ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า หู (Ear) เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าในการได้ยิน แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากการได้ยินแล้ว หูยังช่วยให้เราสามารถทรงตัวและเคลื่อนไหวได้อย่างปกติอีกด้วย ซึ่งหากเกิดความผิดปกติภายในหูก็อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือบ้านหมุนได้
มาดูกันว่าโครงสร้างของ “หู” ประกอบด้วยอะไรบ้าง และแต่ละส่วนทำหน้าที่แตกต่างกันอย่างไร
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
หูสำคัญอย่างไร
หู เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ในการได้ยิน และการทรงตัว ทำงานด้วยพลังงานกลและพลังงานไฟฟ้า (Mechanic and Electrical Impulse) ซึ่งจะส่งกระแสประสาทไปสู่สมองโดยตรง ทำให้การได้ยินและการทรงตัวเป็นไปอย่างอัตโนมัติ
เมื่อใดก็ตามที่หูข้างใดข้างหนึ่งผิดปกติ ก็จะส่งผลต่อการได้ยิน เช่น มีอาการหูอื้อ หูหนวก หรือไม่สามารถทรงตัวได้ เมื่อเคลื่อนไหวก็จะเกิดอาการโคลงเคลง บ้านหมุน จนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หูจึงมีความสำคัญมากกับมนุษย์นั่นเอง
โครงสร้างของหู
หูมี 2 ข้าง โดยแต่ละข้างจะมีรูปร่างที่เหมือนกัน แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่
- หูชั้นนอก ประกอบด้วย ใบหู รูหู และเยื่อแก้วหู
- หูชั้นกลาง ประกอบด้วย ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) และกระดูกสำคัญ 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกค้อน (Malleus) กระดูกทั่ง (Incus) และกระดูกโกลน (Stapes)
- หูชั้นใน ประกอบด้วย หน้าต่างรูปไข่ (Oval window) หน้าต่างรูปกลม (Round window) คอเคลีย (Cochlea) แลบบิรินท์ (Vestibular labyrinth) หินปูน (Otolith) และอวัยวะคอร์ติ (Organ of corti) ที่ประกอบด้วย เซลล์ขน (Hair Cells) และเยื่อบุเทคโทเรียล (Tectorial membrane)
หน้าที่ของหูแต่ละส่วน
ใบหู
- ทำหน้าที่รับ และรวบรวมคลื่นเสียงจากที่ต่างๆ ให้ผ่านเข้าไปในช่องหู
- โครงสร้างของใบหูมีลักษณะเป็นกระดูกอ่อน และมีรอยหยักตามใบหูซึ่งมีผลต่อคลื่นเสียงในย่านความถี่ต่างๆ
- การมีหู 2 ข้างจะช่วยให้รู้ทิศทางและที่มาของเสียงได้ชัดเจนขึ้น
รูหู
- ภายในหูจะมีต่อมไขมันเคลือบผนังรูหูไว้ไม่ให้แห้ง ทำหน้าที่ช่วยป้องกันอันตรายจากแมลง ฝุ่นละออง การติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา โดยเมื่อไขมันสะสมมากเข้าก็จะกลายเป็นขี้หู และหลุดออกมาเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องแคะหูบ่อยจนเกินไป
- การแคะหูเป็นประจำจะกระตุ้นให้ต่อมไขมันสร้างขี้หูเพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้ขี้หูถูกดันเข้าไปลึกจนเกิดการอุดตัน ส่งผลให้เกิดอาการหูอื้อตามมา ผู้ที่มีอาการได้ยินเสียงไม่ชัดเจน ปวดหู วิงเวียนศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะนั่นเป็นหนึ่งในสัญญาณหูอื้อที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
- รูหูมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร เท่ากับหนึ่งในสี่ของความยาวคลื่นเสียงในย่านความถี่ประมาณ 3,000 เฮิรตซ์ ซึ่งเป็นระดับของเสียงพูดปกติ จึงทำให้เราสามารถรับรู้เสียงจากการพูดคุยได้ดีนั่นเอง
- ความดังของคลื่นเสียงในช่วงความถี่ 3,000 เฮิรตซ์ จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10 เดซิเบลหลังผ่านรูหูไปแล้ว
เยื่อแก้วหู
- เป็นรอยต่อระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นกลาง
- เยื่อแก้วหูมีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ รูปร่างเกือบกลม เอียงทำมุมกับหูชั้นนอก 55 องศา
- เยื่อแก้วหูจะสั่นเมื่อได้รับคลื่นเสียง และจะส่งแรงสั่นสะเทือนเข้าไปในหูชั้นกลาง โดยการขยับหรือกระเพื่อมตามความถี่ที่ได้รับ
ท่อยูสเตเชียน
- เป็นท่อที่เชื่อมระหว่างโพรงหลังจมูก และหูชั้นกลาง
- ทำหน้าที่ปรับความดันอากาศภายนอกและภายในให้สมดุลกัน
- ปกติท่อนี้จะเปิดเวลาเคี้ยว หรือกลืนอาหาร เพื่อไม่ให้มีอาการหูอื้อ
- หากท่อยูสเตเชียนมีการอุดตันจะทำให้หูอื้อ ปวดหูได้ รวมถึงเวลาที่เราติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หากไม่รีบรักษา เชื้อก็อาจแพร่กระจายมายังหูชั้นกลางผ่านท่อยูสเตเชียนได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหูน้ำหนวกได้
กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน
- อยู่ถัดจากเยื่อแก้วหู ไล่เรียงจากตำแหน่งที่อยู่นอกสุดไปยังในสุดตามลำดับ
- กระดูกทั้งสามชิ้นจะยึดติดกันเป็นระบบคานดีด-คานงัด ทำหน้าที่ขยายการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงให้มากขึ้น และส่งต่อไปยังหูชั้นใน
เส้นประสาทในหูชั้นกลาง
- แขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 (Chorda Tympani Nerve)
- แขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 (Glossopharyngeal Nerve)
- แขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (Trigeminal Nerve)
หน้าต่างรูปไข่ และหน้าต่างรูปกลม
- กั้นระหว่างหูชั้นในกับหูชั้นกลาง
- ช่องหน้าต่างทั้งสองจะมีเยื่อบางๆ กั้นอยู่ ช่วยให้หูชั้นกลางทำหน้าที่สำคัญทั้ง 2 อย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ การขยายเสียงและการป้องกันเสียงดัง
คอเคลีย
- อยู่ในหูชั้นใน มีลักษณะเป็นท่อกลมม้วนขดเป็นรูปก้นหอยราวสองรอบครึ่ง
- ภายในคอเคลียมีท่อขนาดใหญ่ 2 ท่อ ได้แก่ สกาลาเวสติบูไล(Scala Vestibuli) และสกาลาทิมพาไน (Scala Tympani) ขดคู่กันไปตั้งแต่ฐานแล้วมาบรรจบกันที่ยอดของก้นหอย หรือที่เรียกว่าเฮลิโคทรีมา (Helicotrema)
- ภายในท่อทั้งสองนี้จะมีของเหลวคล้ายน้ำโลหิตหล่อเลี้ยงอยู่เรียกว่า เพอริลิมพ์ (Perilymph) เมื่อมีคลื่นเสียงมากระทบจะเกิดการสั่นสะเทือนและส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาทต่างๆ
เซลล์ขน
- เซลล์ขนมีอยู่ตลอดแนวตั้งแต่ต้นท่อคอเคลียไปจนถึงปลายท่อ โดยเซลล์ขนที่ฐานคอเคลียรับเสียงสูง และไปถึงปลายท่อรับเสียงทุ้มตามลำดับไป
- เป็นตัวรับการกระตุ้นของเสียง ทำหน้าที่เปลี่ยนการสั่นสะเทือนของของเหลว หรือเพอริลิมพ์ ภายในท่อให้เป็นคลื่นไฟฟ้าไปสูสมอง
- มี 2 แถวคือ แถวนอก (Outer hair cells) มี 3 แถว จำนวนราว 12,000 – 20,000 เซลล์ และแถวใน (Inner hair cells) มี 1 แถว มีจำนวนราว 3,600 เซลล์
แลบบิรินท์
- อวัยวะรูปครึ่งวงกลมต่อกันในลักษณะตั้งฉากทั้งแนวตั้งและแนวนอน ภายในมีของเหลวหล่อเลี้ยงชนิดเดียวกับในท่อคอเคลีย โดยปลายด้านหนึ่งของแลบบิรินท์จะมีอวัยวะรับการเคลื่อนไหวของน้ำในหู ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถนอน นั่ง ยืน วิ่ง หรือเล่นผาดโผน ก็จะทำให้รู้ว่าร่างกายกำลังอยู่ในท่าทางใด ส่งผลให้ทรงตัวได้นั่นเอง
หินปูน
- เกาะอยู่ตรงกลางระหว่างคอเคลียกับประสาทการทรงตัว
- ทำหน้าที่รับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะตามแรงโน้มถ่วงของโลก เช่น เวลาตะแคง ก้ม หรือเงยศีรษะ ทั้งนี้การกระตุ้นอวัยวะการทรงตัวจะต้องสมดุลกันระหว่างหูทั้งสองข้าง เพื่อให้เราสามารถทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ล้ม
- ถ้าอวัยวะการทรงตัวสองข้างไม่สมดุลกัน มีความขัดแย้งของข้อมูล สมองจะประเมินไม่ถูก ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ มึนงง หรือบางครั้งเรียกว่ามีอาการบ้านหมุนเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา