เมื่อเร็วนี้ รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบในเรื่องของการนำเบี้ยประกันสุขภาพ จำนวนไม่เกิน 15,000 บาท มาขอลดหย่อนภาษีประจำปีได้ (และถ้าหากรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท) ซึ่งก็นับว่าเป็นที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง เพราะจะทำให้คนไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีประจำปี หันมาทำประกันสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระด้านการคลังที่มีต่อการดูแลสุขภาพของคนไทยได้อีกจำนวนหนึ่ง และยังช่วยลดภาระของผู้ทำประกันเอง ไม่ให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวที่สูงเกินกว่าจะแบกรับได้ แต่ถึงกระนั้นก็มีเรื่องราวมากมายที่ควรรู้เกี่ยวกับการลดหย่อนประกันสุขภาพที่ควรจะเข้าใจ ซึ่งเราขอสรุปเพื่อความเข้าใจดังต่อไปนี้
ประกันสุขภาพ คืออะไร ?
อธิบายก่อนเลยว่า ประกันสุขภาพ ก็คือการทำประกันประเภทหนึ่ง ระหว่างผู้เอาประกัน กับบริษัทประกัน ที่มีต่อการจ่ายค่าชดเชยต่างๆ ในกรณีที่ผู้เอาประกันต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ด้วยโรคภัยรวมทั้งอุบัติเหตุ ซึ่งจะมีเงื่อนไขบางส่วนที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัทประกัน แต่ที่เหมือนกันก็คือ
- การจ่ายค่ารักษาพยาบาล ในกรณีที่ผู้เอาประกันเป็นผู้ป่วยใน ในส่วนนี้ประกอบไปด้วย ค่าห้อง ค่าบริการทางการแพทย์และพยาบาล ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
- ค่าผ่าตัด ในกรณีที่คนไข้ต้องได้รับการผ่าตัด ภายใต้เงื่อนไขที่ได้มีการตกลงกันไว้
- ค่าชดเชยเมื่อผู้เอาประกันต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
- ค่าชดเชยเมื่อผู้เอาประกันทุพพลภาพ
- นอกจากนี้ ผู้เอาประกันยังเลือกซื้อความคุ้มครองในด้านอื่นเพิ่มเติมได้ เช่น การรักษาทางทันตกรรม การคุ้มครองเมื่อเป็นโรคร้าย เป็นต้น
โดยความคุ้มครองต่างๆ ทั้งหมดนี้ จะอยู่ในประกันสุขภาพที่มีเบี้ยประกันตั้งแต่ 10,000 เป็นต้นไปต่อปี ซึ่งก็นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเมื่อเจ็บป่วยที่อาจจะมากกว่าการจ่ายค่าเบี้ยประกันแล้ว ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
เจ็บป่วยแค่ไหน หรือบาดเจ็บเท่าไร จึงควรจะไปโรงพยาบาล?
ในส่วนนี้ มักจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการทำประกันว่า หากเจ็บป่วยทั่วไป หรือเป็นไข้หวัดธรรมดา จะสามารถเคลมได้หรือไม่ หรือจะต้องมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงจนถึงขั้นต้องนอนแอดมิทที่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่เรื่องของการบาดเจ็บ สามารถเคลมได้ทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมีดบาด (ที่ควรจะลึกพอสมควร) เดินตกท่อระบายน้ำ หรือถูกประตูหนีบ ไปจนถึงเรื่องของการถูกรถเฉี่ยวชน ซึ่งอุบัติเหตุเหล่านี้ อาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ไม่ว่าใครก็มีโอกาสเจ็บตัวได้ทั้งนั้น และอาจมีค่าใช้จ่ายที่แพงพอสมควร ถ้าหากมีอาการรุนแรง ด้วยเหตุนี้จึงมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะมีการทำประกันสุขภาพติดเอาไว้
ข้อดีของการซื้อประกันสุขภาพ
เชื่อว่าหลายคนคงจะเข้าใจเรื่องราวของประกันสุขภาพมากขึ้นแล้ว และก็อาจจะทำให้หลายคนเริ่มมีความสนใจที่จะซื้อประกันเพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตกันมากขึ้น ซึ่งเราก็ได้รวบรวมข้อดีมาสรุปให้อ่านอีกครั้ง เพื่อช่วยในการตัดสินใจ
- ประกันสุขภาพ ส่วนมากเป็นการซื้อแบบปีต่อปี จึงไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นหนี้แบบระยะยาว หากปีไหนไม่พร้อม หรือหมุนเงินไม่ทัน ก็สามารถลดเบี้ยประกันลงได้
- จ่ายเพียงครั้งเดียว แต่คุ้มครองได้ทั้งปี เมื่อถึงเวลาเจ็บป่วย ก็สามารถยื่นบัตรได้เลย ไม่ต้องสำรองจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
- ยิ่งเจ็บป่วยมากเท่าใด ค่าใช้จ่ายก็จะต้องแพงมากขึ้นเท่านั้น หากทำประกันสุขภาพแบบครอบคลุมทุกโรค ก็ไม่ต้องแบกรับภาระเหล่านี้อีกต่อไป
- ได้รับการรักษาที่ดี และมีคุณภาพตามมาตรฐาน สามารถเลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนได้ (ภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทประกันกำหนดไว้)
เงื่อนไข ที่ควรรู้เกี่ยวกับการลดหย่อนประกันสุขภาพ
- ประกันสุขภาพที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ จะต้องเป็นประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- ประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองในเรื่องของการรักษาพยาบาลที่เกิดจากการเจ็บป่วย และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ รวมทั้งมีการชดเชยเมื่อเกิดภาวะทุพพลภาพ
- ประกันอุบัติเหตุ ที่ให้ความคุ้มครองในส่วนของค่ารักษาพยาบาล
- ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง แต่ก็อาจมีเงื่อนไขอยู่บ้างขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทประกัน
- ประกันดูแลสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะที่คุ้มครองไปจนถึงวัยสูงอายุ
- สำหรับหลักฐานที่ต้องนำมาใช้เพื่อทำการยื่นขอลดหย่อนภาษี คือใบเสร็จ หรือหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันสุขภาพ ที่ออกโดยบริษัทประกัน ตามความเป็นจริง
- ประกันสุขภาพที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ จะต้องจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
- หากซื้อประกันสุขภาพให้พ่อแม่ (ตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรระบุไว้) ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว สำหรับใครที่ต้องการลดหย่อนภาษี ก็ลองเลือกประกันสุขภาพที่เข้าเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีดู ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายเจ้าที่เปิดขายประกันสุขภาพที่ลดหย่อนภาษีได้ แต่ก็อาจจะมีเงื่อนไขที่ต้องทำความเข้าใจพอสมควร และที่สำคัญอย่าลืมทำความเข้าใจกับรายละเอียดในการลดหย่อนให้ดีด้วย