“มะลิ” ประโยชน์จากความหอมสดชื่นที่คุณอาจไม่เคยรู้!

ไม่ใช่แค่กลิ่นที่หอมสดชื่น แต่ ดอกมะลิ ยังมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
“มะลิ” ประโยชน์จากความหอมสดชื่นที่คุณอาจไม่เคยรู้!

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • มะลิ เป็นดอกไม้ที่ใช้แทนสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก
  • ต้นมะลิมีลักษณะเป็นพุ่มขนาดเล็กถึงกลาง มีใบประกอบตามกิ่งแบบขนนก ใบแหลม ก้านสั้น ส่วนดอกมะลิจะมีลักษณะเป็นช่อ 
  • ดอกมะลิสามารถนำมาลอยน้ำเพิ่มความหอมหรือต้มแต่งกลิ่นกับใบชาก็ได้ มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ หากนำมะลิไปเป็นส่วนประกอบทำน้ำมันหอมระเหย จะช่วยกระตุ้นระบบประสาทอีกด้วย
  • ดอกมะลิจากบางแหล่ง ใช้ยาฆ่าแมลงและสารพิษในการปลูก ฉะนั้นควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มั่นใจได้ หรือปลูกที่บ้านโดยปราศจากสารเคมี
  • เนื่องจากกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยดอกมะลิช่วยให้ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าได้ การนวดอโรมาด้วยน้ำมันหอมระเหย จึงเป็นอีกทางเลือกในการบำบัดความเมื่อยล้าได้ดี (ดูแพ็กเกจ นวดตัว ได้ที่นี่)

ถ้าพูดถึงมะลิ หลายคนคงจะรู้จักกันดีว่าเป็นดอกไม้ที่มีความหอมอันเป็นเอกลักษณ์ และใช้เป็นเสมือนสัญลักษณ์ในหลายๆ โอกาส เช่น สัญลักษณ์ของความรักระหว่างแม่กับลูก

นอกเหนือจากดังกล่าวนี้ “มะลิ” ยังเป็นดอกไม้ที่มีสรรพคุณและประโยชน์ด้านสุขภาพแอบแฝงอยู่ด้วย

ทำความรู้จัก “มะลิ”

หลายคนอาจจะพอทราบกันมาบ้างว่า จริงๆ แล้ว มะลิ มีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ละพันธุ์มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันไป

โดยส่วนมาก มะลิจะมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลาง มีลักษณะกึ่งเลื้อย มีใบประกอบแบบขนนก ก้านใบสั้น ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบเข้าหากัน ขอบใบมีลักษณะเรียบ

ส่วนดอกมะลิจะมีลักษณะเป็นช่อ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง มีทั้งชนิดกลีบดอกซ้อน เรียกว่า มะลิซ้อน และกลีบดอกไม่ซ้อน เรียกว่า มะลิลา

มะลิทั้งสองชนิดมีสีขาวและกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ แต่ดอกมะลิลาจะหอมกว่า

สรรพคุณมะลิ

ในตำรายาของไทยระบุว่า ดอกมะลิจัดเป็นยารสหอมเย็น โดยมีการนำส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ราก ใบ ดอก ของมะลิมาใช้ในการปรุงยา ซึ่งจะให้สรรพคุณหลากหลาย เช่น ช่วยบำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย ชูกำลัง แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้อาการปวดท้อง

นอกจากนี้ กลิ่นของดอกมะลิยังช่วยกระตุ้นระบบประสาทสำหรับผู้ที่มีภาวะอ่อนล้า อ่อนเพลีย ช่วยปรับอารมณ์ และบรรเทาอาการปวดศีรษะในผู้ที่มีความเครียดอีกด้วย

แนวทางการนำมะลิมาใช้ประโยชน์

นอกเหนือจากการปลูกมะลิเป็นไม้ประดับบ้านและสวน หรือนำดอกมะลิมาร้อยมาลัยแล้วนั้น มะลิยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ดังนี้

  • ดอกมะลิลอยน้ำ นอกจากช่วยเพิ่มความหอมในการดื่มน้ำแล้ว ยังช่วยแก้กระหาย เพิ่มความสดชื่น บำรุงหัวใจ โดยการนำมะลมาลอยน้ำสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนำมาลอยน้ำดื่มทั่วไป ลอยในข้าวแช่ หรือนำดอกที่แห้งแล้วมาต้มน้ำร้อนดื่มเป็นยาหอมก็ได้เช่นกัน
  • ชามะลิ คนจีนโบราณนิยมนำมะลิมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการปรุงแต่งกลิ่นของชาแบบดั้งเดิม โดยใช้กรรมวิธีอบดอกมะลิให้แห้ง แล้วนำมาต้มกับใบชา
  • ดอกไม้ปรุงแต่งของหวาน ในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะประเทศไทย มักนิยมนำดอกมะลิมาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบในการทำของหวาน ไม่ว่าจะเป็นลอดช่อง วุ้นกะทิ รวมไปถึงขนมเชื่อมน้ำตาลต่างๆ ดอกมะลิช่วยเพิ่มความหอมของของหวาน และยังมีฤทธิ์เย็น เหมาะแก่การรับประทานตบท้ายอาหารคาว ช่วยเพิ่มความสดชื่น
  • น้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ เนื่องด้วยสรรพคุณจากกลิ่นของมะลิ ที่นอกจากหอมแล้วยังมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท จึงมีการผลิตน้ำมันหอมระเหยที่สกัดเอาความหอมจากดอกของมะลิมาใช้เป็นส่วนผสมหลัก

ข้อควรระวังในการใช้มะลิ

ถึงแม้ว่าดอกมะลิจะมีสรรพคุณและประโยชน์มากมาย แต่ในปัจจุบัน แหล่งเพาะปลูกมะลิหลายแห่งมีการนำสารเคมีมาใช้ในการดูแลต้นมะลิ เช่น ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี

ดังนั้นไม่ว่าจะคุณจะนำใช้ประโยชน์จากมะลิในรูปแบบรับประทานหรือสูดดม ก็อาจทำให้สารพิษต่างๆ เข้าไปสั่งสมอยู่ในร่างกาย และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

การซื้อมะลิจากตลาดหรือแหล่งซื้อทั่วๆ ไปมาใช้ อาจมีการปนเปื้อนของสารเคมี ซึ่งบางครั้งก็ไม่สามารถล้างสิ่งตกค้างเหล่านี้ให้หมดได้ เพื่อความมั่นใจและประโยชน์สูงสุดในการใช้ จึงควรใช้มะลิที่ปลูกด้วยตนเอง หรือนำมาจากแหล่งเพาะปลูกที่มั่นใจได้ว่าปราศจากสารเคมี

ดูแพ็กเกจ นวดตัว นวดอโรมา เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา, ความหอมที่แฝงพิษร้ายของดอกมะลิ (http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_1_001c.asp?info_id=109).
อุทยาหลวงราขพฤกษ์, เรื่องเล่าพรรณพฤกษาอาเซียน ตอนที่ ๙ (http://www.royalparkrajapruek.org/Knowledge/view/46), 15 มีนาคม 2560.
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, กลุ่มพืชหอม ยาบำรุงหัวใจ มะลิลา (http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_03_9.htm).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)