ปัจจุบัน การเล่นเกมในเด็กและวัยรุ่นเป็นที่นิยมมาก ลักษณะของเกมมีหลายรูปแบบ ทั้งตู้เกม วีดีโอเกม เกมคอมพิวเตอร์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
เด็กส่วนหนึ่งใช้เวลากับเกมมากจนเกิดปัญหาขึ้น ทั้งด้านการเงิน การเรียน สังคม เมื่อติดแล้วก็ยากต่อการเปลี่ยนแปลง
ทางที่ดีนั้นควรมีการป้องกันแต่เนิ่นๆ เนื่องจากเมื่อเกิดปัญหาแล้วเป็นเรื่องยากกว่า ในบางกรณีอาจส่งผลร้ายแรงกับอารมณ์และสังคมรอบตัวเด็ก
จากงานวิจัยปี พ.ศ. 2552 พบว่า 14.4% ของเด็กไทยเป็นเด็กติดเกม โดยเป็นเด็กนักเรียนชายถึง 2 ใน 3 โดยอัตราการติดเกมก็มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีอีกด้วย
ลักษณะของเด็กติดเกม
ก่อนอื่น ไม่ใช่ว่าเด็กที่ชอบเล่นเกมทุกคนจะเป็นเด็กติดเกม
เด็กติดเกมนั้นจะมีพฤติกรรมคล้ายผู้ป่วยติดสารเสพติดหรือติดการพนัน คือ มีความเพลิดเพลินใจเมื่อได้เล่นเกม และพึงพอใจเมื่อได้รับชัยชนะในการเล่นเกม แต่ต้องการเอาชนะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ จนส่งผลเสีย
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตว่าลูกของเราติดเกมหรือยัง โดยดูจากพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- ลูกไม่สามารถควบคุมตัวเองให้เล่นเกมในเวลาที่กำหนด ใช้เวลาในการเล่นนานติดต่อกันหลายชั่วโมง หรือเล่นนานขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มเป็นหลายชั่วโมงต่อวัน บางคนเล่นข้ามวันข้ามคืน
- เมื่อถูกบังคับให้เลิกหรือหยุดเล่นเกม ลูกจะต่อต้าน หรือมีปฏิกริยาหงุดหงิดไม่พอใจอย่างรุนแรง บางคนถึงขั้นก้าวร้าว อาละวาด
- การเล่นเกมถึงขั้นมีผลกระทบต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของเด็ก เช่น เด็กเล่นเกมจนไม่สนใจการเรียน ไม่สนใจทำการบ้าน หนีเรียน หรือแอบหนีออกจากบ้านเพื่อจะไปเล่นเกม ผลการเรียนตกลงมาก ละเลยการเข้าสังคม หรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เสียสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง
- ในเด็กบางคนอาจมีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ เช่น ลักขโมย (เพื่อนำเงินไปเล่นเกม) โกหก ดื้อ ต่อต้าน แยกตัว เก็บตัว หนีออกจากบ้าน ฯลฯ
ระดับของการติดเกม
ปัจจุบันไม่มีการวินิจฉัยระดับการติดเกมของเด็กที่แน่นอนชัดเจน แต่ลักษณะจะคล้ายกับพฤติกรรมของผู้ป่วยติดสารเสพติดอย่างที่กล่าวไปแล้ว
ระยะแรกเด็กต้องการเพียงทำให้เกิดความสุข เพลิดเพลินใจ แต่เมื่อความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายจะมีความต้องการจนถึงขั้นขโมยเงินเพื่อเล่นหรือซื้อเกม หรืออาจรุนแรงกว่านั้น
โดยจะไม่สามารถยับยั้งความต้องการได้ และอาการระยะสุดท้ายนี้จะคงอยู่หลังจากเลิกเล่นเกมไปอีกนาน
สาเหตุที่เด็กติดเกม
สาเหตุของการติดเกมมิได้มีเพียงสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง แต่เป็นผลลัพธ์มาหลายๆ ปัจจัย
มักพบว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เด็กติดเกม ได้แก่
1. การเลี้ยงดูในครอบครัว
มักจะพบเด็กติดเกมได้บ่อยในครอบครัวที่เลี้ยงเด็กโดยไม่เคยฝึกให้เด็กมีวินัยในตัวเอง หรือขาดกฎกติกาในบ้าน
บางครอบครัวมีลักษณะที่สมาชิกในครอบครัวต่างคนต่างอยู่ ไม่มีกิจกรรมที่สนุกสนานให้เด็กทำ หรือกิจกรรมที่สมาชิกทุกคนทำร่วมกัน
ทำให้เด็กเกิดความเหงา ความเบื่อหน่าย เด็กจึงต้องหากิจกรรมอื่นทำเพื่อให้ตัวเองสนุก จนพบกับการเล่นเกม
โดยพ่อแม่อาจไม่มีเวลา มองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องจำกัดเวลาในการเล่นเกมของเด็ก หรือพ่อแม่บางครอบครัวอาจรู้สึกพอใจที่เห็นเด็กเล่นเกม หรือใช้เกมเสมือนเป็นพี่เลี้ยงดูแลเด็กแทน
2. สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
สังคมยุคไฮเทค มีเครื่องมือและสิ่งเร้ามากมายที่ทำให้เกิดความตื่นเต้นในตัวเด็ก
ในขณะเดียวกันหากอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนกิจกรรม หรือสถานที่ที่เด็กจะได้ใช้ประโยชน์หรือเรียนรู้ โดยได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินไปด้วย ก็อาจกลายเป็นแรงผลักดันให้เด็กหันไปใช้การเล่นเกมเป็นทางออก
นอกจากนี้ การสนับสนุนให้เด็กและวัยรุ่นเข้าถึงคอมพิวเตอร์และเกมต่างๆ ได้โดยง่าย โดยที่เด็กอาจยังไม่ตระหนักถึงผลดีผลเสียของเทคโนโลยี ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเด็กติดเกมได้
3. ปัจจัยจากตัวเด็กเอง
เด็กบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเกมมากกว่าเด็กทั่วไป เช่น เด็กที่มีโรคทางจิตเวชที่พบร่วมด้วย เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) เด็กที่มีปัญหาอารมณ์ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล เด็กขาดทักษะทางสังคม เข้ากับเพื่อนไม่ได้ มีพฤติกรรมต่อต้าน ก้าวร้าว หรือมีปัญหาการเรียน เห็นคุณค่าตัวเองต่ำ (Low self-esteem)
การป้องกันไม่ให้ลูกกลายเป็นเด็กติดเกม
เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กติดเกม คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแล อาจปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้
- ศึกษาหาความรู้เรื่องเกม พูดคุย ทำความเข้าใจเรื่องเกมกับลูก เพื่อช่วยกันเลือกเกมที่เป็นประโยชน์แก่ลูก
- กำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับการเล่นเกมของลูกตั้งแต่ต้น ตั้งกติกาล่วงหน้าก่อนซื้อเกม เช่น เล่นได้วันใด ครั้งละกี่ชั่วโมง ต้องทำอะไรให้เสร็จก่อนบ้างถึงจะเล่นเกมได้ รวมถึงพูดคุยกันไว้ล่วงหน้าว่าจะมีบทลงโทษอย่างไรหากไม่ปฏิบัติตามตกลง
คำแนะนำเวลาการเล่นที่เหมาะสมคือ ไม่เกิน 1 ชั่วโมงในวันธรรมดา และ 2 ชั่วโมงในวันหยุด - ให้การเล่นเกมของลูกนั้นอยู่ในสายตาพ่อแม่ และอาจวางนาฬิกาขนาดใหญ่ไว้เพื่อให้เห็นได้ชัด พ่อแม่คอยกำกับให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้จริงจัง
ไม่ควรยอมให้เด็กละเมิดข้อตกลง หรือปล่อยให้เล่นเองโดยไม่มีการควบคุม และให้คำชมแก่เด็กเมื่อเด็กสามารถรักษาเวลาการเล่น ควบคุมตัวเองไม่ให้เล่นเลยเวลาที่กำหนดได้ - เมื่อมีการละเมิด ให้กำหนดมาตรการควบคุมเพิ่มเติม เช่น ริบเกม หรือตัดสิทธิ์การเล่นเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่ใจอ่อน
- การป้องกันที่ควรทำล่วงหน้าคือ ฝึกเด็กให้มีการควบคุมตนเอง ไม่ตามใจเด็ก ควรฝึกตั้งแต่อายุ 2 ปีขึ้นไป
- ส่งเสริมกิจกรรมอื่นๆ ที่สนุกสนานกว่าการเล่นเกม หรือสร้างกิจกรรมให้ในครอบครัวได้ทำร่วมกัน
แนวทางการแก้ไขเมื่อเด็กติดเกมไปแล้ว
หากสังเกตพบว่าเด็กติดเกมไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลควรค่อยๆ ปรับพฤติกรรมเด็ก ดังนี้
- หากในบ้านยังไม่มีกฏหรือกติกาที่ชัดเจน ให้เริ่มพูดคุยและวางกติกาเหมือนในหัวข้อการป้องกันไม่ให้ลูกกลายเป็นเด็กติดเกม
- ให้เวลาแก่เด็กมากขึ้น พยายามหากิจกรรมที่เด็กชอบหรือสนุกมาให้ทำ เช่น ออกกำลังกาย เล่นดนตรี
- หลีกเลี่ยงการตำหนิ รุนแรง หรือใช้อารมณ์ เนื่องจากสัมพันธภาพอันดีของคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลกับเด็กมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา และผู้ดูแลควรใช้กฎกติกาเดียวกัน ร่วมมือกันแก้ปัญหา
- อาจสร้างเครือข่ายช่วยเหลือในผู้ปกครองที่มีเด็กติดเกมเหมือนกันหลายๆ ครอบครัว ผลัดกันนำเด็กทำกิจกรรมหลังเลิกเรียนหรือวันหยุด จัดตั้งเป็นกลุ่มย่อยหรือชมรม
- ในกรณีที่เด็กติดเกมมาก และต่อต้านรุนแรง ระยะแรกพ่อแม่อาจต้องทำความรู้จักและมีส่วนร่วมกับเกมที่เด็กชอบเล่นเพื่อสร้างสัมพันธภาพกับเด็ก และดึงเอาส่วนดีของเกมมาใช้ ต่อมาจึงค่อยๆ ดึงเด็กมาสนใจในกิจกรรมอื่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
หากวิธีข้างต้นไม่ได้ผล พ่อแม่ควรพาเด็กปรึกษาพบจิตแพทย์เด็ก เพื่อประเมินสภาวะสุขภาพจิต และรับการวินิจฉัย หากพบว่ามีโรคทางจิตเวชร่วมด้วย จะได้บำบัดรักษาต่อไป
ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแล สามารถตรวจสอบว่าเด็กๆ เข้าข่ายการติดเกมหรือไม่ โดยทำแบบทดสอบออนไลน์นี้ ซึ่งมีทั้งฉบับผู้ปกครองและฉบับของตัวเด็กเอง นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าร่วมเครือข่ายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือแก้ไขร่วมกัน