รู้หรือไม่รับประทานผักผลไม้ช่วยต้านอนุมูลอิสระได้!
อ่านข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับผักและผลไม้ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งพืชตระกูลแอลเลียม (Allium)บิลเบอร์รี่ (Bilberry) ผักตระกูลกะหล่ำ และใบแปะก๊วย พร้อมด้วยคำแนะนำสำหรับการรับประทานเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จะช่วยให้คุณเข้าใจและบริโภคได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง สามารถอ่านต่อได้ที่นี่
พืชตระกูลแอลเลียม (Allium)
มีพืชกว่า 500 ชนิดด้วยกันที่อยู่ในตระกูล แอลเลียม แต่ตัวที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระโดดเด่นระดับซูเปอร์สตาร์คือ กระเทียม หอมใหญ่ หอมเล็ก กระเทียมต้น ผักเหล่านี้มีสารฟลาโวนอยด์ วิตามินซี ซีลีเนียม และซัลเฟอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านมะเร็งที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยเซลล์กำจัดสารก่อมะเร็ง ทั้งยังพบว่าผักในกลุ่มนี้ช่วยป้องกันหัวใจวายเฉียบพลันและเส้นเลือดในสมองตีบ โดยการลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความดันโลหิต และป้องกันการเกิดลิ่มเลือด นอกจากนั้นแล้วยังช่วยตับทำงาน โดยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ขับสารพิษออกจากร่างกาย และอาจมีประโยชน์ในการป้องกันโรคภูมิแพ้และหอบหืดอีกด้วย
คำแนะนำสำหรับการรับประทานเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร:
คุณไม่จำเป็นต้องรับประทานหัวหอมสดหรือกระเทียมสดเพื่อที่จะได้ประโยชน์จากผักในกลุ่มนี้ เพราะแม้จะผ่านกระบวนการปรุงสุกแล้ว พวกมันก็ยังคงคุณสมบัติการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระไว้อยู่ แต่หากคุณไม่อยากเสี่ยงต่ออาการเรอเปรี้ยวหรือการมีกลิ่นปาก ก็อาจหาซื้อกระเทียมอัดเม็ดแบบไร้กลิ่นมารับประทานได้ ก้านพาร์สลีย์ เป็นยาระงับกลิ่นปากตามธรรมชาติได้ หรือคุณอาจหาซื้อเป็นน้ำมันสกัดจากพาร์สลีย์แบบแคปซูล ซึ่งง่ายต่อการพกพาก็ใช้ได้เช่นกัน
บิลเบอร์รี่ (Bilberry)
สมุนไพรชนิดนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า บลูเบอร์รี่ยุโรป เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชันยอด มีสารแอนโทไซยาโนไซด์ ซึ่งช่วยให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรง ป้องกันต้อกระจก ตาบอดกลางคืน และโรคทางตาอื่นๆ และช่วยให้โลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ มันยังอาจมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ทำหน้าที่ต่อต้านการอักเสบและต้านการเกิดมะเร็งอีกด้วย
คำแนะนำสำหรับการรับประทานเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร:
ในการรับประทานเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บิลเบอร์รี่มีทั้งในรูปแคปซูลและแบบน้ำ รับประทานแคปซูลขนาด 500 มก. ได้ถึงวันละ 3 ครั้ง หรือผสมแบบน้ำ 15-40 หยดในน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ ดื่มวันละ 3 เวลา บิลเบอร์รี่จะทำงานได้ดีที่สุดหากรับประทานร่วมกับวิตามินซี (รับประทานวิตามินซีได้ถึง 500 มก.ต่อวัน)
ข้อควรระวัง: อย่ารับประทานเกินขนาดที่แนะนำ! ถึงแม้ว่าบิลเบอร์รี่แบบสกัดที่วางขายกันอยู่นั้นจะปลอดภัย แต่ใบบิลเบอร์รี่อาจเป็นพิษได้หากรับประทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
ผักตระกูลกะหล่ำ
ผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกลุ่มนี้ (บรอกโคลี กะหล่ำดาว กะหล่ำปลี ผักเคล ฯลฯ) มีวิตามินซีและฟลาโวนอยด์ชนิดอื่นๆ นั่นคือสารพฤกษเคมีที่เรียกว่า อินโดล (Indoles) และซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) อินโดลช่วยยับยั้งการทำงานของเอสโทรเจน หากเอสโทรเจนทำงานมากไปอาจทำให้เกิดเนื้องอก โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมได้ ส่วนซัลโฟราเฟนนั้นช่วยกระตุ้นเซลล์ในการสร้างเอนไซม์ที่ใช้ต่อสู้กับมะเร็ง การรวมกันของสารต้านอนุมูลอิสระที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ ทำให้ผักตระกูลกะหล่ำช่วยปกป้องมะเร็งได้หลายประเภท
คำแนะนำสำหรับการรับประทานเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร:
ถึงแม้ว่าผักตระกูลกะหล่ำ เช่น บรอกโคลี ผักเคล กะหล่ำดอก กะหล่ำดาว บ็อกชอย จะมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย แต่ผักเหล่านี้ก็ไม่ใช่อาหารจานโปรดของใครหลายคน โชคยังดีที่สารอาหารที่มีประโยชน์จากผักเหล่านี้ ได้มีการสกัดมาอัดเม็ดในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้ว การรับประทานแบบเม็ดนั้นไม่ได้ให้เส้นใยอาหารและสารอาหารอื่นเท่ากับการรับประทานผักสด แต่ก็ยังดีกว่าการปล่อยให้ร่างกายเราไม่ได้รับประโยชน์จากสารอาหารที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้เลย ตัวผมเองพบว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้รวมอัดเม็ดที่มีสารสกัดจากบรอกโคลีระหว่างมื้ออาหาร เป็นยาบำรุงกำลังชั้นเลิศ และยังเป็นวิธีที่ทำให้ผมได้รับสารอาหารต่างๆ อย่างครบถ้วน
ใบแปะก๊วย
- สารสกัดจากใบแปะก๊วยเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเลิศที่รู้จักกันดีว่า ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดส่งผลให้มีก๊าซออกซิเจนลำเลียงไปเลี้ยงหัวใจ สมอง และอวัยวะอื่นทั่วร่างกาย ช่วยในเรื่องของการคิดและสมาธิ ช่วยลดอาการตะคริวหรืออาการเจ็บกล้ามเนื้ออื่นๆ และช่วยบรรเทาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อันที่จริงแล้ว ผู้ชายบางคนบอกกับผมว่า สารสกัดจากใบแปะก๊วยนั้นเปรียบได้กับไวอะกร้าจากธรรมชาติ มันยังช่วยลดอาการวิงเวียนศีรษะ เสียงดังในหู และช่วยให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์พัฒนาการรับรู้และการเข้าสังคมได้ดีขึ้น ด้วยความสามารถในการปกป้องเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระ จึงเป็นไปได้ว่ามันช่วยชะลอกระบวนการชราและป้องกันโรคมะเร็งได้
- การศึกษาใหม่ๆ พบว่า สารสกัดจากใบแปะก๊วยช่วยป้องกันและรักษาโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม และยังเป็นยาต้านโรคซึมเศร้าที่ได้ผลในคนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทั่วไป
คำแนะนำสำหรับการรับประทานเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร:
สารสกัดจากใบแปะก๊วยมีจำหน่ายในขนาด 40 และ 60 มก. คุณสามารถรับประทานเม็ดขนาด 60 มก.ได้ถึง 3 เม็ดต่อวัน
ข้อควรระวัง: หากรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ร่วมกับยาแอสไพริน อาจทำให้มีเลือดออกที่ตาขาวได้
หากคุณเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์และอยากอ่านเกี่ยวกับหัวข้อนี้เพิ่มเติม สามารถสนับสนุน ดร.เอิร์ล มินเดลล์ (ผู้แต่ง) พญ. ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (แปล) ได้โดยการซื้อหนังสือวิตามินไบเบิล