดันโลหิตสูง
สำหรับโรคความดันโลหิตสูงนั้นถือได้ว่าเป็นโรคที่มักไม่มีอาการแสดงออกมา แต่มักจะมีอาการจากผลข้างเคียงจากการเป็นโรคหัวใจ และจากการเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง หรือสำหรับบางคนก็เกิดจากอาการของโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง อย่างเช่น อาการของผู้ป่วยเบาหวาน หรือจากการเป็นโรคอ้วน และสำหรับบางคนก็เกิดจากอาการของโรคที่เป็นสาเหตุโดยตรง เช่น โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง ซึ่งโรคชนิดนี้จะแสดงอาการของการปวดศีรษะและสายตามองเห็นภาพไม่ชัดเจน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงบางรายอาจมีอาการที่แสดงออกมาโดยตรง เช่น มีอาการมึนงง วิงเวียน และสับสน รวมทั้งมีอาการปวดศีรษะ สำหรับบางรายอาจมีอาการขั้นโคมาจนเสียชีวิตลง
สาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงนั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน คือ
- เกิดจากพันธุกรรม ซึ่งโอกาสที่คนในครอบครัวจะเป็นโรคชนิดนี้เป็นไปได้สูงมาก
- เกิดจากโรคอ้วนหรือร่างกายมีน้ำหนักที่เกินตัว เนื่องจากโรคชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดต่างๆ เกิดภาวะตีบจากภาวะไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือด เมื่อเกิดโรคชนิดนี้ขึ้นในร่างกาย ก็จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมาได้ง่าย
- เกิดจากการเป็นโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากโรคชนิดนี้จะส่งผลถึงการสร้างเอนไซม์และฮอร์โมนที่มีส่วนในการควบคุมความดันโลหิต
- เกิดจากการมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารพิษที่อยู่ในควันปริมาณมาก ซึ่งเป็นสารที่ส่งผลต่อการทำให้เกิดการอักเสบ เกิดการตีบตันของหลอดเลือดต่างๆ รวมทั้งหลอดเลือดไต อีกทั้งยังส่งผลต่อหลอดเลือดหัวใจ
- เกิดจากการดื่มสุรา เพราะการดื่มสุราจะส่งผลทำให้หัวใจของคนเราเกิดภาวะที่เต้นเร็วกว่าปกติ และนั่นก็จะส่งผลต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงสูงถึงประมาณ 50% ของผู้ที่ติดสุรา
- เกิดจากการทานอาหารที่มีรสเค็มเป็นประจำ เพราะความเค็มที่ร่างกายได้รับในปริมาณที่มากจนเกินไป มีส่วนทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้
- เกิดจากการไม่หมั่นออกกำลังกาย เพราะการไม่ออกกำลังกายนั้นจะส่งผลต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งหากเผชิญกับโรคทั้งสองชนิดนี้ ก็จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้
- เกิดจากผลข้างเคียงของการทานยา เช่น การทานยาที่อยู่ในกลุ่มสเตียรอยด์
วิธีรักษาโรคความดันโลหิตสูง
สำหรับวิธีการรักษาโรคความดันโลหิตสูงนั้น ก็คือ การทานยาลดความดันโลหิตสูงตามที่แพทย์ได้สั่งจ่ายยาเอาไว้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาและควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งโรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วย สำหรับยาลดความดันโลหิตสูงนั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลายชนิด เช่น ยาสำหรับรับประทานและยาสำหรับฉีด ทั้งนี้ยาแต่ละชนิดจะถูกนำมาใช้ตามระดับความรุนแรงของอาการที่แสดงออกมา สำหรับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงอีกแนวทางหนึ่งก็คือ การรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าว กล่าวคือ หากทำการรักษาโรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง รวมทั้งโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองให้หายได้ โรคความดันโลหิตสูงก็จะหายตามไปด้วย ทั้งนี้การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งการไม่วิตกกังวลกับทุกปัญหา รู้จักปล่อยวางหรือมีสติมากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
วิธีการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
ในส่วนของการป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงสามารถทำได้โดยการหมั่นทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นอาหารที่ให้คุณค่าสารอาหารที่ครบทั้ง 5 หมู่ทุกๆ วัน โดยทานอาหารแต่ละหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม นั่นก็คือ ทานอาหารโดยที่ไม่ทำให้สุขภาพร่างกายเกิดถาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักที่เกินเกณฑ์ และควรจัดการอาหารประเภทที่ให้ไขมัน แป้ง น้ำตาล และอาหารรสชาติเค็มทิ้งไป โดยเพิ่มปริมาณของผักและผลไม้ชนิดที่ไม่หวานมากแทน สำหรับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การให้ร่างกายมีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ รวมทั้งการหมั่นทำให้จิตใจสงบและมีสติยิ่งขึ้นก็มีส่วนในการป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงได้แล้ว ทั้งนี้ก็อย่าลืมตรวจสุขภาพประจำปีด้วยเช่นกัน เพราะการตรวจหาโรคความดันโลหิตสูงนั้น สามารถทำการตรวจได้ตั้งแต่อายุ 18-20 ปี เมื่อมีโอกาสเสี่ยงหรือกำลังเผชิญกับโรคดังกล่าว ก็สามารถรับมือได้ทัน เนื่องจากแพทย์จะให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยเพื่อปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง
วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูง
สำหรับการดูแลตนเองในช่วงที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็คงไม่พ้นจากการแนะนำของแพทย์หรือพยาบาลอย่างเคร่งครัดและถูกวิธี ทั้งนี้ก็ควรทานยาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง ควรงดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน อาหารรสเค็ม หมั่นจำกัดและควบคุมปริมาณอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดภาวะโรคอ้วนหรือร่างกายที่มีน้ำหนักที่เกินเกณฑ์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการสูดดมกลิ่นควันบุหรี่ งดดื่มสุรา รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ทำให้สุขภาพจิตต้องเผชิญกับเรื่องแย่ๆ ให้ต้องเครียด กดดัน หรือเป็นกังวลจนทำให้อาการทรุดลง ที่สำคัญควรเข้าพบแพทย์ตามนัดเสมอ แต่หากมีอาการที่ผิดปกติเช่น ปวดศีรษะรุนแรง มีอาการเหนื่อยผิดปกติ เจ็บแน่นในบริเวณหน้าอก มีอาการใจสั่น เหงื่อออกเป็นจำนวนมาก แขนและขาเกิดอาการอ่อนแรง ปากเบี้ยว และคลื่นไส้อาเจียน ก็ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน
ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ความดันเลือดคืออะไร ?
ความดันเลือด (blood pressure หรือ BP) เป็นความดันจากเลือดแดง ตรวจพบได้จากการหมุนเวียนของระบบเลือดภายในผนังหลอดเลือด เป็นตัวแสดงให้เห็นถึงสัญญาณชีพจรว่าร่างกายกำลังทำงาน มีการถ่ายเทออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
รู้จักกับความดันเลือด
ความหมายของ "ความดันเลือด" จึงหมายถึง ความดันที่เกิดขึ้นจากการไหลเวียนของ "เลือดแดง" ภายในร่างกาย ซึ่งจะผาดผ่านเส้นเลือดหัวใจแต่ละเส้น จะมีความดันสูงสุดเมื่อหัวใจบีบตัว และความดันต่ำสุดเมื่อหัวใจคลายตัว เราจะตรวจวัดระดับความดันเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่นั้น จะตรวจจากความดันเลือดเฉลี่ยในการไหลเวียนเลือดจากการสูบของหัวใจที่มีการบีบและคลายตัว ความดันเฉลี่ยที่พบจึงขึ้นอยู่กับความดันเลือดและความต้านทานภายในหลอดเลือด
ค่าความดันเลือด
การบอกค่าความดันจึงถูกวัดออกมาเป็นสองตัวเลข โดยตัวแรกจะเป็น "ความดันซีสโตลิก" และตัวที่สองเป็นความดัน "ไดแอสโตลิก" เช่น 120/80 ค่า 120 คือความดันซีสโตลิก ส่วนค่า 80 คือความดันไดแอสโตลิก โดยมีหน่วยวัดเป็นมิลลิเมตรปรอท
การวัดความดันจะวัดที่แขนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นแขนซ้ายหรือแขนขวา ล้วนให้ค่าความดันเท่ากัน ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถตรวจพบว่าร่างกายมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นในผนังเลือดหรือหัวใจหรือไม่ หากค่าความดันที่ตรวจวัดได้นั้นไม่ตรงตามค่ามาตรฐาน อย่างไรก็ตามคนปกติก็สามารถตรวจพบความดันเลือดสูงได้ เช่นในช่วงออกกำลังกาย เป็นไข้ ตื่นเต้น โกรธ หวาดกลัว หรือกินยาบางชนิด ดังนั้นในการตรวจจึงอาจจะต้องวัดซ้ำอีกครั้งเพื่อให้เกิดความแน่ใจ
โรคแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง
สำหรับโรคแทรกซ้อนที่มีโอกาสเกิดขึ้นเมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูงนั่นก็คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือที่เรารู้จักในชื่อของโรคหัวใจขาดเลือดจากเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งอาการของโรคดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน และอาการค่อนข้างรุนแรงเนื่องจากผู้ป่วยบางรายมักจะต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายมักจะมีอาการเกิดในลักษณะที่ปวดไม่มาก และไม่รู้ตัวว่าเป็นอาการของโรคหัวใจตีบ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยไม่รีบเข้ารับการรักษา สำหรับอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้นจะแสดงออกในลักษณะของการแน่นหน้าอก มักเกิดอาการแน่นตรงกลางหน้าอกในช่วงที่ออกกำลังกายหรือทำงานหนัก โดยเมื่อหยุดออกกำลังกายหรือหยุดทำงานหนักไม่กี่นาที อาการปวดก็จะหายไป สำหรับอาการแน่นหน้าอกนั้น จะมีความรู้สึกเหมือนมีสิ่งของที่มีน้ำหนักมาทับจนทำให้เกิดอาการแน่นและแสบตามไปด้วย มีอาการปวดร้าวในบริเวณอื่น เช่น ปวดในบริเวณแขนซ้าย กราม หลัง ลิ้นปี่ และคอ อีกทั้งยังมักมีอาการหายใจคล้ายเป็นโรคหอบ มีอาการคลื่นไส้ เป็นลม มือเท้าเย็นผิดปกติ และเหงื่อออกเป็นจำนวนมาก
ความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โอกาสที่คุณจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งนั้นมีอยู่สูงมาก ซึ่งโรคชนิดนี้จะส่งผลต่อการทำให้สมองอยู่ในภาวะของการขาดเลือด หรือบางครั้งอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองแตกได้ ในส่วนของอาการที่จะคอยเตือนให้คุณรู้ตัวในขณะที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ต่อการเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งนั่นก็คือ มักมีอาการชาหรืออาการอ่อนแรงในบริเวณแขนขา หรือบางครั้งจะเกิดขึ้นในบริเวณของใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง มีอาการตามัวหรือมองภาพไม่ชัดเจนในข้างใดข้างหนึ่งเช่นกัน ที่สำคัญจะมีอาการพูดลำบากหรือบางครั้งพูดไม่ได้ ซึ่งถือเป็นอาการเดียวกับโรคอัมพาต
อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
สมาคมโรคหัวใจและหลอดเลือดของประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการทดลองที่เรียกว่า DASH ซึ่งเป็นการทดลองเพื่อหาชนิดของอาหารเพื่อผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง มีการค้นพบว่า การที่ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ อาหารไขมันต่ำ รวมทั้งทานผักผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเน้นการทานอาหารจำพวกธัญพืช ปลา ถั่ว และนมชนิดไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงเนื้อแดง น้ำตาล และเครื่องดื่มที่มีรสหวานทุกชนิดก็จะช่วยให้ระดับความดันโลหิตลดลงได้ ซึ่งในการทดลองครั้งนี้ได้มีการแบ่งคนไข้ออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มที่ทานอาหารปกติ กลุ่มที่ทานอาหารปกติแต่เพิ่มผักและผลไม้ และกลุ่มที่ทานอาหาร DASH โดยแต่ละกลุ่มจะมีการทานเกลือในปริมาณที่เท่ากัน ระยะเวลาในการทดลองใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ทานผักผลไม้และกลุ่มที่ทานอาหาร DASH มีระดับความดันโลหิตที่ลดลงอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีอาการทดลองเพิ่มเติมโดยการให้ทานเกลือในระดับที่ต่ำลง และพบว่าระดับความดันโลหิตของทั้ง 3 กลุ่มลดลง แต่ในส่วนของกลุ่มที่ทานอาหาร DASH จะมีระดับความดันโลหิตที่ลดลงมากที่สุด
การใส่ใจในเรื่องของอาหารการกิน รวมทั้งการรู้จักป้องกันเพื่อไม่ให้ร่างกายต้องเผชิญกับโรคความดันโลหิตสูง จะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีขึ้น และไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ที่มีส่วนต่อการทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่น่ากลัวและมีอาการที่ส่งผลร้ายต่อชีวิตได้ เพราะโรคแทรกซ้อนที่พร้อมเข้ามาในช่วงที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ถือเป็นโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเผชิญ เพราะฤทธิ์ร้ายของอาการจะทำให้ใช้ชีวิตที่ค่อนข้างลำบากและไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้